เตือนภัย! คนใช้ X (Twitter) ระวังถูกหลอก เพราะข่าวปลอมระบาดหนักในแพลตฟอร์ม แอดมินไม่จัดการ แถมคนร้ายยังมีสิทธิ์ได้ส่วนแบ่งค่าโฆษณาอีกด้วย
NewsGuard ผู้ให้บริการเครื่องมือตรวจสอบข้อเท็จจริง รายงานสถานการณ์ข่าวบิดเบือนและข่าวปลอมประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า แพลตฟอร์ม X (Twitter) มีข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนระบาดอย่างหนัก และไม่ได้รับการจัดการจากแอดมินหรือระบบของแพลตฟอร์มแต่อย่างใด
จากรายงานพบว่า ผู้ใช้ที่เผยแพร่ข่าวปลอม บน แพลตฟอร์ม X มีเครื่องหมาย “ยืนยันตัวตน” หรือ ติ๊กถูกสีฟ้า ที่ในอดีตมีแต่บุคคลที่มีชื่อเสียงและบุคคลที่น่าเชื่อถือเท่านั้นถึงจะได้รับเครื่องหมายนี้ แต่ปัจจุบันใคร ๆ ก็สามารถมีเครื่องหมายนี้ได้ เพียงแค่จ่ายเงินค่าสมาชิกรายเดือน
ขณะเดียวกัน NewsGuard ยังพบอีกว่า มีโฆษณาที่ผ่านการบูสโพสต์ หรือจ่ายเงินให้ แพลตฟอร์ม X เพื่อเพิ่มยอดการเข้าถึง เป็นโฆษณาข่าวปลอมหรือสร้างความเข้าใจผิดถึง 86 ตัว มีผู้เข้าถึงโฆษณาเหล่านั้นถึง 92 ล้านครั้ง และส่วนใหญ่เป็นข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์ม X กำลังตอบโต้และฟ้องร้อง องค์กรเฝ้าระวังสื่อเพื่อสร้างสื่อสร้างสรรค์ ที่มีชื่อว่า Media Matters โดยกล่าวหาว่า Media Matters หมิ่นประมาทแพลตฟอร์ม X ด้วยรายงานที่ระบุว่าโฆษณาของแบรนด์ดังหลัก ๆ อย่าง Apple และ Oracle ปรากฏถัดจากโพสต์ที่เหยียดเชื้อชาติและยกย่องพรรคนาซี ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าแบรนด์เหล่านั้นสนับสนุนโพสต์เหล่านั้น
เอกสารภายในระบุว่า แผนกโฆษณามากกว่า 200 แผนกของบริษัทต่าง ๆ เช่น Airbnb, Amazon, Coca-Cola และ Microsoft ได้หยุดหรือกำลังพิจารณาที่จะหยุดโฆษณาบนแพลตฟอร์ม X ชั่วคราว เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด ประกอบกับการแสดงท่าที่ไม่แก้ไขเรื่องโพสต์เหยียดเชื้อชาติของ แพลตฟอร์ม X
สิ่งที่น่าตกใจกว่า คือ ผู้ใช้ที่เผยแพร่ข่าวปลอม บน แพลตฟอร์ม X ที่มีเครื่องหมาย “ยืนยันตัวตน” หรือ ติ๊กถูกสีฟ้า “มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งโฆษณา” จากข่าวปลอมที่ตนเองเผยแพร่เพราะผู้ที่มีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า หากโพสต์มีการพูดถึงหรืออ่านการตอบกลับมาก ๆ ก็จะมีโฆษณาขึ้นขั้นระหว่างคอมเมนต์และหลายเป็นส่วนแบ่งรายได้
ขณะที่แพลตฟอร์มอื่น อย่าง Facebook เมื่อมีโพสต์ที่อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดจะมีการทำงานร่วมกับเครือข่าวสื่อมวลชนตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวและใส่กรอบข้อเท็จจริงไว้ใต้โพสต์นั้น รวมถึงถามย้ำผู้ใช้ว่า จะแชร์โพสต์ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ อีกครั้งก่อนที่จะแชร์ต่ออีกด้วย
——————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : Springnews / วันที่เผยแพร่ 2ุ6 พ.ย.66
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/845535