สายเคเบิลใต้ทะเล ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานชิ้นสำคัญต่อระบบโทรคมนาคม ถูกใช้งานในฐานะตัวกลางการส่งสัญญาณขนาดใหญ่ ช่วยให้เราสามารถรับ – ส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารโทรคมนาคมจนมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย
สายเคเบิลใต้ทะเลโดยมากได้รับการวางฝังไว้ใต้ทะเลผ่านช่องทางต่าง ๆ ถือเป็นหัวใจของระบบโทรคมนาคม ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสายเคเบิลเหล่านี้ หลายครั้งผู้ใช้งานจะสามารถรับรู้ถึงผลกระทบได้ทันทีจากอาการหนืด ช้า หรือติดขัดในการรับ – ส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต จึงถือว่าเป็นเครือข่ายที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ล่าสุดเคเบิลใต้ทะเลไม่เพียงใช้งานสำหรับโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว แต่เริ่มมีการพัฒนาให้สามารถรองรับการตรวจจับแผ่นดินไหวแล้วเช่นกัน
การใช้เคเบิลใต้ทะเลตรวจสอบแผ่นดินไหว
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจากบริษัทเทคโนโลยี SLB กับแนวคิดในการใช้เครือข่ายเคเบิลใต้ทะเลตรวจจับแผ่นดินไหวในชื่อ Distributed Acoustic Sensing (DAS) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในตรวจสอบแผ่นดินไหว จนสามารถแจ้งเตือนประชาชนภายในพื้นที่เสี่ยงให้ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินเร็วยิ่งขึ้น
แนวคิดนี้เริ่มต้นจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวจากช่องสัญญาณสายเคเบิลใต้ทะเล 8,960 ช่อง เป็นระยะเวลา 4 วัน ก่อนพบว่าพวกเขาตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหว 3 ครั้ง โดยแบ่งออกเป็นบนบก 1 ครั้ง และใต้ทะเล 2 ครั้ง นำไปสู่แนวคิดการเปลี่ยนเครือข่ายเคเบิลใต้ทะเลให้เป็นระบบตรวจจับแผ่นดินไหว
กลไกการทำงานของระบบ DAS เกิดจากการใช้ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ในการตรวจสอบข้อมูลสัญญาณที่ได้รับมาจากสายเคเบิลใต้ทะเล ซึ่งจะช่วยให้สามารถรองรับและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้แบบเรียลไทม์ และสามารถตอบสนองแจ้งเตือนเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวได้ทันท่วงที
จุดเด่นสำคัญของ DAS คือ ระบบตรวจจับของพวกเขาสามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวได้ดีกว่าสถานีตรวจจับแผ่นดินไหวทั่วไป ทั้งในด้านความเร็วและความแม่นยำในการตรวจวัดข้อมูล เนื่องจากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวหลายแห่งอยู่บนพื้นดิน ทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าเมื่อเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกใต้ผืนน้ำ
นอกจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งข้อดีของระบบ DAS คือความครอบคลุม ปัจจุบันเรามีสถานีเคเบิลใต้ทะเลกว่า 1,500 แห่งที่พร้อมสำหรับใช้ในการตรวจจับแผ่นดินไหว อีกทั้งการติดตั้งระบบนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการรับ-ส่งข้อมูลที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบโทรคมนาคม
นั่นทำให้ในอนาคตเคเบิลใต้ทะเลอาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการตรวจจับแผ่นดินไหวก็เป็นได้
ประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่าน เมื่อเคเบิลใต้ทะเลกำลังจะตกยุค
การพัฒนาระบบ DAS เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเฝ้าระวังภัยพิบัติ โดยเฉพาะหัวใจสำคัญในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเคเบิลใต้ทะเล โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบโทรคมนาคม ที่อาจช่วยให้ทั่วโลกมีความพร้อมในการตรวจจับและรับมือแผ่นดินไหวมากขึ้น
เมื่อพูดถึงเครือข่ายเคเบิลใต้ทะเลแน่นอนว่า นี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีการใช้งานแพร่หลาย หากสามารถเปลี่ยนเครือข่ายนี้มาใช้สำหรับตรวจจับและเตือนภัยแผ่นดินไหวได้ นี่จะกลายเป็นระบบเตือนภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดและมีอัตราครอบคลุมแทบทุกพื้นที่บนโลก ทำให้เราสามารถตรวจสอบแผ่นดินไหวได้อย่างไม่ตกหล่น
ประการต่อมาคือ นี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีการใช้งานอยู่ก่อน จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมมากนัก สามารถใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่คู่กับระบบประมวลผลที่ได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะก็พร้อมสำหรับใช้งาน นี่จึงเป็นระบบที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง
นอกจากนี้ หลายท่านอาจยังไม่ทราบ แต่ในอนาคตเป็นไปได้ว่าเครือข่ายเคเบิลใต้ทะเลอาจเป็นของตกยุคที่ไม่ถูกใช้งานและได้รับความสำคัญอีกต่อไป จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเร่งพัฒนาระบบการส่งข้อมูลไร้สายให้ทันสมัยด้วยเช่นกัน
การส่งข้อมูลไร้สายได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตดาวเทียมจากคลื่นวิทยุ Starlink หรือระบบส่งข้อมูลผ่านเลเซอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google ที่แม้ปัจจุบันอาจยังมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่า แต่นี่จะกลายเป็นอนาคตของระบบโทรคมนาคม
เมื่อวันนั้นมาถึง เครือข่ายเคเบิลใต้ทะเลนี้อาจลดความสำคัญลง ในกรณีเลวร้ายอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานอีกต่อไปซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง แต่การมาถึงของระบบตรวจจับแผ่นดินไหวนี้ จะช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเคเบิลใต้ทะเลนี้ต่อไปได้ โดยไม่ต้องปล่อยทิ้งหรือเก็บกู้ขึ้นมาให้ปวดหัว
ถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและนำของที่มีอยู่กลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยกล่าวว่า ระบบ DAS ยังอยู่ในขั้นระหว่างการพัฒนา จำเป็นต้องได้รับการป้อนข้อมูลและทดลองใช้เพิ่มเติมอีกมาก โดยเฉพาะข้อมูลของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เพื่อนำมาป้อนข้อมูลแก่ปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขา รวมถึงยังต้องมีการทดสอบอีกหลายด้านเพื่อนำมาใช้ในสถานการณ์จริง
เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่า ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวจากเคเบิลใต้ทะเลนี้จะพร้อมใช้งานจริงเมื่อใด
บทความโดย เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : Post Today / วันที่เผยแพร่ 6 พ.ย.66
Link : https://www.posttoday.com/international-news/701450