อัลแบรต์ กามูส์ (ปี 2456-2503) เป็นนักเขียนนวนิยาย บทละครและความเรียงเชิงปรัชญาชาวฝรั่งเศส เกิดและเติบโตในอาณานิคมแอลจีเรีย (แอฟริกา) ของฝรั่งเศส
คนไทยแปลและพิมพ์วรรณกรรมของเขาออกมาหลายเล่ม และขายได้ค่อนข้างดีด้วย นวนิยายที่เด่นที่สุดคือ เรื่อง คนนอก หรือ คนแปลกหน้า ที่มีผู้แปลเป็นไทยไว้ 2 สำนวน
มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคมแปลและพิมพ์งานของกามูส์หลายเล่ม เช่น คนแปลกหน้า และ ผู้ตกต่ำ (นวนิยาย) ผู้เที่ยงธรรม (บทละคร) และ เทพตำนานซีซีฟ (ความเรียง)
นอกจากเป็นนักเขียนนวนิยายผู้มีชื่อเสียง ได้รับรางวัลโนเบลตั้งแต่วัยหนุ่มแล้ว กามูส์ยังมีแง่คิดจากปรัชญาชีวิตและสังคมที่น่าสนใจ แนวคิดของกามูส์มีความกว้างขวาง ซับซ้อน มากกว่าน่าจะประทับตราว่าเขามีปรัชญาแบบไหน (กามูส์ปฏิเสธที่จะถูกประทับตราว่าเป็นพวกปรัชญา Existentialism มนุษย์เป็นอิสรชนที่มีเจตจำนงเสรีในการตัดสินใจเองและต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง) แม้ว่าแนวคิดในนวนิยายของเขามีแนวโน้มไปในทางนั้น
รูปจาก: คนบ้าหนังสือ – Madman Books
กามูส์เรียนมาทางปรัชญาและอ่านหนังสือมาก ได้รับอิทธิพลจากนักปรัชญาตั้งแต่ยุคกรีกโรมันโบราณ (เช่น ปรัชญาสโตอิก) ปรัชญามนุษยนิยม และนักปรัชญาฝ่ายซ้าย เช่น คาร์ล มาร์กซ์ บูกานิน ฯลฯ ผสมผสานกัน รวมทั้งจากภูมิหลังของเขาซึ่งมาจากชาวฝรั่งเศสที่ยากจนในประเทศอาณานิคม
หนังสือความเรียงเรื่อง มนุษย์กบฏ ของกามูส์ เปิดฉากด้วยประโยคที่คนจะอ้างอิงกันบ่อย “กบฏคืออะไร กบฏคือคนที่ตอบว่า ไม่” แต่ความจริงยังมีประโยคต่อไปที่อธิบายมากขึ้นว่า ไม่ได้แปลว่ากบฏปฏิเสธตนเองหรือปฏิเสธทุกอย่าง
ในบางกรณีเมื่อกบฏต้องการยืนยันสิ่งที่เขาคิด หรือปรารถนาให้เกิดขึ้น เขาจะตอบว่า “ใช่” นั่นก็คือ กบฏ มีความเชื่อ/เป้าหมายของเขาในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่มนุษย์มีศักดิ์ศรี มีความหมายมากกว่าสังคมที่ที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในยุคนั้น กบฏไม่ได้ตอบว่า “ไม่” ไปทุกเรื่อง
“เพราะฉันกบฏ พวกเราจึงมีชีวิตอยู่” กามูส์มองว่า แม้กบฏจะเป็นความคิดที่อาจเริ่มจากปัจเจกชน แต่เขาคิดถึงคนอื่นๆ ในสังคมด้วย การกบฏของคนบางคน ทำให้คนอื่นๆ ได้มีชีวิตอยู่
กามูส์มองว่าการกบฏเป็นเรื่องที่เกิดมาตลอดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และยังคงจะเกิดขึ้นตลอดไป เพราะสังคมมนุษย์มีความขัดแย้งในเรื่องอำนาจ การจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การเมือง และเรื่องอื่นๆ อยู่เสมอ
การกบฏเกิดขึ้นเพื่อหวังสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม แม้การปฏิวัติที่เกิดขึ้นจริง เช่น การปฏิวัติประชาธิปไตยในฝรั่งเศส, การปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซีย จะนำไปสู่การใช้รุนแรง และอำนาจของผู้ปกครองชุดใหม่ ที่ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง นั่นเป็นเรื่องเฉพาะกรณี แต่สปิริต ความคิดจิตใจของกบฏผู้ใฝ่ฝันถึงโลกที่ดีกว่า ยังมีคุณค่าอยู่เสมอ
กามูส์ค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวทางของสังคมนิยมแนวอิสรเสรี แบบพวกสหภาพแรงงานนิยมแนวอนาคิสต์ (ประชาชนจัดการตนเอง) Anarchist-Syndicalist ที่ต่อสู้ในแนวทางสามัคคีคนงาน คัดค้านทั้งระบบทุนนิยมและอำนาจรัฐบาลกลาง ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ แต่กามูส์เป็นพวกแนวทางสายกลาง (Moderate) ไม่สุดโต่ง รุนแรง ไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้าย สงคราม โทษประหารชีวิต
