ปฏิบัติการ 1027 ในปลายเดือนตุลาคม เป็นปฏิบัติการของกองกำลังสามฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรสามภราดรภาพ” (Three Brotherhood Alliance) หรือสั้น ๆ ว่า “สามพี่น้อง” อันประกอบด้วย MNDAA หรือกองกำลังของโกก้าง TNLA ของกลุ่มชาติพันธุ์ตะอาง (ปะหล่อง) และกองทัพอาระกัน หรือ AA ได้ร่วมกันโจมตีกองทัพพม่า และกองกำลังฝ่ายที่สนับสนุนกองทัพพม่า สมรภูมิการรบอยู่ในพื้นที่หลายเมืองในรัฐฉานทางตอนเหนือ รัฐคะฉิ่น และบางส่วนของมณฑลมัณฑะเลย์และสะกาย เรียกว่าเป็น “surprise attack” ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กองทัพพม่า ซึ่งเสียฐานที่มั่นไปกว่า 100 แห่ง และกลุ่มต่อต้านเข้ายึดเมืองอย่างน้อย 7 เมืองในรัฐฉานตอนเหนือใกล้ชายแดนจีนได้ ส่งผลให้ด่านชายแดนพม่า-จีนต้องปิดแบบไม่มีกำหนด
การสู้รบตั้งแต่ต้นปี 2021 ทำให้กองทัพพม่าอ่อนแอลงไปอย่างชัดเจน จากรายงานของเย เมี้ยว เฮง (Ye Myo Hein) ในหัวข้อ “กองทัพของพม่าเล็กกว่าที่คิด และอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว” (Myanmar’s Military Is Smaller Than Commonly Thought, and Shrinking Fast) เขาวิเคราะห์ว่า จำนวนทหารในกองทัพพม่าไม่ได้มีมากอย่างที่คนภายนอกอย่างเรา ๆ คิด จากการสัมภาษณ์อดีตนายทหารและการสำรวจสถิติ เย เมี้ยว เฮง สรุปว่ากองทัพพม่ากำลังเผชิญวิกฤต เพราะตัวเลขทหารประจำการลดลงอย่างรวดเร็ว
ก่อนรัฐประหาร ประมาณกันว่า กองทัพพม่าน่าจะมีทหารอยู่ราว 3 – 4 แสนนาย แต่ตัวเลขนี้ก็ไม่มีสถิติบ่งชี้ที่ชัดเจน และน่าจะอยู่ที่ 1.5 แสนนาย ในจำนวนนี้มีเพียง 7 หมื่นนายเป็นทหารที่พร้อมรบ ด้วยการสู้รบที่เข้มข้นดุเดือด มีทหารกับตำรวจที่แปรพักตร์และไปเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านรัฐประหาร หรือกองกำลัง PDF แล้วรวม ๆ กัน 1 หมื่นนาย รัฐบาลคู่ขนาน NUG ยังประเมินอีกว่า ตั้งแต่เกิดการสู้รบมา น่าจะมีกองกำลังฝั่งคณะรัฐประหารที่เสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นนาย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูมากเกินไปหน่อย แหล่งอื่น ๆ ประเมินว่า น่าจะมีทหารฝั่งพม่าเสียชีวิตไปประมาณ 1 – 1.5 หมื่นนาย
ไม่ว่าตัวเลขทหารในกองทัพพม่าจะมีเท่าไหร่ จะสูงหรือต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราประเมินได้ทันทีคือกองทัพพม่ากำลังเผชิญศึกหลายด้าน และค่อย ๆ สูญเสียฐานที่มั่นในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เกือบทั้งหมด เหลือไว้เพียงพื้นที่ของคน “พม่าแท้” ในพม่าภาคกลางและเมืองใหญ่ อย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปยีดอ เท่านั้น
สำหรับสองเมืองหลัง ที่ตั้งอยู่ในพม่าตอนกลางค่อนไปทางตอนบน หรือเขต Dry Zone ที่เป็นหัวใจของคนพม่ามาหลายร้อยปี ก็กำลังเผชิญกับศึกครั้งใหญ่ เพราะนี่คือพื้นที่ของคนพม่าแท้ ที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการสู้รบ ไม่มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีฐานที่มั่นในพื้นที่แถบนี้ แต่ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร เขต Dry Zone อันประกอบด้วย มณฑลมัณฑะเลย์ สะกาย และมะกเว (Magwe) ก็เป็นเขตสู้รบ และกลายเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร หรือ PDF หรือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ที่ต่อสู้กับทั้งกองทัพพม่าและกองกำลังที่โปรรัฐประหาร ที่เรียกว่า “ปยูซอที” (Pyusawhti เป็นพระนามกษัตริย์นักรบพระองค์หนึ่งของพุกาม)
