• กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ยกระดับการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง เพื่ออ้างว่าต่อต้านอิสราเอล ที่สังหารผู้คนมากมายในฉนวนกาซา
• การโจมตีของฮูตีทำให้บริษัทขนส่งรายใหญ่เริ่มเลี่ยงเส้นทางทะเลแดง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป
• ขณะเดียวกัน นานาชาติก็เริ่มถูกดึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งครั้งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจ 10 ประเทศ เพื่อคุ้มครองการเดินเรือในทะเลแดงแล้ว
ฮูตี กลุ่มกบฏในเยเมนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่าน ยกระดับการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงมากขึ้นตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อ้างว่า ทำเพื่อล้างแค้นอิสราเอลที่มีปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ต้องสูญเสียชีวิตไปมากกว่า 18,000 ศพ
กลุ่มกบฏฮูตี เป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งในสงครามกลางเมืองเยเมนที่ดำเนินมานานเกือบ 10 ปี ยึดภาคเหนือของประเทศ และบางส่วนของเมืองหลวงเอาไว้ได้สำเร็จ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮูตีโจมตีอิสราเอลหลายครั้ง โดยแสดงตัวว่าสนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอักษะต่อต้านตะวันตกของพวกเขา
ขณะที่การโจมตีเรือในทะเลแดงกำลังสร้างความปวดหัวอีกแบบให้แก่อิสราเอลและชาติพันธมิตร นั่นคือผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตอนนี้บริษัทขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่ และบริษัทน้ำมันบางเจ้า เริ่มระงับการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบในทะเลแดง อันเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญที่สุดของโลกแล้ว
ความเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกก็กำลังดึงหลายประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้ง เพราะล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจ 10 ประเทศ เพื่อคุ้มกันน่านน้ำทะเลแดง ส่วนฝ่ายกบฏฮูตีก็ยืนกรานว่า พวกเขาจะไม่หยุดโจมตีจนกว่าอิสราเอลจะยุติสงครามในฉนวนกาซา
กำเนิดกลุ่มเคลื่อนไหว ฮูตี
กลุ่มเคลื่อนไหว ฮูตี หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘อันซารัลเลาะห์’ (ผู้สนับสนุนพระเจ้า) เป็นฝ่ายหนึ่งในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเยเมนมานานเกือบ 10 ปีแล้ว โดยพวกเขาปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 90 เมื่อผู้นำของพวกเขาอย่าง ฮุสเซน อัล-ฮูตี เริ่มการเคลื่อนไหว ‘เยาวชนผู้ศรัทธา’ (Believing Youth) เพื่อฟื้นฟูศาสนาอิสลามนิกาย ‘ซายดิซึม’ (Zaidism) ซึ่งเป็นนิกายย่อยของชีอะห์
ผู้นับถือนิกายซายดิส (Zaidis) ปกครองเยเมนมานานหลายศตวรรษ แต่กลับถูกลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ ภายใต้การปกครองของรัฐบาลนิกายสุหนี่ ซึ่งขึ้นมามีอำนาจหลังสงครามกลางเมืองในปี 2505 ความเคลื่อนไหวของ อัล-ฮูตี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนชาวซายดิส และต่อต้านเหล่าสุหนี่หัวรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่ม วะฮาบีย์ (Wahhabi) จากซาอุดีอาระเบีย
ในตอนแรก นายอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ประธานาธิบดีคนแรกของเยเมนนับตั้งแต่การรวมตัวของเยเมนเหนือกับใต้ในปี 2533 สนับสนุนกลุ่ม เยาวชนผู้ศรัทธา แต่เมื่อความเคลื่อนไหวเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และแนวคิดต่อต้านรัฐบาลเริ่มชัดเจนมากขึ้น จนเริ่มเป็นภัยคุกคามต่อนายซาเลห์ และสถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก เมื่อเขาสนับสนุนการบุกอิรักของสหรัฐฯ ที่ชาวเยเมนจำนวนมากคัดค้าน
