ตำรวจไซเบอร์ เผย 14 ประเภทคดีหลอกลวงออนไลน์ ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อมากที่สุด ตั้งแต่คอลเซ็นเตอร์ ถึงโทรหลอกให้รักแล้วโอนเงิน!
วันที่ 17 พ.ย. 66 บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “ตำรวจไซเบอร์” ร่วมเปิดโปง 12 คดีดังที่เป็นภัยไซเบอร์ ผ่านละครคุณธรรม 12 เรื่อง โดยงานนี้ ได้รับเกียรติจาก พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการฯ รักษาราชการแทน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้มาเผยรายละเอียด คดีออนไลน์ที่คนไทย โดนมากที่สุด ถึง 14 ประเภทด้วยกัน
พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ เผยว่า ภัยไซเบอร์ เป็นภัยคุกคามที่พบได้ทุกระดับ ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา จนถึงกลุ่มคนที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งจากสถิติตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 65 ถึง 10 พฤศจิกายน 66 พบว่ามีการรับแจ้งความผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com กว่า 390,863 คดี โดยเป็นคดีออนไลน์กว่า 361,655 คดี สร้างความเสียหายประมาณ 49,000 ล้านบาท และยังมีผู้เสียหายที่ไม่ได้เข้าแจ้งความอีกจำนวนมาก
พร้อมกันนี้ ยังเผยประเภทคดีออนไลน์ 14 แบบ ที่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความมากที่สุด ดังนี้
• หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) จำนวน 145,748 คดี
• หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานฯ จำนวน 47,996 คดี
• หลอกให้กู้เงิน จำนวน 40,251 คดี
• หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 29,808 คดี
• ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) จำนวน 25,938 คดี
• หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน จำนวน 13,987 คดี
• หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลต่าง ๆ จำนวน 11,234 คดี
• หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบฯ จำนวน 9,610 คดี
• หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (เป็นขบวนการ) จำนวน 8,504 คดี
• ถูกกระทำต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำนวน 3,805 คดี
• หลอกให้ลงทุนตามพ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ จำนวน 3,196 คดี
• หลอกให้รักแล้วโอนเงิน จำนวน 2,931 คดี
• หลอกเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 2,073 คดี
• ลักลอบเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น 115 คดี
• และคดีออนไลน์อื่น ๆ กว่า 10,584 คดี
พร้อมกันนี้ พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ แนะนำวิธีป้องกันภัยไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ 3 ข้อด้วยกัน คือ
• ไม่เชื่อ อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ
• ไม่รีบ อย่าเพิ่งเร่งรีบในการโอน
• ไม่โอน อย่าเพิ่งโอนหากไม่มั่นใจ
ทั้งนี้ ควรมีสติและตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่า การติดต่อดังกล่าวเป็นการติดต่อโดยภาครัฐหรือผู้ให้บริการต่าง ๆ จริง จึงจะดำเนินธุรกรรมหรือโอนเงินไป
ขอบคุณข้อมูลจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ภาพจาก Shutterstock
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 17 พ.ย.66
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ไอที/210568