เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ ศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทับแก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายชรินทร์ ทองสุข รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อมนายจักรกริช นาควิโรจน์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ผู้แทนกรมชลประทาน และนายอำนาจ วรรณมาโส หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ครั้งที่ 2 โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน (EAP) เขื่อนลำตะคอง นครราชสีมา
โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง ร่วมกิจกรรมสร้างความรับรู้ทำความเข้าใจผลการศึกษาแผนการบริหารจัดการกรณีฉุกเฉินสำหรับชุมชน กรณีเขื่อนลำตะคองเกิดภัยพิบัติรวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการศึกษาให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ความเป็นจริง
นายจักรกริช เปิดเผยว่า ปี พ.ศ 2507-2512 ได้สร้างเขื่อนลำตะคอง ที่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว พื้นที่กักเก็บน้ำ 314 ล้าน ลบ.เมตร เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพของพี่น้องประชาชนกว่า 5 แสนคน ในพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ รวมทั้งบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำลำตะคอง ลุ่มน้ำมูลให้ลดน้อยลง สถานการณ์ล่าสุด มีปริมาณน้ำ 193 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61 %จองพื้นที่เก็บกัก 314 ล้าน ลบ.เมตร
ทั้งนี้แม้ตัวเขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัยและออกแบบก่อสร้างมาเป็นอย่างดี แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติต่างๆ รวมทั้ง เขื่อนมีพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่จากการเพิ่มความจุของเขื่อน จึงมีความกังวลจากประชาชน ประกอบกับอุทกภัยจากการพิบัติของเขื่อนนั้นมีลักษณะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าอุทกภัยจากสาเหตุอื่นๆ จึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาก จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉินสำหรับชุมชน (Emergency Action Plan : EAP) จากการพิบัติของเขื่อนในกรณีต่างๆ รวมถึงเกิดอุทกภัยจากการระบายน้ำของเขื่อนในปริมาณมาก เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำ
————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : สยามรัฐ / วันที่เผยแพร่ 2 พ.ย.66
Link : https://siamrath.co.th/n/489805