ประเทศโซมาเลียตั้งอยู่ในแหลมแอฟริกา มีพรมแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับประเทศจิบูตี ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับประเทศเคนยา ทิศเหนือมีอ่าวเอเดนเป็นพรมแดนทางทะเล ทิศตะวันออกติดกับมหาสมุทรอินเดีย และทิศตะวันตกติดกับประเทศเอธิโอเปีย มีพื้นที่ 637,600 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวงชื่อ กรุงโมกาดิชู มีประชากรราว 9 ล้านคน ภูมิอากาศร้อนแบบทะเลทรายประเทศยากจนในทวีปแอฟริกา หลังจากที่ได้เกิดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2543 ชนเผ่าต่าง ๆ สู้รบกันเองจนทำให้ประเทศไม่มีรัฐบาลกลางที่มีเอกภาพ แย่งชิงอำนาจกันจนปกครองไม่ได้ ทำให้ประเทศโซมาเลียตกอยู่ในสภาพ “รัฐล้มเหลว – failed state”
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2547 ประเทศโซมาเลียประสบภัยสึนามิและได้รับเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่จากต่างประเทศ แต่กลับนำเงินไปซื้ออาวุธเพื่อปล้นเรือต่าง ๆ ที่ผ่านน่านน้ำ โดยอ้างว่าบรรดาประเทศต่าง ๆ ได้มาปล้นทรัพยากรของประเทศ โดยมีทหารที่แตกแถวเข้าร่วมปล้นเรือ และจับเรือเรียกค่าไถ่ได้เงินจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ กองโจรสลัดจะนำเงินบางส่วนไปใช้จัดเตรียมความพร้อมสำหรับการบุกยึดเรือครั้งใหม่ ซึ่งรวมทั้งการจัดหาอาวุธที่ทรงอานุภาพกว่าเดิม เรือที่มีขนาดใหญ่และเร็วกว่าเดิม อุปกรณ์ชั้นสูงต่าง ๆ จนทำให้กองโจรพัฒนาเข้มแข็งขึ้น ทั้งทางด้านอาวุธและเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าใน พ.ศ.2552 โจรสลัดสามารถปฏิบัติการดักปล้นเรือโดยสารขนส่งได้ในระยะทางเพียง 265 กิโลเมตรจากฝั่ง แต่ต่อมาใน พ.ศ.2553 พัฒนาระยะไปได้ไกลถึง 1,770 กิโลเมตรจากฝั่งแล้ว
โจรสลัดโซมาเลียเป็นกลุ่มคนอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งของประเทศที่มีความยาว 6,400 กิโลเมตร มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่รัฐพุนต์แลนด์ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองทางตอนเหนือของโซมาเลีย โดยโจรสลัดเหล่านี้ได้ติดสินบน
เจ้าหน้าที่เพื่อใช้ท่าเรืออายล์และท่าเรืออื่น ๆ เป็นฐานปฏิบัติการ รวมถึงนำเรือที่จับได้มาเก็บไว้ขณะที่รอเจรจาเรียกเงินค่าไถ่ มีสมาชิกมากกว่า 1,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มมากกว่า 10 กลุ่ม มีอุปกรณ์ไฮเทคล่าสุด รวมทั้งโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม และระบบ GPS อาวุธที่ใช้รวมทั้งอาวุธหนักอย่างเครื่องยิงจรวด RPG กับปืนกล AK-47 มีเรือควบคุมการปฏิบัติการที่อาจแฝงมากับเรือต่าง ๆ บรรทุกเรือยนต์เร็วออกไปปฏิบัติการในทะเล มีสายสืบคอยแจ้งข่าวจากเมืองท่าต่าง ๆ ในอ่าวเอเดน เรือก็เป็นเรือเร็ว มีเครื่องยนต์ที่ทรงพลังในการบุกเข้าหาเป้าหมาย และบางครั้งจะเป็นการปล่อยเรือเร็วออกจากเรือใหญ่ซึ่งเป็นเรือแม่ที่ลอยลำอยู่ในทะเลลึกเพื่อไปก่อเหตุ
