เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดียุน ซ็อค-ยอล ของเกาหลีใต้ ให้การต้อนรับและจัดเลี้ยงอาหารค่ำให้รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ที่ทำเนียบประธานาธิบดี เขาได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ ออสติน เพิ่มความระมัดระวังการโจมตีใด ๆ จากเกาหลีเหนือ รวมถึงการโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัวที่ “คล้ายยุทธวิธีของกลุ่มฮามาส”
นับแต่กลุ่มติดอาวุธฮามาสก่อเหตุโจมตีแบบข้ามพรมแดนเข้าไปในอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นักการเมืองและผู้บัญชาการทางทหารเกาหลีใต้ ได้เปรียบเทียบยุทธวิธีของกลุ่มฮามาส กับสิ่งที่เกาหลีเหนืออาจทำกับเกาหลีใต้
เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานคณะเสนาธิการร่วมระบุว่า หากเกาหลีเหนือจะทำสงครามกับเกาหลีใต้ในอนาคต มีหลักฐานบ่งชี้ว่า “เกาหลีเหนือใช้วิธีการโจมตีที่คล้ายกับการบุกโจมตีของกลุ่มฮามาส”
แล้วเกาหลีใต้เสี่ยงเผชิญกับการโจมตีคล้ายกันหรือไม่ หรือนี่เป็นเพียงเหตุผลที่จะเสริมมาตรการความมั่นคง และแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือมากขึ้น อันนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด
แต่เช่นเดียวกับอิสราเอล เกาหลีใต้อยู่ติดกับศัตรูที่ขู่จะทำลายล้างเกาหลีใต้อยู่บ่อยครั้ง
การโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ใช้วิธีการยิงจรวดข้ามพรมแดนเข้ามา พร้อมกับที่กลุ่มมือปืนรุกรานเข้ามาภาคพื้นดิน ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของ “สงครามลูกผสม”
ริว ซอง-ยอป ผู้ช่วยวิจัยของสถาบันศึกษาการทหารแห่งศตวรรษที่ 21 ชี้ว่า การทำสงครามลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือเชี่ยวชาญมาก และหากมีการใช้สงครามลูกผสม จะเป็นฝ่ายเกาหลีใต้ที่จะเผชิญความเสียหายใหญ่หลวง
ในขณะที่ฮามาสยิงจรวดกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล ในเช้าวันที่ 7 ต.ค. เกาหลีเหนือสามารถยิงจรวดได้มากถึง 16,000 รอบต่อชั่วโมง ดังนั้น เกาหลีใต้จึงกำลังพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธของตนเอง คล้ายกับไอเอิร์นโดมของอิสราเอล
เช่นเดียวกับกลุ่มฮามาส เชื่อว่า เกาหลีเหนือได้สร้างเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน ลอดผ่านใต้เขตปลอดทหาร และมีแนวโน้มว่า เกาหลีเหนือได้ซ่องสุมอาวุธ สำหรับการรุกรานในอนาคต
ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ เป็นจริงได้แค่ไหน
ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่ชาวเกาหลีใต้เผชิญหน้ามาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ความตึงเครียดในปัจจุบันระหว่างสองเกาหลี ถือว่าค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ดี การโจมตีครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีก่อน เมื่อทหารเกาหลีเหนือระดมยิงใส่เกาะของเกาหลีใต้ ทำให้นาวิกโยธินเสียชีวิต 2 นาย และพลเรือนเสียชีวิต 2 ราย
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระบุว่า ยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือได้พัฒนาขึ้นมากนับแต่นั้น หมายความว่า เป้าหมายของเกาหลีเหนือได้เปลี่ยนจากแค่ทะลวงพรมแดน แต่เป็นการทำลายล้างกรุงโซล
“ในขณะที่กลุ่มฮามาสพึ่งพาการยิงจรวดพิสัยใกล้ เกาหลีเหนือมีพิสัยการยิงที่ไกลกว่า และมีอาวุธหนักหลากหลายกว่า แสนยานุภาพการโจมตีของเกาหลีเหนือมีมากกว่ากลุ่มฮามาสหลายเท่าตัว” ฮง มิน ผู้อำนวยการแผนกวิจัยเกาหลีเหนือ ของสถาบันเพื่อการรวมชาติเกาหลี กล่าว
