หลังจาก กฎหมาย Digital Platform Service หรือ DPS ประกาศใช้ และกำหนดให้ “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่ดำเนินธุรกิจในไทย ต้องจดแจ้งข้อมูลประกอบธุรกิจ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ภายในวันที่ 18 พ.ย.นี้ “กรุงเทพธุรกิจ” มัดรวม 15 ประเภทธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เข้าข่าย
หลังจาก กฎหมาย Digital Platform Service (DPS) หรือ กฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้ประกาศใช้ และกำหนดให้ “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่ดำเนินธุรกิจในไทย ต้องมาจดแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว
“กรุงเทพธุรกิจ” มัดรวม 15 ประเภทธุรกิจ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เข้าข่ายต้องมาจดแจ้งกับทาง เอ็ตด้า ภายในวันที่ 18 พ.ย.
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้เอ็ตด้าทราบ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาสอบถามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทั้งคุณสมบัติของแพลตฟอร์มที่ต้องเข้าข่ายปฏิบัติตามกฎหมาย รายละเอียดเอกสารข้อมูลที่ต้องแจ้ง ช่องทางและขั้นตอนการแจ้งข้อมูล เป็นต้น
สำหรับ กฎหมายกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เกิดขึ้นเพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม มีการดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม รัฐมองว่า ก.ม.ฉบับนี้ จะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
15 ประเภทธุรกิจ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่าย
1. บริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace)
2. บริการ Sharing Economy Platform เช่น บริการรถยนต์/รถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสาธารณะ (Ride Sharing) บริการเช่ายานพาหนะ (Car Sharing) บริการแบ่งปันความรู้/การศึกษา (Knowledge Sharing) บริการแบ่งปันแรงงาน (Labor Sharing) บริการแบ่งปันพื้นที่ (Space Sharing) สำหรับเช่าพื้นที่ เช่น ที่พักอาศัย (ที่ไม่ใช่โรงแรม) สำนักงาน เป็นต้น
3. บริการการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) ได้แก่ บริการสื่อสารออนไลน์ทั่วไป (General) บริการสื่อสารออนไลน์ที่มีฟังก์ชันสนับสนุนการซื้อขาย (Communication Commerce หรือ C-Commerce) เช่น Chat Bot ที่มีการเสนอสินค้าหรือบริการให้ผู้บริโภค หรือฟังก์ชันอื่น ๆ สำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ
4. บริการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น บริการสื่อสังคมออนไลน์ (General) บริการสื่อสังคมออนไลน์ที่มีฟังก์ชันสนับสนุนการซื้อขาย (Social Commerce (S-Commerce))
5. บริการโฆษณาออนไลน์ (Advertising Service) ซึ่งรวมถึง Advertising Networks บริการรวบรวมพื้นที่โฆษณาออนไลน์ และให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการลงโฆษณา และ Advertising Exchanges บริการที่นำพื้นที่โฆษณาออนไลน์และผู้ที่ต้องการลงโฆษณามาเจอกันและเปิดให้มีการประมูลราคาพื้นที่ต่าง ๆ
6. บริการสื่อโสตทัศน์และเพลง (Audio-Visual and Music Sharing)
7. บริการสืบค้น (Searching Tools) เช่น บริการสืบค้นข้อความ รูปภาพ โดยมีการแสดงผลเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
8. บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator)
9. บริการแผนที่ออนไลน์ (Maps)
10. บริการเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browsers)
11. บริการผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistants) เช่น การใช้เสียงสั่ง
งานผ่านอุปกรณ์เพื่อเข้าถึงบริการหรือควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ
12. บริการระบบปฏิบัติการ (Operating System) เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในออฟฟิศ
13. บริการโฮสต์ (Hosting Service) หรือให้บริการเช่าพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเว็บไซต์ต่าง ๆ
14. บริการคลาวด์ (Cloud Service)
15. บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) ซึ่งครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศโดยให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ (User) ในไทยด้วย
สำหรับข้อมูลที่ต้องแจ้งให้กับ ETDA ตามกฎหมายจะมี 6 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
1. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
2. ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
3. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ (ถ้ามี)
4. ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน (5 ลำดับแรกที่มีการร้องเรียนมากที่สุด)
5. ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักร (กรณีผู้ประกอบธุรกิจอยู่ต่างประเทศ)
6. คำยินยอมให้สำนักงานเข้าถึงข้อมูลที่ได้แจ้ง
สำหรับบริการแพลตฟอร์มแต่ละประเภทที่ตรงกับคำนิยามของกฎหมาย รวมถึงมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทย เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทย เกิน 50 ล้านบาทต่อปี (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทย เกิน 5,000 คนต่อเดือน (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม) ก็ถือว่าเข้าข่ายธุรกิจบริการแพลตฟอร์มทั่วไป ที่ต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้ ETDA ทราบ ภายในวันที่ 18 พ.ย. 2566 นี้
อย่างไรก็ตาม สามารถเช็ครายชื่อ บริษัทที่มาจดแจ้งกับทาง ETDA ได้ที่ https://eservice.etda.or.th/dps/th/opendata/section14
จากการตรวจสอบพบ รายชื่อที่มาจดแจ้งแล้ว ประกอบไปด้วยแพลตฟอร์มไทยทั้งสิ้นอาทิ แอปพลิเคชัน โรบินฮู้ด บิทคับ คิวคิว เอ็นดีไอดี ส่วนแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มต่างชาติ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ค ช้อปปี้ ลาซาด้า ไลน์ ยังไม่มาจดแจ้งแต่อย่างใด
บทความโดย โต๊ะข่าวไอที ดิจิทัล
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 15 พ.ย.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1094922