กองทัพรัสเซียประกาศความสำเร็จ การทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล แบบยิงจากเรือดำน้ำ หลังการยุติให้สัตยาบัน สนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการห้ามทดลองนิวเคลียร์
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ว่ากระทรวงกลาโหมรัสเซียออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับความสำเร็จของการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) “บูลาวา” ที่เป็นการยิงออกจากเรือดำน้ำ “อเล็กซานเดอร์มหาราชที่ 3” โดยการทดสอบเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่แห่งหนึ่งของทะเลขาว นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และขีปนาวุธสามารถทำลายเป้าหมายจำลอง ซึ่งอยู่บริเวณคาบสมุทรคัมชัตกา ที่อยู่ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกา ว่าด้วยการเพิกถอนการให้สัตยาบัน ต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ หรือ ซีทีบีที (Comprehensive Nuclear Test Ban Treaty – CTBT) “เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ จากทัศนคติที่ไร้ความรับผิดชอบของสหรัฐ” โดยการลงนามของปูตินเป็นไปตามมติของรัฐสภา เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รัสเซียลงนามในซีทีบีที เมื่อปี 2539 และให้สัตยาบันเมื่อปี 2543 ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ยืนยันว่า แม้ยกเลิกการให้สัตยาบัน แต่การลงนามในข้อตกลงยังคงมีผล หมายความว่า รัฐบาลมอสโกยังคงเป็นหนึ่งในภาคีของซีทีบีที ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลัก คือ การห้ามมิให้มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และระเบิดนิวเคลียร์อื่น ไม่ว่าในสิ่งแวดล้อมใดก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จนก้าวล้ำขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ การเพิกถอนการให้สัตยาบัน ไม่ได้หมายความเช่นกัน ว่ารัสเซียจะกลับไปทดสอบระเบิดนิวเคลียร์อีก ทั้งนี้ รัสเซียหลังยุคสหภาพโซเวียตไม่เคยทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ส่วนการทดสอบครั้งสุดท้ายในยุคสหภาพโซเวียต เกิดขึ้นเมื่อปี 2532 ส่วนสหรัฐทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2535
ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ วิจารณ์ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัสเซียอย่างหนักว่า “ผิดพลาดใหญ่หลวง” และ “มีแต่จะยิ่งทำให้เข้าใกล้การเผชิญหน้ากันมากขึ้นเท่านั้น” พร้อมทั้งแสดงความไม่พอใจ การที่กองทัพรัสเซียทดสอบไอซีบีเอ็ม เมื่อปลายเดือน ต.ค.
อย่างไรก็ตาม สภาคองเกรสสหรัฐปฏิเสธให้สัตยาบันต่อซีทีบีที เมื่อปี 2542 แม้ประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น ลงนามในกฎหมายห้ามสหรัฐทดสอบนิวเคลียร์ เมื่อปี 2535 และยังคงมีการต่ออายุกฎหมายจนถึงปัจจุบัน
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 6 พ.ย.66
Link : https://www.dailynews.co.th/news/2870898/