พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล
‘พรรณนภา จันทรารมย์’ ทูตไทยในอิสราเอลตอบทุกประเด็น ภารกิจพาตัวประกันไทยกลับบ้าน
๐ อยากให้เล่าถึงสถานการณ์ในวันเกิดเหตุจับตัวประกันว่าเป็นอย่างไร กว่าที่เราจะได้ทราบว่ามีคนไทยที่ได้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และถูกจับเป็นตัวประกัน
สถานทูตทราบเรื่องการจับตัวประกันคนไทยจากภาพที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ และจากการที่เพื่อน ๆ แรงงานแจ้งว่าเพื่อนของพวกเขาถูกจับตัวไป และจากการที่ครอบครัวแรงงานไทยหลายคนไม่สามารถติดต่อแรงงานไทยได้ก็ได้แจ้งชื่อมายังสถานทูค ทางสถานทูตจึงได้จัดทำรายชื่อคนที่คาดว่าถูกจับเป็นตัวประกัน และรายชื่อคนสูญหายเบื้องต้นและประสานแจ้งทางการอิสราเอลให้ช่วยสืบหา ซึ่งใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์กว่าที่สถานทูตจะได้รับรายชื่อบุคคลรายแรกที่คาดว่าถูกจับเป็นตัวประกันจากทางการอิสราเอล และได้มีการทยอยแจ้งเป็นระลอก ๆ
ในส่วนคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บ สถานทูตได้รับแจ้งจากนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงต้นที่สถานทูตกำลังมีภารกิจอพยพคนไทย ก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายแรงงานของสถานทูตไปเยี่ยมและติดตามสิทธิประโยชน์จากทางการอิสราเอล
ขณะที่ในส่วนของผู้เสียชีวิตคนไทยเป็นการแจ้งจากองค์กรตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (Interpol) มายังสถานทูต ซึ่งระยะเวลาการได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการมีความแตกต่างกัน ทั้งจากการที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และจากการที่สภาพศพต้องรอ DNA จากญาติของบุคคลที่คาดว่าจะเสียชีวิตมาตรวจสอบก่อนที่จะยืนยันอย่างเป็นทางการ
๐ ระหว่างนั้นนอกจากตัวประกันที่ถูกจับไปแล้ว ยังมีภารกิจในการอพยพแรงงานไทยกลับบ้านด้วย การทำงานภายใต้ข้อจำกัดมากมายและภาวะสงครามเป็นอย่างไร
ภารกิจอพยพในช่วงต้นมีปัญหาเรื่องการเดินทาง อุปสรรคใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการที่แรงงานยังไม่สามารถออกจากพื้นที่สีแดงได้ เนื่องจากมีจรวดโจมตีเป็นระลอก ส่งผลให้การเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยจะต้องประสานผ่านกองทัพอิสราเอลเพื่อขออนุญาตเข้าพื้นที่ และเพื่อให้มีการคุ้มกันเพื่อความปลอดภัย อุปสรรคต่อมาคือสถานทูตจำเป็นต้องหาบริษัทเพื่อเช่ารถรับ-ส่งแรงงาน ซึ่งหาได้ค่อนข้างลำบากเพราะมีความต้องการใช้รถจำนวนมากจากหลายๆ ฝ่ายในอิสราเอล ในขณะที่บริษัทก็ขาดแคลนคนขับรถ เพราะหลายคนถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร
นอกจากนี้ การหาเที่ยวบินพาณิชย์เพื่อซื้อบัตรโดยสารให้แรงงานไทยก็มีความยากลำบาก เพราะคนประสงค์จะเดินทางออกจำนวนมาก จนในที่สุดรัฐบาลไทยได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเป็นการนำเครื่องบินจากไทยมารับ และในช่วงต่อมาได้จัดเช่าเหมาลำซึ่งทำให้การอพยพเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางการไทยได้จัดเครื่องบินเช่าเหมาลำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 เที่ยวบิน และในบางวันก็มีถึง 3 เที่ยวบิน เพื่อเร่งนำคนไทยออกจากอิสราเอล