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเขาเข้าร่วมขบวนการเสรีฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านเยอรมันนาซี แม้จะทำงานด้านการเขียน/ทำหนังสือเผยแพร่แนวคิดมากกว่าไปสู้รบ
กามูส์ถูกวิจารณ์จากพวกฝ่ายซ้ายแบบมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ (รวมทั้งขัดแย้งกับ ญัง ปอล ซาตร์ เพื่อนนักเขียนชาวฝรั่งเศสด้วย) และจากพวกชาตินิยมหัวรุนแรงแอลจีเรีย เพราะกามูส์เลือกอยู่แบบเป็นกลาง ไม่สนับสนุนขบวนการชาตินิยมแอลจีเรียที่ต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศส เพราะเขาเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายใช้ความรุนแรงด้วยกันทั้งคู่
แต่เขาก็เขียนวิจารณ์รัฐบาลฝรั่งเศสว่าใช้ความรุนแรงเกินเหตุ เขาเห็นว่าควรมีการเจรจาและตกลงอยู่ร่วมกันอย่างสันติแบบเสมอภาค ประชาธิปไตยมากขึ้น
กามูส์อธิบายเรื่องที่เขาเป็นกลางในสงครามแอลจีเรียว่า “พวกต่อต้านรัฐบาลวางระเบิดรถเมล์สาธารณะในเมืองแอลเจียร์ ซึ่งแม่ผมอาจจะนั่งอยู่ในรถเมล์คันนั้น ถ้าพวกคุณเรียกว่านี่ความยุติธรรม ผมเลือกชีวิตแม่ผมมากกว่า ‘ความยุติธรรม’ ของพวกคุณ”
เราต้องอ่านข้อความนี้ทั้งหมด จึงจะเข้าใจ เพราะการที่บางคนตัดตอนแบบอ้างเฉพาะประโยคท้าย ทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจว่าทำไมเขาจึงเลือกแม่มากกว่าความยุติธรรม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เขารักความเป็นธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่แบบโฆษณาชวนเชื่อ
แม้กามูส์บางครั้งจะมองโลกในเชิงปรัชญาว่าไร้ความหมาย มีความขัดแย้งและปัญหาไม่จบสิ้น แต่เขาก็ไม่ท้อแท้ ยังคงมีความหวังในการต่อสู้ของมนุษย์ ดังจะเห็นได้ชัดจากบทความที่เขาเขียนในปี 2483 ช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังขยายตัวรุนแรงที่สุดในยุโรป ผู้คนล้มตายหลายสิบล้านคน
“ภาระของเราในฐานะมนุษย์ คือการหาหลักการบางอย่างที่จะสงบความรู้สึกขุ่นเคืองของจิตวิญญาณเสรี เราต้องซ่อมแซมสิ่งที่ถูกฉีกขาด ทำให้ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่จินตนาการได้อีกครั้งหนึ่ง ในโลกที่เห็นได้ชัดว่าเป็นโลกที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ความสุขมีความหมายขึ้นมาใหม่สำหรับคนที่ถูกวางยาด้วยความทุกข์ยากของศตวรรษนี้
แน่ละ โดยธรรมชาติแล้ว นี่เป็นภาระสำหรับคนแบบยอดมนุษย์ (Superhero) แต่คำนี้มีความหมายแค่ว่า เราจะต้องใช้เวลานานขึ้นในการจะทำให้สำเร็จเท่านั้น”
ดังนั้น ขอให้เราจงรู้เป้าหมายในชีวิตของเรา ยึดมั่นความคิดจิตใจนี้อย่างเข้มแข็ง แม้ว่าพลังแห่งอำนาจจะพยายามหลอกล่อให้เราคิดอย่างอื่นก็ตาม
สิ่งแรกคืออย่าท้อถอย ขอให้เราอย่าไปฟังพวกที่ชอบประกาศว่าโลกนี้กำลังถึงจุดจบแล้ว อารยธรรมของโลกไม่ได้ตายได้ง่ายๆ และถึงแม้ว่าโลกเราอาจจะพังทลาย มันก็จะไม่ใช่เป็นครั้งแรก
เป็นความจริงที่ว่าเราอยู่ในยุคสมัยที่น่าเศร้า แต่คนจำนวนมากมองคำว่า “โศกนาฏกรรม” (Tragedy) สับสนปนเปไปกับคำว่า “ท้อถอยหมดหวัง” (Despair) โศกนาฏกรรมควรจะเป็นอย่างที่ดีเอช ลอว์เรนซ์ เคยกล่าวไว้ว่า “มันควรจะเป็นการเตะความทุกข์ยากอย่างแรง” นี่คือแนวคิดที่สร้างสรรค์ และประยุกต์ใช้ได้ในตอนนี้ มีหลายสิ่งในโลกนี้ที่สมควรจะถูกเตะอย่างแรง
(จากความเรียงของกามูส์เรื่อง The Almond Trees)
บทความโดย รศ.วิทยากร เชียงกูล | ปฏิรูปประเทศไทย
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 ธ.ค.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/world/1104361