โจรสลัดโซมาเลียส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน อายุ 20 – 35 ปี ส่วนใหญ่มีพื้นเพทำการประมงชายฝั่งตั้งแต่สมัยพ่อแม่มาแล้ว และทหารที่แตกหนีมาจากการรบในสงครามกลางเมือง รวมทั้งบรรดาเด็กหนุ่มประเภทไฮเทค เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ระบบกำหนดตำแหน่งผ่านดาวเทียม หรือ GPS ฯลฯ
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติให้จัดตั้งกองเรือนานาชาติอันประกอบด้วยเรือรบของสหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย องค์การนาโต อิหร่าน จีน เกาหลีใต้ และไทย ในการให้ความร่วมมือลาดตระเวนดูแลพื้นที่ในน่านน้ำโซมาเลีย อ่าวเอเดน มหาสมุทรอินเดีย และสามารถใช้มาตรการที่เห็นสมควรจัดการกับกลุ่มโจรได้ตามดุลพินิจ เพื่อป้องกันโจรสลัดโจมตีเรือนานาชนิดที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นประจำ ที่แต่ละปีมีเรือบรรทุกน้ำมัน เรือสินค้า เรือยอชต์ ประมาณ 2 แสนลำผ่านเส้นทางนี้ นอกจากนี้ สหประชาชาติยังได้ออกมติให้เรือรบของกองเรือนานาชาติสามารถไล่ติดตามโจรสลัดได้ แม้ว่าโจรสลัดจะหนีขึ้นบกก็สามารถส่งกองทหารหรือหน่วยปราบปรามโจรสลัดขึ้นไล่ล่าบนฝั่ง ทั้งนี้ ต้องเป็นการไล่ล่าต่อเนื่องจากทะเลขึ้นฝั่งได้ นอกจากนี้ เรือบรรทุกสินค้าต่าง ๆ ก็เริ่มจ้างทีมผู้คุ้มครองเรือติดอาวุธไว้ต่อสู้กับโจรสลัดอีกด้วย จึงมีส่วนทำให้การปล้น ยึดเรือและจับตัวประกันลดลงอย่างมาก
แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือปัญหาของประเทศโซมาเลียไม่ได้ดีขึ้นเลย และโซมาเลียก็ยังเป็นรัฐที่ล้มเหลวอยู่นั่นแหละ แต่ในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา สถิติการปล้นเรือที่เคยสูงสุดกว่าปีละกว่า 300 ราย กลับเหลือเป็นศูนย์เลยทีเดียว ซึ่งการป้องกันและปราบปรามของนานาชาติย่อมไม่มีทางทำได้เลยหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวโซมาเลียที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลมีกินมีใช้ตามสมควรแก่อัตภาพ แล้วการที่จะเลิกเป็นโจรสลัดของชาวโซมาเลียที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลก็จะเป็นไปไม่ได้
ปรากฏว่ามีข้อมูลจาก 2 แหล่งที่ชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจของชาวโซมาเลียที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลคือ
1) ใน พ.ศ.2553 มีชาวเดนมาร์กกลุ่มหนึ่งเข้ามาที่รัฐพุนต์แลนด์ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองทางตอนเหนือของโซมาเลียเพื่อตั้งองค์กรเอกชน (NGO – ซึ่งเป็นลักษณะขององค์กรเอกชน ก็คือ เป็นองค์กรที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศเพื่อทำสาธาณประโยชน์โดยไม่แสวงหาผลกำไร) ชื่อ Fair Fishing (การจับปลาที่เป็นธรรม) ทำการชักชวนให้เหล่าโจรสลัดหันมาเป็นชาวประมงด้วยการเริ่มต้นขายน้ำแข็งให้ชาวประมง ทำให้ชาวประมงสามารถนำปลาที่สดสะอาดไปส่งที่ตลาดได้ราคาดีขึ้นถึง 3 เท่าโดย Fair Fishing สามารถทำงานร่วมกับธุรกิจจับปลาได้มากกว่า 25 แห่ง ซึ่งรวมแล้วมีเรือจับปลากว่า 50 ลำ และตลาดอีก 20 ตลาด นอกจากนี้ Fair Fishing ยังช่วยหาเครื่องมือการจับปลาและจัดโปรแกรมการศึกษาสำหรับพ่อครัวในการปรุงอาหารจากปลาให้มีราคาดีขึ้น ให้การศึกษากับพ่อค้าปลาในตลาด คนจับปลารวมทั้งสตรีที่ทำงานบ้านอีกด้วย จากผลงานดังกล่าว Fair Fishing จึงได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเป็นกอบเป็นกำในกิจกรรมดังกล่าวให้ก้าวหน้าจนทำให้รายได้ของธุรกิจจับปลาเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในระยะเวลา 5 ปีระหว่าง พ.ศ.2555 – 2561 และชาวประมงที่ออกจับปลาได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 300% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน นายคิโยชิ คิมูระ เจ้าของร้านซูชิซันไมที่มีสาขามากมายทั่วโลกที่โด่งดังไปทั่วญี่ปุ่นเป็นอีกผู้หนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนโจรสลัดโซมาเลียให้กลายมาเป็นชาวประมงจับปลาทูน่าขายให้กับร้านซูชิของเขาเองอีกด้วย เนื่องจากปลาทูน่าเป็นปลาน้ำลึกหนักเฉลี่ยตัวละ 30 – 60 กิโลกรัม ซึ่งบริเวณย่านน้ำของญี่ปุ่นก็จับปลาทูน่าจนแทบไม่เหลือแล้ว แต่ในน่านน้ำของโซมาเลียอุดมไปด้วยปลาทูน่าครีบเหลือง และชาวโซมาเลียไม่มีปัญญาจะจับขึ้นมาได้เพราะความสูญเสียในสงครามกลางเมืองและความอดอยาก ทำให้คนเหล่านั้นต้องผันตัวมาเป็นโจรเพราะไม่มีความรู้ในการประกอบอาชีพอื่น
นายคิมูระได้ติดต่อบรรดาโจรสลัดมาปรึกษาหารือกับเขาที่ประเทศจิบูตีซึ่งอยู่ติดกับประเทศโซมาเลีย โดยเสนอให้โจรสลัดเหล่านั้นมาทำมาหาเลี้ยงชีพสุจริตด้วยการจับปลาทูน่าขาย โดยที่เขาจะรับซื้อไว้เอง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีเกินคาดจากกลุ่มโจรสลัดเหล่านั้น ปัญหาต่อมาก็คือ โจรสลัดเหล่านั้นไม่รู้วิธีจับปลาทูน่า ไม่มีเรือที่จะออกไปจับปลา ไม่มีห้องเย็นที่จะเก็บปลาหลังจับปลาได้แล้ว และก็ไม่ได้เป็นสมาชิกในสมาคมปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOCT) ทำให้ไม่มีช่องทางการส่งออกปลาทูน่า
นายคิมูระจึงให้เรือประมงญี่ปุ่นที่ใช้งานแล้วไปหลายลำ ซ่อมห้องเย็นให้ และวิ่งเต้นหาทางให้โซมาเลียเข้าร่วมสมาคมปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดียจนได้ นอกจากนี้ เขายังได้เดินทางไปโซมาเลียนับสิบครั้งเพื่อสอนวิธีการจับปลาทูน่าให้อดีตโจรสลัดเหล่านั้นด้วย
เหล่าโจรโซมาเลียได้เปลี่ยนอาชีพหลักจากการหากินด้วยการปล้นมาเป็นการส่งออกปลาทูน่าแทน และส่งออกประมาณ 100 ตันต่อปี ทำให้จำนวนโจรสลัดที่ออกปล้นในน่านน้ำโซมาเลียลดลงจนเป็นศูนย์ในปีที่ผ่านมา นายคิมูระจึงได้รับเหรียญสรรเสริญเกียรติคุณจากรัฐบาลจิบูตีซึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับนายคิมูระในสันติภาพที่เกิดขึ้นในโซมาเลียที่เป็นเพื่อนบ้านกับจิบูตี
ครับ! เรื่องโจรสลัดโซมาเลียที่ก่อปัญหาวุ่นวายในอ่าวเอเดนร่วม 10 ปี จู่ ๆ ก็หายไปด้วยการแก้ปัญหาทั้งไม้แข็งและไม้นวมด้วยประการฉะนี้
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 พ.ย.66
Link : https://www.matichon.co.th/columnists/news_4269509