กองกำลังฝ่าย PDF ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวที่ออกจากเมืองและจับอาวุธเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านรัฐประหาร โดยได้รับการฝึกฝนจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านในพื้นที่ที่มีอุดมการณ์เดียวกันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลัง PDF ด้วย ในขณะเดียวกัน
ปยูซอทีเป็นกองกำลังของประชาชนในอีกจักรวาลหนึ่งที่สนับสนุนรัฐประหาร และได้รับอาวุธและการฝึกฝนจากกองทัพพม่า ในเขต Dry Zone มีกองกำลังปยูซอทีราว 77 กลุ่ม ชาวบ้านที่เข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มนี้ได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายวัน ได้รับอาวุธและการฝึกฝนจากกองทัพพม่า
เนื่องจากเขต Dry Zone เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และเป็นสัญลักษณ์ของความเกรียงไกรของกษัตริย์พม่ามาช้านาน อีกทั้งยังอยู่ประชิดกรุงเนปยีดอด้วย กองทัพจึงระดมสรรพกำลังมหาศาลเพื่อช่วยเหลือปยูซอทีในเขตนี้ และไม่ได้ให้เพียงอาวุธธรรมดา แต่ยังมีรถหุ้มเกราะและเครื่องบินรบ ที่เข้าไปเสริมแรงให้กองกำลังฝ่ายสนับสนุนกองทัพพม่าในพื้นที่ด้วย ทำให้การสู้รบในเขตนี้มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ และอาจเป็นตัวชี้วัดศักยภาพของกองทัพพม่าเลยทีเดียว
จากการรายงานของสถาบันศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติ (IISS) ที่พัฒนาแผนที่การสู้รบในพม่าขึ้น วิเคราะห์ว่า PDF ใช้ยุทธวิธีเพื่อโจมตีกองกำลังฝ่ายตรงข้าม 3 แนวทางเพื่อตัดกำลังคณะรัฐประหาร ได้แก่ ระเบิดด้วยวัตถุระเบิดที่ทำขึ้นเอง การลอบสังหารคนฝั่งคณะรัฐประหาร และการซุ่มโจมตีขบวนรถของกองกำลังอีกฝั่งหนึ่ง เป้าหมายของ PDF ไม่ได้อยู่เพียงทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพลเรือนที่ให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารในทุกรูปแบบ จากสถิติเดือนพฤษภาคม 2022 มีกองกำลัง PDF เฉพาะในเขต Dry Zone มากถึง 463 กลุ่ม คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ PDF ทั้งหมดที่มีปฏิบัติการในพม่า
ภาพทั้งหมดที่ IISS ฉายให้เห็นนั้น ชี้ว่าพื้นที่ที่สำคัญที่สุดในทางประวัติศาสตร์และจิตใจของคนพม่าแท้กลายเป็นสมรภูมิการรบเต็มรูปแบบ ผู้เขียนนึกถึงประกาศของรัฐบาลอังกฤษที่ออกโรงเตือนคนของตนเองไม่ให้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของพม่า แผนที่นี้แสดงพื้นที่ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ควรเข้าไปไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น (สีแดง) พื้นที่ที่ไม่ควรเข้าไปยกเว้นมีเหตุจำเป็นจริง ๆ (สีเหลือง) และพื้นที่ที่ยังปลอดภัยแต่ให้อัพเดตสถานการณ์เรื่อย