มาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ลอยกระทงปีนี้ จะเน้นเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้ง คลองโอ่งอ่าง คลองผดุงกรุงเกษม และที่วัดอรุณฯ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ คนเข้า – ออกในพื้นที่ ไม่ให้มีจำนวนเกิน เรื่องความปลอดภัยของท่าเรือ โป๊ะ สวนสาธารณะ ทั้ง 34 แห่งที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปลอยกระทง โดยยกบทเรียนจากเหตุการณ์อีแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ จึงต้องดูแลทางเข้า – ออก จึงได้เตรียมรูปแบบไว้ ให้มีจุดเข้า – ออกที่ชัดเจน มีการประสานงาน หากมีคนเข้ามามากก็ต้องหยุด นอกจะป้องกันเรื่องแออัดแล้ว ยังเป็นการป้องกันการเบียดกันจนตกน้ำด้วย โดยเฉพาะคลองโอ่งอ่างที่มีพื้นที่แคบกว่าที่อื่น ซึ่งต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยมาก่อนเรื่องอื่น
สำหรับเรื่องการตรวจอาวุธ การสแกนโลหะ ก็ต้องประสานกับตำรวจให้ร่วมดูแล ซึ่งหน่วยงานได้แบ่งการตรวจความพร้อมตามที่รับผิดชอบไปแล้ว เช่น เทศกิจดูแลความปลอดภัย สำนักสิ่งแวดล้อมดูแลเรื่องการจัดเก็บกระทง สำนักการจราจรและขนส่งดูแลความปลอดภัยของท่าน้ำ สำนักการแพทย์ดูแลเรื่องฉุกเฉิน สำนักการระบายน้ำ เริ่มปล่อยน้ำเข้ามายังคลองต่าง ๆ เพื่อเตรียมให้ประชาชนได้ลอยกระทง ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณภาพน้ำดีขึ้น และเขตดูแลเรื่องการจัดกิจกรรม โดยได้กำชับให้การจัดกิจกรรมต้องทำให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ การขายของในงานต้องให้คนในชุมชนก่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
สถิติการจัดเก็บกระทงในปี 65 พบว่าเป็นกระทงธรรมชาติร้อยละ 95.7 และกระทงโฟม ร้อยละ 4.3 เรื่องขยะในปีนี้ได้กำชับให้เร่งดำเนินการ ภายในเวลา 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้นต้องเก็บให้หมด ไม่ปล่อยให้เน่าอยู่ในลำน้ำ หากเป็นกระทงธรรมชาติจะแยกไปทำปุ๋ยหมัก ส่วนกระทงที่เป็นโฟมจะถูกส่งไปกำจัดให้ถูกวิธี ซึ่งเชื่อว่า หลังสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้นและมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น คาดว่าในปีนี้จำนวนกระทงจะมากขึ้นด้วย แต่หากเป็นไปได้อยากให้ประชาชนลอยกระทงแบบออนไลน์เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง
นอกจากนั้น ในที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร วันนี้ (20 พ.ย.66) ได้หารือ ถึง มาตรการก่อนลอยกระทง อาทิ การออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 การตรวจสถานที่ผลิต สะสม จำหน่ายพลุ และการตรวจท่าเทียบเรือ โป๊ะ มาตรการในวันลอยกระทง อาทิ การจัดส่งเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกตามสถานที่ลอยกระทง การตั้งจุดกองอำนวยการตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป 2 จุด คือใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) และคลองโอ่งอ่าง การจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดท่าเรือ โป๊ะ จุดละ 2 นาย พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต การดูแลความปลอดภัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยจัดให้มีเรือดับเพลิง ขนาด 38 ฟุต เรือท้องแบน เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำ เรือตรวจการณ์ ดูแลตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 มาตรการหลังวันลอยกระทง ได้แก่ การรายงานการจัดเก็บขยะ จำนวนกระทง และรายงานผลอุบัติภัย
ส่วนของการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์ จะรณรงค์ภายใต้แนวคิด 3 ปลอด คือ ปลอด…จากวัสดุไม่ธรรมชาติ 100% ,ปลอด…จากประทัด โคมลอย พลุ และ ปลอด…อันตรายจากโป๊ะ-ท่าเรือไม่แข็งแรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : จ.ส.100 / วันที่เผยแพร่ 20 พ.ย.66
Link : https://www.js100.com/en/site/news/view/135132