เมื่อวานนี้ (13 พฤศจิกายน 2023) เนปาลประกาศแบนการใช้แอปพลิเคชัน TikTok เนื่องจากกระทบต่อความกลมเกลียวของสังคม และสายสัมพันธ์ภายในครอบครัวของประชากร ท่ามกลางเสียงต่อต้านบางส่วนจากคนในสังคม
เรคา ชาร์มา (Rekha Sharma) รัฐมนตรีหญิงกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเนปาล (Ministry of Communications and Information Technology: MoCIT) แถลงจุดประสงค์ต่อสาธารณชนในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะแอปพลิเคชันชื่อดังถูกใช้ในทางที่ผิด เพื่อบั่นทอนความสัมพันธ์กลมเกลียวในสังคม และโครงสร้างครอบครัว
“การตัดสินใจแบนแอปพลิเคชัน TikTok เกิดขึ้นวันนี้ และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานเพื่อระบุปัญหาทางเทคนิค” รัฐมนตรีหญิงกล่าว แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจนถึงจุดยืนในข้างต้น
นอกจากนี้ ปุรุชอตตัม คานัล (Purushottam Khanal) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานโทรคมนาคมเนปาลให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ (Reuters) ว่า พวกเขากำลังทำงานเพื่อปิดกั้นแอปพลิเคชันนี้ โดยระบุว่า บางส่วนจัดการเรียบร้อย ขณะที่ส่วนหนึ่งจะดำเนินต่อไปในวันถัดมา
อย่างไรก็ตาม บริษัท TikTok ไม่มีท่าทีหรือความคิดเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวโดยตรง แต่ก่อนหน้านี้เคยระบุว่า การแบนแอปพลิเคชันนี้เป็นความเชื่อที่ผิด และเกิดจากความผิดพลาดของผู้ดำเนินนโยบายในแต่ละประเทศ
เบื้องต้น สื่อต่างประเทศหลายแห่งรายงานตรงกันว่า การตัดสินใจของรัฐบาลเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังมีข้อตกลงให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกแห่งก่อตั้งสำนักงานในประเทศเนปาล เพื่อให้สะดวกต่อการคัดกรองข้อมูลหรือจำกัดเนื้อหาที่เป็นภัยต่อสังคม โดยทุกบริษัทมีระยะเวลา 3 เดือน ในการดำเนินการเท่ากันทั้งสิ้น
พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (Communist Party of Nepal หรือ Unified Marxist-Leninist) พรรคฝ่ายค้านออกโรงประณามการตัดสินใจของรัฐบาลข้างต้น โดยชี้แจงว่า เป็นนโยบายที่ไร้ประสิทธิภาพ วุฒิภาวะ และความรับผิดชอบ
“หลายสิ่งไม่เป็นที่ต้องการในโลกโซเชียลมีเดีย แต่สิ่งที่รัฐต้องทำ คือ ควบคุมดูแลมันไม่ใช่การสั่งห้ามหรือปิดกั้น” พราดีป จาวาลี (Pradeep Gyawali) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล แสดงความคิดเห็น
เช่นเดียวกับหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล กาเกน ธาปา (Gagan Thapa) หัวหน้าพรรคคองเกรสเนปาล (Nepali Congress Party) ระบุในแอปพลิเคชัน X ว่า การแบน TikTok คือการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression)
“กฎและข้อบังคับจำเป็นอย่างยิ่งในการกีดกันผู้ละเมิดกฎระเบียบบนโลกโซเชียลฯ แต่การปิดโซเชียลฯ โดยอ้างกฎและข้อบังคับก็มีความผิดมหันต์ สิ่งเหล่านี้ลดทอนเสรีภาพในการแสดงออกและอิสระของปัจเจกบุคคล รัฐบาลควรไตร่ตรองนโยบายดังกล่าวให้ถี่ถ้วน” ธาปาโพสต์ข้อความลงใน X เมื่อวานนี้
ด้านตัวแทนภาคประชาชน ธารานัธ ดาฮาล (Taranath Dahal) ผู้ก่อตั้ง Freedom Forum องค์กรสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก อธิบายในเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) ว่า ขั้นตอนการแบนแอปพลิเคชัน TikTok ของรัฐบาลขาดความโปร่งใส และทำให้เกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลกำลังควบคุมความเป็นไปในสังคมอยู่หรือไม่
ธารานัธให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกำลังบีบบังคับผู้คนจากนโยบายที่ตัดสินใจในฉับพลัน และให้เวลาบริษัทต่างๆ เพียง 3 เดือน เพื่อดำเนินการตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายภาพลักษณ์สังคมเสรีประชาธิปไตยของประเทศอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม ได้แก่ สื่อท้องถิ่น และกลุ่ม NGOs ในเนปาลขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว โดยระบุเหตุผลว่า มาตรการนี้คือการขัดขวางบทสนทนาในโลกออนไลน์ และกระทบต่ออาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวในการสร้างรายได้
“รัฐบาลจงใจจะขัดขวางการสนทนาและการแสดงออกบนโลกออนไลน์ในการแบน TikTok ถาวร อีกทั้งยังจำกัดโอกาสของชาวเนปาลในการมีส่วนร่วมต่อบทสนทนา หรือแบ่งปันความคิดเห็นบนชุมชนดิจิทัลระดับโลก” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
เหตุผลที่แท้จริงของการแบน TikTok ในเนปาล: อาชญากรรมบนโลกโซเชียลฯ vs อิทธิพลของจีน?
ตามรายงานของอัลจาซีรา (Al Jazeera) และไทม์ (Times) เนปาลเผชิญอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์บนแอปพลิเคชัน TikTok มากกว่า 1,600 ครั้ง สะท้อนจากสถานการณ์ปัจจุบันของรัฐบาล โดยออกคำสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำกัดคอนเทนต์เกี่ยวกับการให้ร้ายทางวาจา อาชญากรรมทางเพศ ยาเสพติด ข่าวปลอม และภาพโป๊เปลือยที่เผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงข้อความในเหตุก่อการร้าย
ขณะที่สถานการณ์บางส่วนในโลกแสดงให้เห็นว่า การแบน TikTok เกิดขึ้นจากความหวาดระแวงอิทธิพลของจีน ประเทศเจ้าของแอปพลิเคชันชื่อดัง โดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนตัว เช่น กรณีการแบน TikTok ประเทศในยุโรปหลายแห่ง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงอินเดีย ประเทศเพื่อนบ้านของเนปาล หลังข้อพิพาททางเขตแดนคุกรุ่นขึ้น จนนำไปสู่การดำเนินนโยบายดังกล่าวในปี 2020
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : The Momentum / วันที่เผยแพร่ 16 พ.ย.66
Link : https://themomentum.co/report-nepal-banning-tiktok-social-harmony/