ด้วยความนิยมอย่างมากของ ChatGPT ที่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี ทำให้มิจฉาชีพพยายามใช้ประโยชน์ฟิชชิ่งเพื่อหลอกลวง และขโมยข้อมูลจากผู้ใช้งาน ทั้งการทำเว็บไซต์เลียนแบบ สร้าง URL ให้มีความคล้ายคลึง หรือแม้กระทั่งการซื้อโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อล่อให้คนเข้ามาใช้งาน
ข้อมูลจาก Checkpoint ระบุว่า มีโดเมนมากกว่า 13,000 โดเมนที่เกี่ยวข้องกับ ChatGPT และ OpenAI ได้รับการจดทะเบียนภายในสี่เดือนนับจากการเปิดตัว ChatGPT ในเดือนพฤศจิกายน 2565 Techhub เลยจะมาแนะนำว่าวิธีดูว่า ลิงก์ไหน เป็นลิงก์ปลอม หรือวิธีสังเกต ChatGPT ปลอม ๆ
1.สังเกตชื่อโดเมน
ชื่อเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ จะชื่อว่า “Openai.com” และ chat.openai.com จะเป็นโดเมนย่อย เพื่อเข้าถึง ChatGPT หากเป็นโดเมนอื่นที่มีชื่อแปลก ๆ ให้สังหรณ์ไว้ก่อนเลยว่า มันเป็นของปลอม เช่น
chat-gpt-pc.online
chat-gpt-online-pc.com
chatgpt4beta.com
Chat-gpt-ai-pc.info
chat-gpt-for-windows.com
2.ได้รับการรับรองว่า เว็บไซต์ HTTPS
เว็บไซต์ที่ได้รับการรอง (ในระดับหนึ่ง) จะมีโดเมนเป็น https แทนที่จะเป็น http ปกติ พร้อมกับมีแม่กุญแจเป็นสัญลักษณ์ว่า เว็บ ๆ นั้นได้รับการรับรองว่ามีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม แฮ็กเกอร์บางกลุุ่มก็พยายามทำให้เว็บปลอมของตัวเองได้รับการรับรองเช่นกัน ฉะนั้น วิธีนี้จึงเชื่อได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น
3.ชอบยิงโฆษณาผ่าน Facebook
หากเจอเว็บปลอมเหล่านี้ ยิงแอดผ่าน Facebook หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้สังเกตว่ามีคนรีวิวหรือกดแสดงความคิดเห็นยังไงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะปิดเมนท์ เพื่อไม่ให้คนเข้าไปด่านั่นแหละนะ
4.ตรวจสอบอายุของโดเมนในวันที่สร้างขึ้น
สามารถตรวจสอบได้ โดยก๊อปลิงก์ของเว็บนั้น ๆ ไปวางที่เว็บไซต์ https://www.whois.com/whois/ แล้วดูว่าวันที่ Created date หาก เว็บเพิ่งสร้างได้ไม่นาน ให้สังหรณ์ใจ หรืออยู่ห่าง ๆ เว็บนั้นไว้เลย
5.ใช้ได้เลย ไม่ต้องติดตั้ง
โดยปกติแล้ว ChatGPT จะไม่ต้องติดตั้งแอปเพื่อใช้งาน โดยสามารถใช้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ได้เลย ฉะนั้น หากเว็บที่เราเข้า มีปุ่มให้ดาวน์โหลดแอป ให้สังหรณ์ใจไว้ก่อนเลยว่า มันไม่ใช่นะเออ
หากเผลอให้ข้อมูลกับเว็บปลอมไปแล้ว ก็ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านบัญชีที่ล็อกอินทันที เช่น หากใช้ Google Login ก็เปลี่ยนรหัส Google ทันที และหากใส่เลขบัตรเครดิตและจ่ายเงินไปแล้ว ให้โทรไปปรึกษากับธนาคารเพื่อขอคืนเงิน พร้อมกับจำกัดวงเงินที่จะใช้จ่ายในบัตรไว้ก่อนครับ
แหล่งข้อมูล https://blog.checkpoint.com/research/fake-websites-impersonating-association-to-chatgpt-poses-high-risk-warns-check-point-research/
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : TechHub / วันที่เผยแพร่ 17 พ.ย.66
Link : https://www.techhub.in.th/fake-chatgpt/