ฐานทัพเรือเรียม (Ream) ที่สีหนุวิลล์ของกัมพูชา ซึ่งได้รับการปรับปรุงโดยความช่วยเหลือของจีน มีโอกาสได้ต้อนรับการเยือนของเรือรบจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นับว่าเพื่อเตรียมการฝึกร่วมกับกองทัพเรือของกัมพูชา แต่ดูเหมือนจะสร้างความตื่นเต้นให้กับสหรัฐฯ มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีทะเลติดกับกัมพูชาเสียอีก
Radio Free Asia ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน รายงานข่าวราวกับว่า เป็นเรื่องลับมาก เพราะอ้างภาพถ่ายทางดาวเทียมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม แสดงให้เห็นว่า เรือรบของกองทัพจีน 2 ลำ ซึ่งไม่สามารถระบุจากภาพนั้นได้ชัดเจนนักว่า เป็นเรือฟรีเกตหรือคอร์เวต จอดทอดสมออยู่ที่ท่าเรือเรียม แต่บอกได้ว่า แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางทหารที่ลึกซึ้งระหว่างจีนและกัมพูชา
ความจริงก็ไม่ได้มีอะไรลึกลับสักเท่าใด วันเดียวกัน เตีย เสยหา (Tea Seiha) รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของกัมพูชาได้ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ว่า เขามีโอกาสได้ติดตาม สมเด็จพิชัย เสนา เตีย บัณห์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมผู้เป็นพ่อ เพื่อต้อนรับและเยี่ยมชมเรือรบของจีนซึ่งเดินทางมาเพื่อร่วมฝึกกับกองทัพเรือของกัมพูชา พร้อมทั้งตรวจดูความคืบหน้าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของฐานทัพเรือแห่งนี้ด้วย ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมกล่าวว่า การก่อสร้างเป็นไปตามแผน และนั่นจะเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับกองทัพเรือกัมพูชา
“ขอบคุณสันติภาพ ขอบคุณการเมืองแบบที่ชนะกันทุกฝ่าย (win-win politics) ขอบคุณผู้ก่อตั้ง ผู้ให้แนวทาง ผู้ดำเนินการให้ประสบชัยชนะกันทุกฝ่ายที่นำสันติภาพและเอกภาพแห่งชาติ” เตีย เสยหา กล่าวในเฟซบุ๊กของเขาพร้อมทั้งภาพประกอบทั้งหมด 9 ภาพ ซึ่งรวมทั้งภาพเรือคอร์เวต (corvett) ของจีนด้วย
ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมทางเรือระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ แต่ เตีย เสยหา ได้โพสต์ภาพการพบปะระหว่างตัวเขาเองกับ เฮอ เว่ยตง รองประธานกรรมาธิการทหาร พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเดินทางมาเยือนกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นอกจากนี้ ยังปรากฏมีโพสต์นายพลเฮอได้พบปะกับนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต และ ประธานองคมนตรี ฮุน เซน อีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญและความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสองประเทศ
อิทธิพลทางทหารของจีนเหนือกัมพูชา เป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้กับสหรัฐฯ มากกว่าใครเพื่อน โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ ในพนมเปญ บอกกับสื่อมวลชนต่างประเทศว่า สหรัฐฯ และหลายประเทศในภูมิภาคได้แสดงความวิตกกังวลต่อการก่อสร้างฐานทัพเรือเรียม เพราะไม่รู้เจตนาและบทบาทของจีนในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ รวมถึงไม่มีความชัดเจนว่า กองทัพจีนจะสามารถเข้าไปใช้ฐานทัพเรือแห่งนี้มากน้อยเพียงใดในอนาคต
การปรับปรุงฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาได้รับความสนใจจากชุมชนนานาชาติตั้งแต่ปี 2019 แต่โครงการนี้ได้รับการเปิดเผยมากขึ้นเมื่อปีที่แล้ว สมัยที่ เตีย บัณห์ ยังเป็นรัฐมนตรีกลาโหม โดยเชิญแขกต่างประเทศจำนวนมากไปร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกทางนาวีแห่งนี้
ภายใต้ความช่วยเหลือของจีน กองทัพกัมพูชามีแผนที่จะขยายท่าเรือในฐานทัพแห่งนี้ให้ใหญ่ขึ้น 5 เท่า เพื่อให้สามารถรองรับเรือที่มีขนาดระวางขับน้ำถึง 5,000 ตัน แม้ว่าจะไม่ใหญ่พอที่จะรองรับเรือพิฆาตแบบ 055 ติดขีปนาวุธนำวิถีรุ่นใหม่ของจีนได้ก็ตาม แต่ก็เพียงพอที่จะรองรับเรือรบที่มีขนาดเล็กกว่านี้ได้ ซึ่งนั่นทำให้ตีความได้ว่าจีนสามารถใช้ประโยชน์จากฐานทัพเรือแห่งนี้ของกัมพูชาได้ไม่น้อย
หากมองจากมุมของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ อาจจะเห็นว่าฐานทัพเรือแห่งนี้จะทำให้จีนมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขยายอิทธิพลในอินโด-แปซิฟิกได้มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าจีนมีปัญหาพิพาทเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้กับหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน อย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน รวมถึงมีปัญหากระทบกระทั่งในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย
จันทร์สมบัติ บง รองผู้อำนวยการสถาบันวิสัยทัศน์เอเชีย (Asian Vision Institute) ของกัมพูชา เขียนบทความเรื่องขีดความสามารถทางทะเลของกัมพูชาเผยแพร่ใน Asia Maritime Transparency Initiative ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2023 ชี้ให้เห็นว่า กัมพูชาก็มีแผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศเป็นของตัวเอง ซึ่งแผนนั้นให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางชายแดนและการปกป้องคุ้มครองเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งมีทรัพยากรสำคัญทางด้านประมงและปิโตรเลียม อันมีความสำคัญต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ดังนั้น การพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือจะช่วยให้กัมพูชาสามารถควบคุมและจัดการทรัพยากรทางทะเลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เขตแดนทางทะเลระหว่างกัมพูชากับไทยและเวียดนามนั้นยังไม่มีความชัดเจน ว่าแต่เฉพาะกับประเทศไทยนั้น การเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลและพื้นที่ซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนกันล่าช้ามาหลายทศวรรษแล้ว แม้ว่าจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2001 แต่การเจรจาภายใต้กรอบความตกลงก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญเลย แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะได้แสดงเจตนาว่าต้องการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตรในอ่าวไทยที่เชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยก๊าซและน้ำมันมูลค่าหลายล้านล้านบาท แต่ก็ยังหาทางแปรเจตนานั้นออกมาสู่ความจริงยังไม่ได้
ส่วนเขตแดนทางทะเลกับเวียดนามนั้นเป็นมรดกตกทอดมาจากจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ที่ทำให้ทั้งสองประเทศบาดหมางกันอยู่เนือง ๆ เช่น พื้นที่บริเวณเกาะทราล (Koh Tral) หรือที่เวียดนามเรียกว่า เกาะฟูก๊วก (Phú Quốc) นั้นก็ยังไม่ลงตัว ยังไม่นับว่า เวียดนามเองก็รู้สึกหวาดระแวงจุดยืนของกัมพูชาว่าจะเข้าข้างจีนในปัญหาทะเลจีนใต้ซึ่งเวียดนามพิพาทกับจีนอยู่
จันทร์สมบัติบอกว่า เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่การพิจารณาเรื่องการพัฒนาฐานทัพเรือเรียมนั้นมองแค่มุมของการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และปัญหาทะเลจีนใต้เท่านั้น หากมองจากมุมของยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทะเลของกัมพูชาบ้าง น่าจะได้มองเห็นความจริงที่ว่า กัมพูชาเป็นประเทศที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเรื่องกิจการทะเล สถาบันและบุคลากรทางด้านการนาวีก็ขาดแคลนและไม่เข้มแข็ง ยังไม่นับว่าโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของกองทัพเรือไม่เพียงพอ เอาแค่จะลาดตระเวนปกป้องคุ้มครองน่านน้ำของตัวเองก็ยังยาก การสื่อสารระหว่างเรือกับกองบังคับการบนฝั่งกระท่อนกระแท่น แล้วทำไมกัมพูชาจึงจะไม่มีสิทธิที่จะพัฒนาขีดความสามารถทางทะเลของตัวเองบ้าง
หากมองในแง่บวก ถ้าท่าเรือหรือฐานทัพเรือเรียมได้รับการปรับปรุงให้สามารถรองรับเรือรบขนาดใหญ่ได้ กัมพูชาก็อาจจะสามารถเปิดรับการเยือนของเรือรบจากสหรัฐฯ รัสเซีย อินเดีย และอีกหลายประเทศในอาเซียน อย่างไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็จะเพิ่มศักยภาพของประเทศขนาดเล็กให้สามารถสร้างสมดุลทางอำนาจในภูมิภาคได้เช่นกัน
แต่ถ้าจะให้มีผลบวกในเชิงจริง ๆ รัฐบาลและกองทัพเรือกัมพูชาเองก็สมควรแสดงออกให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า ฐานทัพเรือแห่งนี้ไม่ได้สงวนไว้ให้แต่เฉพาะเรือรบของจีนเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อผลประโยชน์ของความมั่นคงของกัมพูชาเองและของภูมิภาคนี้ด้วย
บทความโดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 ธ.ค.66
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104007