สำหรับ อัล-ฮูตี รอยร้าวนี้คือโอกาส เขาใช้กระแสความไม่พอใจของสังคมจัดการประท้วงขนาดใหญ่ขึ้นหลายครั้ง เดือนแล้วเดือนเล่า จนซาเลห์ออกหมายจับเขา ก่อนที่ อัล-ฮูตี จะถูกกองทัพเยเมนสังหารในเดือนกันยายน 2547
ฮูตี กลุ่มกบฏแห่งเยเมน
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่มีผู้เข้าร่วมฝ่ายติดอาวุธของกลุ่มฮูตี มากขึ้นเรื่อย ๆ ประจวบเหมาะกับเกิดเหตุการณ์คลื่นปฏิวัติในโลกอาหรับที่เรียกว่า ‘อาหรับสปริง’ ในปี 2554 กลุ่มฮูตีก็ลุกฮือขึ้นยึดจังหวัดซาดา ทางเหนือของเยเมนเอาไว้ได้ และเรียกร้องให้ยุติการปกครองของซาเลห์
ในปีเดียวกันนั้น นายซาเลห์ยอมตกลงส่งมอบอำนาจต่อให้รองประธานาธิบดี อับด์-รับบู มานซูร์ ฮาดี แต่รัฐบาลนี้ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปแล้ว และกลุ่มฮูตีก็ลงมืออีกครั้งในปี 2557 ยึดการควบคุมพื้นที่บางส่วนของกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน ก่อนจะบุกทำเนียบประธานาธิบดีในช่วงต้นปี 2555 จนนายฮาดีต้องหนีไปซาอุดีอาระเบีย
นายฮาดีร้องขอให้ซาอุดีอาระเบียช่วยเหลือเขาทวงอำนาจกลับคืนมา ซึ่งรัฐบาลซาอุฯ ก็ตัดสินใจเริ่มทำสงครามกับกลุ่มกบฏฮูตีในเดือนมีนาคม 2558 แต่สงครามที่คาดกันในตอนแรกว่าจะจบลงอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปี กลับยืดเยื้อออกไปจนกระทั่งทั้ง 2 ฝ่ายตกลงหยุดยิงกันได้ในปี 2563 และถึงแม้ข้อตกลงจะล่มภายในเวลา 6 เดือน แต่ทั้งซาอุฯ กับฮูตี ก็ไม่ได้กลับไปรบพุ่งเต็มรูปแบบเหมือนที่ผ่านมาอีก
หลังการหยุดยิง กบฏฮูตีได้ขยายอำนาจการควบคุมของพวกเขาไปยังพื้นที่ภาคเหนือของเยเมนเกือบทั้งหมด และหาทางทำข้อตกลงกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อทำให้สงครามจบลงอย่างถาวร และเสริมบทบาทของพวกเขาในฐานะผู้ปกครองเยเมน ส่วนฝ่ายซาอุฯ ที่เหนื่อยล้าจากสงคราม ก็พยายามหาทางออกจากความขัดแย้ง แต่จนถึงตอนนี้ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังไม่มีการทำข้อตกลงหยุดยิงถาวรแต่อย่างใด
ทำไมฮูตีมายุ่งในสงครามอิสราเอล
กบฏฮูตี ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งยกระดับความช่วยเหลือในปี 2557 ตอนที่สงครามกลางเมืองในเยเมนขยายตัวขึ้น เช่นเดียวกับความขัดแย้งกับประเทศคู่อริของพวกเขาอย่าง ซาอุดีอาระเบีย โดยอิหร่านจัดหาทั้งอาวุธและเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้กบฏฮูตี เช่น ทุ่นระเบิด, มิสไซล์, ขีปนาวุธร่อน และโดรน
ฮูตียังเป็นส่วนหนึ่งของ ‘กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน’ (Axis of Resistance) อันเป็นพันธมิตรกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านอิสราเอลและชาวตะวันตกในตะวันออกกลางที่มีอิหร่านเป็นผู้นำ เช่นเดียวกับกลุ่มฮามาส ในฉนวนกาซา และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ของเลบานอน
ความเป็นพันธมิตรนี้เองอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้ฮูตีตัดสินใจโจมตีอิสราเอล ที่กำลังโจมตีกลุ่มฮามาสอย่างหนัก แต่นักวิเคราะห์บางคนก็มองว่า ฮูตีทำเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนภายในประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของขุมอำนาจหลักในเยเมนที่กล้าท้าทายอิสราเอล
วิธีการนี้จะช่วยให้กบฏฮูตีมีชัยเหนือคู่แข่งในประเทศ และรวมชาวเยเมนเป็นหนึ่งภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือ ปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์ และแยกตัวออกมาจากรัฐบาลชาติอาหรับอื่นๆ ที่ยังไม่ยอมมีมาตรการรุนแรงเพื่อลงโทษอิสราเอล เนื่องจากพวกเขากำลังหาทางฟื้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลยิวให้กลับสู่ระดับปกติ