อย่างไรก็ดี โช ซอง รยูล อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลเกาหลีใต้ ชี้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกาหลีเหนือพุ่งเป้าไปที่การยกระดับและเพิ่มคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ให้มากขึ้น โดยอ้างว่า ได้พัฒนาขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้แล้ว นั่นหมายความว่าเกาหลีเหนือไม่มีเหตุผลที่จะใช้ยุทธศาสตร์การโจมตีแบบกลุ่มฮามาส “เกาหลีเหนือเป็นชาติอธิปไตยที่มีกองทัพของตัวเองและอาวุธนิวเคลียร์”
ปัจจุบัน โช ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านการศึกษาทางทหาร มหาวิทยาลัยคยุงนัม ยังมองว่า เกาหลีเหนือ “ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเข้าสู่สงครามในเวลานี้” เพราะเป็นรัฐอิสระเรียบร้อยแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยังตอกย้ำว่า หากโจมตีเกาหลีใต้ นั่นหมายถึงจุดจบของระบอบคิม จอง อึน ซึ่งเป้าหมายสำคัญของผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือตลอดมา คือ ความอยู่รอดของระบอบคิม
แม้กระนั้น การโจมตีอิสราเอลทำให้รัฐบาลสายอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ ตั้งคำถามว่า ความมั่นคงตลอดแนวชายแดนนั้นแข็งแกร่งเพียงพอหรือไม่ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดนี้ แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ ให้ความสำคัญกับแสนยานุภาพทางทหาร และภัยคุกคาม มากกว่าเน้นเจรจาและเข้าหาเกาหลีเหนือ
รัฐบาลเกาหลีใต้ชุดนี้ ยังวิจารณ์ข้อตกลงทางทหารที่ลงนามกับเกาหลีเหนือเมื่อปี 2018 ภายใต้รัฐบาลชุดก่อน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งการต่อสู้และการโจมตีข้ามพรมแดน
ข้อตกลงดังกล่าวได้จัดตั้งพื้นที่ห้ามบิน ห้ามสองเกาหลีส่งอากาศยานทางทหาร หรืออุปกรณ์สอดแนมใกล้กับพรมแดน
เกาหลีใต้ยังเพิ่งแต่งตั้งรัฐมนตรีกลาโหม ชิน วอน-ซิค ที่เสนอให้ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว เพื่อส่งโดรนสังเกตการณ์ไปคอยติดตามความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ
“ข้อตกลงทางทหารเมื่อปี 2018 จำกัดศักยภาพการสอดแนมและลาดตระเวนของเราอย่างมาก” ชิน กล่าว ภายหลังการโจมตีอิสราเอลของฮามาส เขายังเสริมอีกว่า หากอิสราเอลจับตาพรมแดนติดกับกาซาให้ดี จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้มาก
แม้เกาหลีเหนือจะละเมิดข้อตกลงดังกล่าวหลายครั้งนับแต่ปี 2018 แต่จำนวนการปะทะกันระหว่างสองเกาหลีก็ลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากยกเลิกข้อตกลง จะยิ่งทำให้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เกาหลีเหนือตัดสินใจโจมตีเกาหลีใต้ได้มากขึ้น
“การยกเลิกข้อตกลงอาจช่วยเพิ่มศักยภาพการสังเกตการณ์แบบเรียลไทม์ได้บริเวณพรมแดน แต่ก็ไม่ได้เพิ่มมากนัก” ฮง มิน จากสถาบันเพื่อการรวมชาติเกาหลี ระบุ
ฮง กล่าวอีกว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ควรจะให้ความสนใจกับการยับยั้งเกาหลีเหนือไม่ให้โจมตีเกาหลีใต้ได้ตั้งแต่แรก “ถึงตอนนี้ ไม่มีประเทศใดที่สามารถป้องกันตนเองจากคลังแสงของเกาหลีเหนือได้อย่างสมบูรณ์ หากเกาหลีเหนือตัดสินใจโจมตีด้วยทุกอย่างที่มี”
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : บีบีซีไทย / วันที่เผยแพร่ 15 พ.ย.66
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cg6p1xqw07eo