ทำความรู้จัก 2 เทคโนโลยีจาก 2 บริษัทในเกาหลีใต้ ช่วยป้องกันฝูงชนเบียดเสียดที่อาจเกิดขึ้น หลังครบรอบ 1 ปี “โศกนาฏกรรมอิแทวอน”
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ปี 2022 ช่วงเทศกาลฮาโลวีน ณ ย่านอิแทวอน ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวรวมถึงชาวเกาหลีใต้ เข้าร่วมเทศกาลวันฮาโลวีนในย่านดังกล่าวในปริมาณมหาศาล จนเกิดการเบียดเสียดและความวุ่นวายขึ้น ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางการเกาหลีใต้ก็ตื่นตัวและเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่อาจซ้ำรอบขึ้นในอนาคต พร้อมกันนี้ ยังมีบริษัทที่คิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยจัดการและคอยเฝ้าระวัง
เริ่มจาก WATA บริษัทสตาร์ทอัพรับจัดการคลังสินค้า ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยตรวจจับและกำหนดขอบเขตแสง ร่วมกับการประยุกต์ใช้ LiDAR ซึ่งเป็นเซนเซอร์ที่ใช้แสงเลเซอร์สะท้อนตามระยะทางเพื่อสำรวจสิ่งต่าง ๆ ตามที่กำหนด โดย WATA พัฒนาให้เทคโนโลยีนี้ เพื่อติดตามจำนวนของผู้คนในบริเวณที่กำหนด ผ่านการสะท้อนแสงจากเลเซอร์ดังกล่าว ซึ่งเซนเซอร์ LiDAR สามารถแยกแยะผู้คน จากวัตถุอื่น ๆ ได้ โดยระบบต่าง ๆ สามารถทำงานได้แม้ในยามกลางวันหรือกลางคืน ซึ่งเซนเซอร์ 1 ตัวสามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ได้กว่า 100 เมตรรอบตัว
พร้อมกันนี้ WATA ได้ติดตั้งเซนเซอร์ดังกล่าวบนถนนเดินเท้าเส้นสำคัญในประเทศกว่า 6 แห่ง รวมถึงย่านช้อปปิ้งในกรุงโซล และเพิ่งติดตั้งในย่านตลาดกลางคืนริมแม่น้ำฮันด้วย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมของเซนเซอร์ จะถูกส่งไปยังแอปพลิเคชัน ที่ใช้เป็นตัวกลางระหว่างบริษัท WATA เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางการท้องถิ่น หากเซนเซอร์ตรวจจับจำนวนคนได้มากกว่า 6 คนต่อตารางเมตร ระบบก็จะแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชันได้ในทันที
ด้าน KOIT บริษัทสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ที่จะจดจำข้อมูลการจราจรและข้อมูลปริมาณคนต่อหน่วยพื้นที่ต่าง ๆ จากนั้นจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้ AI ผ่านการเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “เครื่องวิเคราะห์-นับจำนวนฝูงชนด้วย AI”
โดย KOIT พัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวตั้งแต่ปีที่แล้ว และสำนักงานเขตซอโช นำร่องใช้แล้วใน 2 พื้นที่ คือบริเวณห่างจากทางออก 10 ของสถานีกังนัม และบริเวณถนนที่ห่างจากสถานีชินนอนฮยอน 300 เมตร พร้อมแสดงปริมาณฝูงชนแบบเรียลไทม์ โดยมีซอฟต์แวร์ AI ช่วยวิเคราะห์จำนวนคนต่อตารางเมตรต่อวินาที ซึ่งหากตรวจจับได้ว่าปริมาณผู้คนอยู่ต่ำกว่า 2 คนต่อตารางเมตร ระบบจะขึ้นข้อความสีเขียวว่า “มีสภาพการที่ดี”
แต่หากมีปริมาณ 3 – 4 คนต่อตารางเมตร จะมีข้อความสีส้มระบุว่า “แออัดเล็กน้อย” และหาก AI ตรวจจับได้ว่า มีปริมาณ 5 คนขึ้นไปต่อตารางเมตร ระบบจะแสดงข้อความสีแดงระบุว่า “แออัดเกินไป”
ซึ่งหากปริมาณฝูงชนอยู่ในระดับแออัดเกินไป เจ้าหน้าที่จะประกาศผ่านลำโพงที่ติดอยู่กับกล้องวงจรปิดให้ประชาชนทราบ และหากสถานการณ์อยู่ในระดับร้ายแรง ระบบซอฟต์แวร์จะแจ้งไปยังศูนย์ปฏิบัติการรับมือเหตุฉุกเฉินประจำกรุงโซล ตำรวจ และหน่วยดับเพลิงโดยอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากเทคโนโลยีที่นำมาใช้แล้ว ทางรัฐบาลก็ให้ความใส่ใจเช่นเดียวกัน โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่เขต ตำรวจ และพนักงานดับเพลิงรวมกว่า 2,850 คน เตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน และเดินลาดตระเวนอย่างเข้มงวดระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน ในย่านฮงแด ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 40,000 ถึง 70,000 คน
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 1 พ.ย.66
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ไอที/209257