รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ จับโจร Hell Angles ไบโอเมตริกซ์คือพระเอก สุดคุ้มได้ทั้งเงินและชื่อ
แม้จะถูกด้อยค่า จนกลายเป็นคดีคาอยู่ใน ป.ป.ช. อยู่ในเวลานี้ แต่ระบบไบโอเมตริกซ์ หรือการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม. ก็ได้แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของระบบนี้ ครั้งแล้วครั้งเล่า
พูดง่าย ๆ ว่า นี่เป็นระบบของจริง ใช้งานได้ผลจริง ใครก็ปฏิเสธไม่ได้
ผลงานล่าสุดของระบบไบโอเมตริกซ์ คือ คดีที่ สตม. รวบตัวนายเอเลียส คนร้ายชาวออสเตรเลีย สมาชิกระดับแกนนำของแก๊งมาเฟียฮาร์เลย์เดวิดสัน ที่มีเครือข่ายในหลายประเทศทั่วโลก ชื่อว่าแก๊ง Hell Angels
เป็นผู้ต้องหารายสำคัญของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีหมายจับติดตัวถึง 38 คดี เป็นความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน 36 คดี ความผิดเกี่ยวกับการนำเข้ายาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 1 คดี และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 1 คดี
อีกทั้งยังมีประวัติอาชญากรรมเกี่ยวกับการทำร้ายเจ้าหน้าที่และการปล้นทรัพย์ด้วย
เบื้องหลังที่มาเฟียจิงโจ้จนมุม ก็เพราะ สตม. นำลายนิ้วมือของคนร้าย ไปสแกนสืบค้นกับระบบไบโอเมตริกซ์ จนพบว่า นายเอเลียส เดินทางเข้าประเทศไทย ด้วยหนังสือเดินทางของประเทศอิตาลี ในชื่อของ Mr. Gjini ซึ่งมีการแจ้งหายไว้ก่อนแล้ว โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยวประเภทที่อยู่ในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน
จากนั้น ก็ใช้พาสปอร์ตชื่อ Mr. Gjini แต่ภาพใบหน้าเป็นของนายเอเลียส ในการยื่นขอต่ออายุวีซ่า
เมื่อ สตม.ตรวจพบว่าเป็นคนร้ายคนสำคัญของประเทศออสเตรเลีย ทางสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้ขอลายนิ้วมือคนร้ายจากระบบไบโอเมตริกซ์ เอาไปตรวจสอบซ้ำ
ก็ได้รับการยืนยันว่า เป็นคนร้ายที่ทางการออสเตรเลีย ต้องการตัวจริง นำมาสู่การจับกุมตัว
ที่จริงแล้ว นี่เป็นแค่หนึ่งในหลาย ๆ คดี การจับกุมคนร้ายข้ามชาติ อันประสบความสำเร็จเพราะระบบไบโอเมตริกซ์
นับจาก สตม. เริ่มนำไบโอเมตริกซ์มาใช้งาน เมื่อปี 2562 เป็นต้นมา ก็สามารถจับกุมผู้ต้องหาใช้พาสปอร์ตปลอมได้โดยตลอด
จนถึงวันนี้ นับจำนวนค่าปรับที่ได้จากผู้ต้องหา ระบบไบโอเมตริกซ์สามารถนำเงินเข้าประเทศได้แล้วถึง 1,642,436,950 บาท หรือกว่า 1,600 ล้านเข้าไปแล้ว
ทั้งที่มีช่วงเวลาที่คนต่างชาติ เดินทางเข้าไทยน้อยมาก ตอนที่มีการระบาดของโควิด 19 การจับกุมคนร้ายด้วยไบโอเมตริกซ์ในช่วงเวลานั้น จึงน้อยลงไปเป็นเงาตามตัว
ขณะที่งบลงทุนกับระบบไบโอเมตริกซ์ เป็นเงิน 2,100 ล้านบาทเศษ หรือกล่าวได้ว่า จนถึงขณะนี้ ค่าปรับที่ไบโอเมตริกซ์ช่วยเก็บมาได้ ก็มีมูลค่าใกล้ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว
ปัญหาของไบโอเมตริกซ์ คือ มันเป็นโครงการที่ถูกร้องเรียนให้ ป.ป.ช.สอบสวน ผู้ถูกกล่าวหา ประกอบด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ผบช.สำนักงานส่งกำลังบำรุง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผบช.ภาค 7 ยศและตำแหน่งขณะนั้น
ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ มีมติเอกฉันท์ ให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 แล้ว เมื่อเดือน ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา
กลายเป็นวิบากกรรมติดตัวคนทำโครงการนี้ แต่เบื้องหลังการร้องเรียนครั้งนี้ ว่ากันว่าเป็นฝีมือของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับบิ๊กแป๊ะ
โดยคนเขี่ยลูกก็คือ “ทนายตั้ม” นายษิทรา เบี้ยบังเกิด บุกยื่นร้องเรียน ป.ป.ช. เมื่อปี 2562 อ้างว่าทำในนามประชาชน
ส่วนคนยิงประตูถล่ม เปิดตัวมาเป็นพยานปากเอกของคดีนี้ ก็คือ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ลุยแบบเปิดหน้าชนบิ๊กแป๊ะ กล่าวหาว่า การจัดซื้อไบโอเมตริกซ์ 2,100 ล้านบาท มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ในการเลื่อนส่งมอบงาน และอื่นๆ อีกหลายประเด็น
ตอนนั้น ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า บิ๊กโจ๊กเอาเรื่องไบโอเมตริกซ์ ไปเชื่อมโยงกับความขัดแย้งส่วนตัวกับบิ๊กแป๊ะ
ความขัดแย้งของ 2 บิ๊ก อยู่ในระดับดุเดือดเลือดพล่าน
คำตอบที่ว่า ทำไมทนายตั้ม ถึงกล้าเสี่ยง ออกมาฟัดกับคนเป็น ผบ.ตร. เวลานั้น ก็ดูได้จากคลิปร้องเพลงคาราโอเกะ ระหว่างบิ๊กโจ๊กกับเจ้าแม่เว็บพนัน “มินนี่” ซึ่งคนที่ยืนบนเวทีด้วย ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ทนายตั้มนี่เอง
เป็นหลักฐานแวดล้อมที่ชี้ว่า ทนายตั้มเป็นเครือข่ายขบวนการเดียวกันกับบิ๊กโจ๊ก เลยร่วมมือกันเปิดศึกกับบิ๊กแป๊ะ
ถึงที่สุด สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ระบบไบโอเมตริกซ์ของ สตม. มันใช้งานได้จริง เป็นระบบมาตรสากล ซึ่งเมืองไทยจำเป็นต้องมีไว้ใช้งาน
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 10 ธ.ค.66
Link : https://mgronline.com/crime/detail/9660000110830