ๆ (สีเขียว) หากดูแผนที่นี้ให้ดี ก็จะพบว่า มีพื้นที่สีเขียวเหลืออยู่น้อยมาก คือเมืองในพม่าตอนล่าง เช่น ย่างกุ้ง พะสิม แปร พะโค งาปาลี (เมืองท่าตากอากาศชื่อดังทางตะวันตก) รวมทั้งเนปยีดอในตอนกลางด้วย สำหรับเนปยีดอ ที่รายล้อมด้วยเขตสีแดงในเขตมะกเว มณฑลมัณฑะเลย์และสะกาย และพื้นที่สีเหลืองในรัฐฉานตอนใต้ และรัฐคะเรนนี ก็เหมือนถูกล้อมไว้โดยกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหารทั้งสิ้น
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนเคยมีความคิดว่ากองทัพพม่านั้นมีแสนยานุภาพที่ยิ่งใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย ยิ่งได้รัสเซียเป็นพันธมิตรที่คอยป้อนอาวุธให้ด้วยแล้ว ยิ่งการันตีว่ากองทัพพม่าจะมีอาวุธทันสมัยใช้ไม่ขาดมือ และย่อมต่อสู้กับกองกำลังหลายร้อยกลุ่มได้อย่างแน่นอน แต่มาตอนนี้ เมื่อได้อ่านบทวิเคราะห์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดปฏิบัติการ 1027 ขึ้น แม้ผู้เขียนยังเชื่อว่ากองทัพพม่าจะเข้มแข็งกว่ากองกำลังอีกฝ่ายอยู่มาก แต่ในอีกด้านนึงก็เริ่มเล็งเห็นแล้วว่ากองทัพพม่าอ่อนแอลงไปมากจริง ๆ หลายคนเริ่มพูดถึงรัฐประหารซ้อนว่าพม่าจะกลับไปเป็นเหมือนปี 1988 ที่นายพล เน วิน ถูกบีบจากข้างในกองทัพให้ลาออกหรือไม่ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย จะมีชะตากรรมอย่างไร และกองกำลังฝ่ายประชาชนกับกลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาสจะชนะศึกครั้งใหญ่ครั้งนี้หรือไม่ พูดตามตรงว่าการประเมินสถานการณ์ในพม่าปัจจุบันเป็นเรื่องยากมาก และต้องประเมินกันนาทีต่อนาที กองทัพฝ่ายประชาชนสามารถยึดเมือง ก ได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรักษาฐานที่มั่นตรงนั้นได้ตลอดรอดฝั่ง
ผู้เขียนมองว่าจุดแข็งของกองกำลังฝั่งประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์คือ การรวมกลุ่มกันเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันโจมตีกองทัพพม่า การรวมตัวกันนี้ไม่ได้มีเห็นในกรณีของ “สามพี่น้อง” เท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือน “เทรนด์” ที่กองกำลังอีกหลายกลุ่มจะนำไปประเมินและร่วมมือกันมากขึ้น แน่นอน สงครามย่อมไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ประวัติศาสตร์พม่าที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าการรวมกลุ่มพันธมิตรเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่โดยมากมักไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแต่ละฝ่ายมีวาระและเป้าหมายเป็นของตนเอง แต่สงครามครั้งนี้ต่างออกไป เพราะกองกำลังทั้งฝั่งประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างมีศัตรูร่วมเป็นคนเดียวกัน แต่ถ้าจะกล่าวว่ากองทัพพม่ากำลังเพลี่ยงพล้ำ กองกำลังฝั่งประชาชนกำลังจะได้รับชัยชนะ ผู้เขียนว่าอาจจะเร็วไปสักหน่อย
บทความโดย ลลิตา หาญวงษ์
——————————————————————————————————————————————————-
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 2ุ4 พ.ย.66
Link : https://www.matichon.co.th/columnists/news_4297669