การที่กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานได้ส่งบุคลากรมาช่วยสถานทูตเพื่อปฏิบัติภารกิจอพยพ ช่วยให้การทำงานสามารถเป็นระบบได้ดีขึ้นกว่าในช่วงแรก ทั้งนี้ การเปิดโรงแรมเพื่อเป็นศูนย์พักพิง ก็ต้องมีการปรับเพิ่มหรือลดไปตามจำนวนของแรงงานไทยที่เดินทางมาที่ศูนย์ ซึ่งในช่วงที่มีคนไทยมามากที่สุด สถานทูตต้องเปิดโรงแรมมากถึง 9 แห่ง ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ประสานดูแลในทุกจุด
๐ ทราบว่าเจ้าหน้าที่แทบจะไม่ได้พักผ่อนนอนหลับ ผ่านช่วงเวลานั้นกันมาได้อย่างไร
ในช่วงต้นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อช่วยเหลือการอพยพอย่างเต็มที่ รวมถึงการขอให้คู่สมรสของข้าราชการมาช่วยแบ่งเบาภารกิจด้วย ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงต้นแต่ละคนได้พักแค่เพียง 3-5 ชม. ต่อวัน ซึ่งต่อมาเมื่อมีข้าราชการมาช่วยงานเพิ่ม จึงได้จัดระบบการทำงานเป็นผลัด เพื่อที่จะได้มีการพักผ่อนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในการปฏิบัติงานครั้งนี้มีทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ล้มป่วยมากกว่า 10 ราย
๐หลังมีข่าวว่าฮามาสจะปล่อยตัวประกัน เราได้ประสานกับทางการอิสราเอลเพื่อเตรียมการในการรับตัวประกันไทยอย่างไร
สถานทูตประสานงานกับทางการอิสราเอลเกี่ยวกับพัฒนาการของการปล่อยตัวประกันเป็นระยะ และรวบรวมข้อมูลของโรงพยาบาล 7 แห่งที่อิสราเอลกำหนดให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับตัวประกันที่ได้รับการปล่อยตัว พร้อมกับปรับข้อมูลรายชื่อตัวประกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในขณะนั้น เพื่อใช้ในการระบุตัวตนและติดต่อครอบครัวรวมถึงญาติของตัวประกันทันทีที่ตัวประกันเดินทางมาถึง
ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการอำนายความสะดวกและการเตรียมพร้อมรับตัวประกันไทย สถานทูตได้ตั้งศูนย์อำนวยการด้านตัวประกันตลอด 24 ชม. ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ชามีร์ (Shamir Medical Center) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อิสราเอลกำหนดให้ตัวประกันชาวไทยทั้งหมดเข้ารับการรักษาพยาบาล
๐ เมื่อได้เห็นตัวประกันไทยถูกปล่อยตัวออกมาในที่สุด ในฐานะทูตไทยที่อยู่ในพื้นที่รู้สึกอย่างไร
ในฐานะทูตดีใจอย่างยิ่งที่ตัวประกันไทยได้รับการปล่อยตัว เพราะไม่เคยปรากฏในข่าวสารใดๆ มาก่อนว่าตัวประกันต่างชาติจะได้รับการปล่อยตัว ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่ได้ดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อขอกลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันชาวไทย โดยที่ตัวประกันที่ถูกปล่อยมายังมีสุขภาพกายและใจที่ค่อนข้างดี ทำให้สถานทูตสามารถส่งตัวประกันที่ได้รับการปล่อยตัวกลับมาตุภูมิได้อย่างรวดเร็ว รู้สึกดีใจไปกับตัวประกันทุกคนที่ได้กลับบ้านไปพบญาติพี่น้องของตน อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ ยังมีตัวประกันอีก 8 คนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ก็ยังคงมีความเป็นห่วง และอยากให้ถูกปล่อยตัวโดยเร็ว
๐ นอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวประกันโดยโรงพยาบาลแล้ว สถานทูตได้เข้าไปช่วยดูแลคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัวขณะอยู่ในโรงพยาบาลอย่างไรบ้าง