กบฏฮูตียึดเรือสินค้า Galaxy Leader ในทะเลแดง
โจมตีทะเลแดงป่วนเศรษฐกิจ
จริงอยู่ว่า ข้อจำกัดด้านภูมิประเทศและเทคโนโลยี ทำให้กบฏฮูตีขาดขีดความสามารถในการโจมตีอิสราเอล ต่างจากกลุ่มฮามาสหรือฮิซบอลเลาะห์ แต่พวกเขาสามารถสร้างความวุ่นวายในทะเลแดงได้ โดยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรือสินค้าถูกโจมตีหรือถูกปิดล้อมมากกว่า 12 ลำ โดยที่บางลำไม่มีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอลด้วยซ้ำ
การโจมตีทะเลแดงสร้างความปวดหัวอีกแบบให้แก่อิสราเอลและชาติพันธมิตร นั่นคือผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญของทะเลผืนเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่องแคบ บับ-เอล-มันเดบ นอกชายฝั่งเยเมน ไปจนถึงคลองสุเอซ ทางเหนือของอียิปต์ ที่การค้า 12% ของโลกต้องเดินทางผ่าน
ในปี 2564 เรือสินค้าชื่อ ‘เอเวอร์ กิฟเวน’ (Ever Given) เกยตื้นขวางคลองสุเอซ เป็นเวลานานเกือบ 1 สัปดาห์ ทำให้สินค้าติดค้างอยู่ที่นั่นมูลค่าวันละกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้เกิดการติดขัดของห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบในระยะยาวกว่า
การโจมตีเรือในทะเลแดงของฮูตีทำให้เกิดความกังวลว่า มันจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก โดยในตอนนี้ บริษัทขนส่งทางทะเลที่ใหญ่ของโลกที่สุด 4 จาก 5 อันดับบน ได้แก่ เมอส์ก (Maersk), ฮาแพฟ-ลอยด์ (Hapag-Lloyd), CMA CGM และเอเวอร์กรีน (Evergreen) ตัดสินใจระงับการเดินทางผ่านทะเลแดงแล้ว ส่วนบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่าง BP ก็บอกเมื่อวันจันทร์ว่าจะทำแบบเดียวกัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น
การไม่ใช้เส้นทางทะเลแดงอาจทำให้เรือสินค้าต้องเดินทางอ้อมทวีปแอฟริกา ส่งผลให้ต้องเดินทางไกลขึ้น และค่าเบี้ยประกันสูงขึ้น บางบริษัทอาจขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และผู้ที่ต้องรับเคราะห์ก็คือผู้บริโภค และรัฐบาลทั่วโลกซึ่งกำลังพยายามอย่างหนักในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อหลังยุคโควิด-19
ดึงหลายชาติมามีเอี่ยวในความขัดแย้ง
การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงของกบฏฮูตี กำลังทำให้หลายประเทศเข้ามามีส่วนในความขัดแย้งในภูมิภาคนี้มากขึ้น อิสราเอลเตือนว่า พวกเขาพร้อมที่จะลงมือต่อต้านกบฏฮูตีด้วยตัวเอง หากประชาคมนานาชาติไม่ทำ
สหรัฐอเมริกาประกาศในวันจันทร์ว่า จะจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจนานาชาติกลุ่มใหม่ ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร, บาห์เรน, แคนาดา, ฝรั่งเศส, นอร์เวย์ และอื่นๆ รวมกว่า 10 ประเทศ เพื่อรับมือภัยคุกคามต่อเสรีทางการค้า, เป็นอันตรายต่อนักเดินเรือผู้บริสุทธิ์ในทะเลแดง และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ตอนนี้ผลกระทบจากการโจมตีในทะเลแดงของกบฏฮูตียังไม่ปรากฏออกมามากนัก แต่ความเสียหายประเภทนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งกบฏฮูตียืนยันว่า จะไม่หยุดการโจมตีเรือสินค้าจนกว่าอิสราเอลจะหยุดการก่ออาชญากรรมในฉนวนกาซา และเปิดทางส่งอาหาร, ยา และเชื้อเพลิงให้แก่ชาวปาเลสไตน์
โมฮัมเหม็ด อัล-บุไคตี เจ้าหน้าที่อาวุโสของกบฏฮูตีระบุผ่าน X ในวันอังคาร (19 ธ.ค.) ว่า “ต่อให้อเมริกาเคลื่อนกำลังมาทั้งโลกได้สำเร็จ ปฏิบัติการทางทหารของเราก็จะไม่หยุด ไม่ว่าเราจะต้องเสียสละอะไรก็ตาม”
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : cnn, theconversation, indianexpress
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 20 ธ.ค.66
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2749096