หนุ่มญี่ปุ่นใช้โปรแกรมเอไอทำคลิปปลอมของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพูดหยาบคายเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ก่อนจะลบทิ้งในที่สุด โดยเขาอ้างว่า “แค่ทำเล่นขำ ๆ ”
สถานีโทรทัศน์นิปปอน เทเลวิชัน เน็ตเวิร์ก (NTV) แถลงว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอปลอมของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กล่าววาจาแสลงหูในรายการข่าวของทางสถานี บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยในคลิปมีการใช้โลโก้รายการข่าวของทางสถานี
คลิปปลอมดังกล่าวกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็วบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) โดยเนื้อหาของคลิปใช้ภาพใบหน้าของนายกฯ คิชิดะ วางทับลงบนร่างของชายที่สวมเสื้อสูท โดยมีโลโก้ “นิปปอน ทีวี นิวส์ 24” ติดอยู่หน้าจอเพื่อให้ดูเหมือนเป็นรายการถ่ายทอดสด
เบื้องต้นสันนิษฐานว่า คลิปดังกล่าวใช้โปรแกรม “เอไอ” เพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวและเสียงพูดปลอมขึ้นมา ทั้งนี้ ทางบริษัทจะติดตามเอาเรื่องจนถึงที่สุด
ผู้ที่ทำคลิปปลอมนี้ขึ้นมาเป็นชายหนุ่มวัย 25 ปี จากโอซากา เขาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอาซาฮี ชิมบุน โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อว่า เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะดูหมิ่นหรือโจมตีนายกฯ คิชิดะ เป็นการส่วนตัว แต่เลือกใช้ใบหน้าของอีกฝ่ายเพียงแค่เพราะ คิชิดะ เป็นคนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักดี
เจ้าของคลิปรายนี้บอกว่า เขาทำคลิปดังกล่าวขึ้นมาโดยใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง โดยใช้โปรแกรมออนไลน์ ในส่วนของเสียงพูดของ คิชิดะ นั้น เขาสั่งให้ “เอไอ” ศึกษาจากคลิปที่มีเสียง คิชิดะ พูดหลาย ๆ คลิป และสร้างไฟล์เสียงขึ้น
สำหรับภาพของ คิชิดะ ที่ปรากฏในคลิป เขานำมาจากรายการข่าวของ NTV ซึ่งเป็นคลิปที่ปรากฏอยู่ด้านบนสุดในรายการค้นหาโดยใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรีคิชิดะ” และ “ข่าว”
ชายหนุ่มกล่าวว่า เขาคิดว่าเป็นคลิปที่ทำขึ้นเล่น ๆ สนุก ๆ เขายังทำให้ลักษณะการเปิดปากพูดของ คิชิดะ ในคลิปดูผิดธรรมชาติ นอกจากนี้ เขายังกล่าวขอโทษสถานีโทรทัศน์ที่นำโลโก้มาใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต และในตอนนี้เขาก็ลบคลิปดังกล่าวทิ้งไปแล้ว
หนุ่มเจ้าของคลิปยังชี้ว่า เขาเคยทำคลิปวิดีโอที่เป็นภาพของนักการเมือง คนดังและตัวละครในอนิเมะ แล้วเอามาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม คลิปไวรัลดังกล่าวได้สร้างกระแสความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเอไอในทางที่ผิด โดยเฉพาะการใช้เป็นเครื่องมือสร้างข่าวลวงและเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
กลุ่มประเทศ G7 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิกอยู่กำลังสร้างกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศในการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เรียกว่า กระบวนการฮิโรชิมา (Hiroshima AI Process) ซึ่งมีกำหนดว่า จะต้องเสร็จสิ้นภายในปีนี้
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 7 พ.ย.66
Link : https://www.dailynews.co.th/news/2872361/