แฮ็กเกอร์สามารถใช้มัลแวร์จัดการให้ระบบหยุดชะงักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราต้องยอมรับเลยว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้สร้างความเสียหายให้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก
อย่างในสหรัฐที่ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีอย่างหนัก มีการวิจัยเกี่ยวกับการคุกคามทางไซเบอร์ซึ่งพบว่า แรนซัมแวร์ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทำให้สูญเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
หากพิจารณาโดยละเอียดในรายงานการละเมิดข้อมูลจะเห็นได้ว่า การโจมตีของแรนซัมแวร์ได้ส่งผลกระทบต่อองค์กรทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2559 ถึงกลางเดือน ต.ค. 2566 ถึง 539 ครั้ง ในโรงพยาบาล คลินิก และองค์กรอื่น ๆ ประมาณ 9,780 แห่ง รวมถึงมีการละเมิดบันทึกการรักษาของผู้ป่วยมากกว่า 52 ล้านราย
สำหรับการกู้คืนระบบหลังการโจมตีมีระยะเวลาที่แตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่การหยุกชะงักชั่วคราวสำหรับเหยื่อที่มีการสำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอไปจนถึงหลายเดือนซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 14 วัน แต่หากพิจารณาในแต่ละปีแล้วจะพบว่า ปี 2565 ใช้เวลา 16 วัน
ทั้งนี้ปี 2566 ถือว่าแย่ที่สุดเพราะใช้เวลาถึง 19 วัน และจากตัวเลขเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ตั้งแต่ปี 2559 ทำให้ระบบหยุดทำงานได้นานถึง 6,347 วันหรือ 17.4 ปี เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์เพื่อประมาณการความเสียหาย โดยในปี 2560 ต้นทุนค่าเสียหายของการหยุดชะงักในการทำงานของระบบอยู่ที่ 8,662 ดอลลาร์ เฉลี่ยต่อนาที และทำให้องค์กรด้านการดูแลสุขภาพของสหรัฐสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก
โดยในปี 2563 มูลค่าสูงถึง 19.3 ล้านดอลลาร์ ปี 2564 อยู่ที่ 9.4 ล้านดอลลาร์ ปี 2565 อยู่ที่ 16.2 ล้านดอลลาร์ และปี 2566 อยู่ที่ 15.5 ล้านดอลลาร์ ทำให้ยอดรวมตั้งแต่ปี 2559 อยู่ที่ 77,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
มากกว่านั้น ยังมีประเด็นเรื่องการเรียกร้องให้จ่ายเงินค่าไถ่ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มตั้งแต่ 1,600 ดอลลาร์ไปจนถึง 10 ล้านดอลลาร์ และในปี 2564 มียอดสูงที่สุดโดยเฉลี่ยคือ 4 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่สามารถคำนวณหรือประเมินได้ว่าองค์กรสูญเสียไปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเหยื่อส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปิดเผยยอดเงินค่าไถ่
บทความโดย นักรบ เนียมนามธรรม
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : Bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 9 พ.ย.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1096507