แฟ้มภาพ บอลลูนตรวจอากาศของจีนที่เคยรุกล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนต้นปี 2566 (Photo by Chase DOAK / CHASE DOAK / AFP)
กระทรวงกลาโหมของไต้หวันระบุเมื่อวันศุกร์ว่า ตรวจพบบอลลูนของจีนรุกล้ำข้ามเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศระหว่างเกาะไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมของไต้หวันออกแถลงการณ์ตรวจพบบอลลูนของจีนกำลังข้ามเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศรุกล้ำเข้ามาในดินแดนของตน
“ตรวจพบบอลลูนของสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ลูกเมื่อเวลา 11.52 น. ตามเวลาท้องถิ่น (10.52 น. ตามเวลาประเทศไทย) เมื่อวานนี้ หลังจากข้ามเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศในช่องแคบไต้หวัน โดยมีระยะห่างราว 187 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองท่าจีหลง” กระทรวงฯ ระบุพร้อมแสดงภาพกราฟิกของเส้นทางบอลลูน และเสริมว่า บอลลูนดังกล่าวมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกและหายไปเมื่อเวลา 12.55 น. (11.55 น. ตามเวลาประเทศไทย) ของวันเดียวกัน
“ความเข้าใจเบื้องต้นของเราคือ อาจเป็นบอลลูนตรวจอากาศที่ลอยไปทางไต้หวันเนื่องจากลมมรสุม” ชิว กัวเฉิง รัฐมนตรีกลาโหมไต้หวัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์
เขาเสริมว่าบอลลูนดังกล่าวสามารถใช้เพื่อรวบรวมการวิจัยและข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา เช่น ผลกระทบของแรงลม
เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงฯยังรายงานว่าตรวจพบเครื่องบินจีน 7 ลำกำลังข้ามเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ ในช่วงค่ำ
“เครื่องบินกลุ่มดังกล่าวยังได้ดำเนินการลาดตระเวนรบร่วมกับกองเรือจีน” กระทรวงฯ ระบุ และเสริมว่าได้ติดตามและตอบโต้ด้วยระบบขีปนาวุธภาคพื้นดิน
รายงานเมื่อเช้าวันศุกร์ระบุว่า เครื่องบินจีน 27 ลำได้ข้ามเส้นดังกล่าวในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และสิ้นสุดในเวลา 06.00 น.
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนเพิ่มแรงกดดันทางทหารและการเมืองต่อไต้หวัน โดยอ้างสิทธิ์มาตลอดว่าเป็นดินแดนของตน
แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะส่งเครื่องบินรบและเรือไปรอบๆ ไต้หวันเกือบทุกวัน แต่กิจกรรมในเวลากลางคืนของเครื่องบินจีนและการปรากฏตัวของบอลลูนนั้นหาได้ยาก
ซู จื่อหยุน นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมประจำสถาบันเพื่อการวิจัยการป้องกันประเทศและความมั่นคงของไต้หวัน กล่าวกับเอเอฟพีว่า ในอดีตมีบอลลูนตรวจอากาศขนาดเล็กของจีนลอยอยู่เหนือเกาะหลักของไต้หวัน และพื้นที่ห่างไกลเล็กๆ ซึ่งไม่เป็นภัยคุกคามทางทหาร แต่บอลลูนที่รุกล้ำเข้ามาล่าสุดอาจเป็นการทดสอบโดยเจตนา”
“นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ด้านอุตุนิยมวิทยาแล้ว อาจเป็นการทดสอบโดยเจตนาที่ดำเนินการโดยกองบัญชาการตะวันออกของจีนซึ่งหวังผลทางการเมือง” เขากล่าว และเสริมว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็น “การคุกคามทางการเมือง” รูปแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ปฎิเสธรายงานของไต้หวันและกล่าวว่า เขาไม่ทราบว่ามีสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น.
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยโพสต์ / วันที่เผยแพร่ 8 ธ.ค.66
Link : https://www.thaipost.net/abroad-news/498180/