ประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 28 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร, สหรัฐ, จีน และสหภาพยุโรป (อียู) ร่วมลงนามในปฏิญญาความปลอดภัยของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยเห็นพ้องถึง “ความจำเป็นในการดำเนินการระหว่างประเทศ” ระหว่างการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับเอไอครั้งแรกของโลก ซึ่งมีผู้นำทางการเมืองและผู้นำด้านเทคโนโลยีเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่า รัฐบาลของสหราชอาณาจักร เป็นเจ้าภาพจัดซัมมิตนาน 2 วัน ที่เบลตช์ลีย์ พาร์ก ทางเหนือของกรุงลอนดอน พร้อมกับประกาศ “ปฏิญญาเบลตช์ลีย์” ซึ่งลงนามโดยตัวแทนจาก 28 ประเทศ และอียู
ภายในปฏิญญา ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องเกี่ยวกับ “ความจำเป็นเร่งด่วน” ในการทำความเข้าใจ และจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน ผ่านความพยายามร่วมระดับโลกครั้งใหม่ เพื่อทำให้แน่ใจว่า เอไอได้รับการพัฒนา และถูกใช้งานในลักษณะที่ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ เพื่อประโยชน์ของประชาคมโลก
นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ผู้นำสหราชอาณาจักร ระบุว่า ปฏิญญาดังกล่าวเป็น “ความสำเร็จครั้งสำคัญ” ขณะที่สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ตรัสผ่านข้อความวิดีโอในการประชุมสุดยอด เรียกร้องให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อต่อสู้กับ “ความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ” ของการพัฒนาที่ขาดการตรวจสอบ เพื่อรับประกันว่า เทคโนโลยีซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ยังคงปลอดภัย
นางมิเชลล์ โดเนลาน รมว.เทคโนโลยีของสหราชอาณาจักร (คนที่ 6 จากซ้ายมือ) ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับตัวแทนของรัฐบาลนานาประเทศ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับเอไอ ครั้งแรกของโลก จัดขึ้นใกล้กับกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ การประกาศปฏิญญาเบลตช์ลีย์ เกิดขึ้นไม่นานหลังจากสหราชอาณาจักร และสหรัฐ กล่าวว่า พวกเขากำลังจัดตั้งสถาบันของตนเอง เพื่อประเมินและลดความเสี่ยงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังเช่น การเปิดตัวโมเดลเอไอล่าสุด ซึ่งช่วยทำให้มองเห็นศักยภาพของสิ่งที่เรียกว่า “เอไอแนวหน้า” แต่มันก็สร้างความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ด้วย ตั้งแต่การตกงาน ไปจนถึงการโจมตีทางไซเบอร์ และการควบคุมที่มนุษย์มีต่อระบบจริง ๆ
ด้านนางมิเชลล์ โดเนลาน รมว.เทคโนโลยีของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ปฏิญญาข้างต้นแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า ทั่วทั้งโลกมารวมตัวกันเพื่อระบุปัญหานี้ และเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็น “ช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ”
อีกทั้งเธอยังยอมรับว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสร้างพิมพ์เขียวสำหรับกฎหมายระดับโลก แต่เป็นการสร้างเส้นทางข้างหน้า เพื่อทำให้ทุกฝ่ายสามารถจัดการ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของเอไอแนวหน้าได้ดียิ่งขึ้น
เครดิตภาพ : AFP
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 2 พ.ย.66
Link : https://www.dailynews.co.th/news/2863277/