กฎหมาย DPS คืออะไร DPS ย่อมาจาก Digital Platform Services หรือชื่อทางการคือ พระราชกฤษฎีกา การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ซึ่งบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา กฎหมายนี้เพื่อคุ้มครองผู้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล ลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกงออนไลน์ ผู้ใช้อย่างเราก็จะได้รับความเป็นธรรมในการใช้งานแพลตฟอร์ม หากเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีที่รับแจ้งปัญหาอย่างถูกต้อง ติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ด้านแพลตฟอร์มเอง ก็จะได้รับความไว้วางใจจากเหล่าพ่อค้าแม่ค้า ผู้ใช้บริการมากขึ้น เพราะมีการดูแล ตลอดจนการให้บริการที่เป็นธรรมและโปร่งใส
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดหน้าที่ให้ ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จะต้องเข้ามาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ ให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิสก์ หรือ ETDA ทราบ
ลักษณะและประเภทของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปที่ต้องแจ้ง ภายใน 18 พ.ย. 66 นี้
กฎหมายฉบับนี้ ระบุให้เจ้าของแพลตฟอร์ม จะครอบคลุมหลายธุรกิจไม่ใช่แค่อีคอมเมิร์ซที่ให้ผู้ซื้อกับผู้ขายอย่างเดียวเหมือนที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นบริการสื่อกลางที่ให้ผู้ใช้บริการ 2 ฝ่ายมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งอาจเป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภคกับผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการกับผู้บริโภคก็ได้ โดยมีตัวอย่างประเภทของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้ง ดังนี้
– แพลตฟอร์มที่เป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace Platform)
– แพลตฟอร์มแชร์หรือที่แบ่งปันทรัพยากรหรือบริการ เช่น บริการแชร์รถยนต์ บริการแชร์ที่พัก บริการจัดหาแม่บ้านหรือช่าง
– แพลตฟอร์มใช้ในการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคน
– แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถสร้างและแบ่งปันเนื้อหากับคนอื่น ๆ
– แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ ครอบคลุมทั้งภาพ เสียงและวิดีโอ
– แพลตฟอร์มที่รวบรวมและนําเสนอข่าวสารจากแหล่งข่าวต่างๆไว้ที่เดียว
– แพลตฟอร์มค้นหาข้อมูล (Searching Tools)
– แพลตฟอร์มแผนที่ออนไลน์
– แพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์
– แพลตฟอร์มผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistants) ให้ข้อมูล ตอบคําถาม หรือควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ
– แพลตฟอร์มบริการคลาวด์ (Cloud Service Platform)
– ระบบปฏิบัติการ (Operating System)
– เว็บเบราว์เซอร์ (web browsers)
– ผู้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider)
– ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting)
โดยผู้มีหน้าที่แจ้งข้อมูล DPS ต้องแจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้ ETDA ทราบ อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน
1. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
2. บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคลที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี
3. มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยเกิน 5,000 คนต่อเดือน โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด
หากหน่วยงานหรือธุรกิจไหนไม่มั่นใจว่าธุรกิจของเราเข้าข่ายที่ต้องแจ้งข้อมูล DPS มั้ย ลองคลิกที่เว็บไซต์นี้เพื่อประเมินธุรกิจเอง https://eservice.etda.or.th/dps-assessment ซึ่งจะมาในรูปแบบตอบคำถามง่ายๆ ประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วระบบจะแจ้งให้ทราบว่าธุรกิจบริการของท่านเข้าข่ายที่ต้องแจ้งข้อมูล DPS หรือไม่
การแจ้งข้อมูล ตามกฎหมาย DPS ต้องมีเอกสารอะไรบ้าง ?
1. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เลขบัตรประชาชนพร้อมที่อยู่ ช่องทางการติดต่อ หากเป็นนิตินิติบุคคลจะใช้ข้อมูลเลขทะเบียนนิติบุคคล และรอบระยะเวลาบัญชีเพิ่มด้วย
2. ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ประกอบด้วยชื่อและประเภทของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในไทย ระบุช่องทางให้บริการ เช่น ยูอาร์แอล (URL) หรือแอปพลิเคชัน พร้อมระบุรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการ
3. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ประเภทของผู้ใช้บริการ เช่น ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ผู้ทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล จำนวนของผู้ใช้บริการรวมและแยกตามผู้ใช้บริการแต่ละประเภท รวมถึง ประเภทของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ขนส่งสินค้า ผู้ให้บริการคลังสินค้า พร้อมระบุจำนวนรวมของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องและจำนวนของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องแต่ละประเภท
4. ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนที่มีจำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรก รวมถึงการจัดการเรื่องร้องเรียนและการระงับข้อพิพาท
5. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักร ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประกอบธุรกิจ อยู่นอกราชอาณาจักร
6. คำยินยอมให้สำนักงานเข้าถึงข้อมูลที่ได้
หากต้องการคำปรึกษามีข้อสงสัยก็สามารถลงทะเบียน เพื่อเตรียมความพร้อมขอรับคำปรึกษา “การแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” แนวทางการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการขอรับคำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ผ่านทางออนไลน์ได้่ที่ลิงก์ด้านล่าง
เราสามารถแจ้งการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางไหน
ผู้ประกอบการที่เข้าข่ายสามารถแจ้งได้ 2 ช่องทางหลัก คือ
1. ระบบจดแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Website) ของ สพธอ. http://eservice.etda.or.th/dps/
2. ศูนย์กํากับดูแลและตรวจสอบธุรกิจ สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ชั้น 21 อาคารเดอะ ไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ พระรามเก้า (อาคารบี) โทรศัพท์ 02 123 1234 เวลา 30–17.30 น.
ขั้นตอนการลงทะเบียนกรณีที่ลงทะเบียนด้วยตัวเองที่ ETDA
สำหรับผู้ประกอบการหรือธุรกิจไหนที่ต้องการลงทะเบียนด้วยตัวเอง จะต้องไปแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ศูนย์กํากับดูแลและตรวจสอบธุรกิจ สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)
1. ติดต่อเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นจะได้รับแบบฟอร์มการแจ้งก่อนการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและแบบแสดงรายการข้อมูลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
กรอกข้อมูลประกอบด้วย
2. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
– ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
– ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ
– ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก
– ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นแพลตฟอร์มต่างชาติ
3. เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว จะออกใบรับแจ้งให้โดยลงวันที่ที่รับแจ้ง
4. เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบรับแจ้งแล้ว สามารถเริ่มประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ใบรับแจ้ง
ขั้นตอนการลงทะเบียนกรณีที่ลงทะเบียนผ่านเว็บ
1. สร้างบัญชีผู้ใช้งานใหม่ด้วยการลงทะเบียนและขอสิทธิการใช้งานระบบ
2. กรอกข้อมูล ประกอบด้วย
– ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
– ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
– ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ
– ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก
– ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นแพลตฟอร์มต่างชาติ
3. หากส่งข้อมูลนอกเวลาทำการ เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องในวันทำการถัดไป เมื่อเจ้าหน้าตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว จะออกใบรับแจ้งให้โดยลงวันที่ที่รับแจ้ง
4. เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบรับแจ้งแล้ว สามารถเริ่มประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้นับตั้งแต่วันแรกที่ได้ใบรับแจ้ง
บริการที่เข้าข่ายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถเข้าไปแจ้งการประกอบธุรกิจกับ ETDA ได้เลยโดยผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการมาก่อนวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นั้น หากอยู่ในกลุ่มของแพลตฟอร์มทั่วไป จะต้องแจ้งให้ ETDA ทราบภายใน วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 หากไม่แจ้งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า แพลตฟอร์มนั้นมาแจ้งข้อมูลกับ ETDA แล้วหรือยัง?
หลังจากที่ทางผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้แจ้งให้ทาง ETDA ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง ETDA จะมีเครื่องหมายรับรองให้ทางผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเป็นการยืนยันว่าได้แจ้งการประกอบธุรกิจกับ ETDA แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการได้เลย
ในส่วนของคนทั่วไปก็จะสามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/index.aspx ทั้งนี้ เผื่อบางคนอาจจะไม่มั่นใจว่าเครื่องหมายรับรองนั้นของจริงหรือไม่ การตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ ETDA ก็จะอีกทางหนึ่งที่น่าเชื่อถือในการตรวจสอบได้
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : iT24Hrs / วันที่เผยแพร่ 1 พ.ย.66
Link : https://www.it24hrs.com/2023/digital-platform-services-how-to-register-dps/