ระหว่างที่คนไทยเข้ารับการดูแลรักษาพยาบาล สถานทูตแบ่งผลัดการดูแลออกเป็น 2 ผลัดคือกลางวันและกลางคืน ทั้งยังได้ทำหน้าที่ล่ามให้กับตัวประกันทั้งหมดที่ได้รับการปล่อยตัว รวมถึงประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอิสราเอล โดยสถานทูตได้แจ้งความคืบหน้าในเรื่องการปล่อยตัวประกันให้ครอบครัวและญาติของพวกเขาทราบเป็นระยะ และมอบโทรศัพท์มือถือซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จากอิสราเอลให้กับทุกคน คนละ 1 เครื่อง
สถานทูตยังร่วมกับฝ่ายแรงงานของสถานทูตเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และมาตรการเยียวยาที่เกี่ยวข้องทั้งของอิสราเอลและของไทย รวมถึงขั้นตอนการติดต่อขอรับสิทธิประโยชน์เมื่อตัวประกันเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว และคอยติดตามอาการทั้งสุขภาพกายและใจของตัวประกันทั้ง 23 คน เพื่อประเมินความพร้อมขอพวกเขาก่อนการเดินทางกลับบ้าน และยังจัดหาอาหารไทยให้ตัวประกันทั้งหมดได้รับประทาน เพื่อช่วยเยียวยาจิตใจและฟื้นฟูร่างกายในระหว่างเข้ารับการรักษาพยาบาลอีกด้วย
๐ สถานทูตช่วยเหลือแรงงานไทยในการเดินทางกลับประเทศอย่างไร
สถานทูตได้จัดทำเอกสารการเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document – ETD) ซึ่งเป็นเอกสารการเดินทางชั่วคราวให้กับตัวประกันทั้ง 23 คน เพื่อใช้ในการเดินทางกลับประเทศ รวมถึงทำบัตรประชาชนให้กับตัวประกันอีก 6 คนเพื่อใช้จองบัตรโดยสารในการเดินทางกลับภูมิลำเนาในไทย โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ของสถานทูตร่วมเดินทางไปยับตัวประกันในเที่ยวบินวันที่ 3 ธันวาคมด้วย เพราะคนไทยชุดแรก 17 คนที่เดินทางกลับไทย ได้เดินทางไปพร้อมกับคณะของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร อยู่แล้ว
นอกจากนี้เรายังได้แจ้งผลตรวจสุขภาพและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พวกเขาพึงได้รับให้กับตัวประกันหลังเดินทางถึงไทย ขณะเดียวกันก็ยังแจ้งรายละเอียดผลตรวจของตัวประกันตามที่ได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล เพื่อให้พวกเขาเข้ารับการรักษาอาการได้อย่างต่อเนื่องด้วย
๐ อิสราเอลได้ให้ความช่วยเหลือคนงานไทยที่เดินทางกลับประเทศอย่างไรบ้าง
สำหรับสิทธิประโยชน์และเงินชดเชยที่แรงงานไทยได้รับจากฝ่ายอิสราเอล มีการจัดบัตรเดบิต (cash card) เพื่อเป็นเงินปลอบขวัญ จำนวน 10,000 เชเกล การจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 6,900 เชเกลต่อเดือนเป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนกรณีที่แรงงานไทยมีบุตรก็จะได้เงินเพิ่ม หลังจาก 6 เดือนอิสราเอลจะพิจารณาการต่ออายุการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว และจะมีการจัดค่ารักษาพยาบาลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยให้ด้วย หลังจากนั้นฝ่ายอิสราเอลจะนัดให้มีวิดีโอคอลเพื่อสอบถามสถานะสุขภาพและรวมถึงอาการเจ็บป่วยหากมี กับผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวแต่ละคนเพื่อประเมินว่าสมควรเข้าข่ายได้รับเงินชดเชยเพิ่มเติมหรือไม่
๐ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องเสื้อที่มีธงชาติไทยกับอิสราเอลที่คนไปวิพากษ์วิจารณ์กันมาจากไหนอย่างไร
ตัวประกันที่ถูกจับไป เมื่อได้รับการปล่อยตัวจากกลุ่มฮามาส ทุกคนมีเพียงเสื้อผ้าที่สวมใส่เมื่อตอนถูกจับไปแค่นั้น ไม่มีทรัพย์สินใดๆ ติดตัว เมื่อตัวประกันถูกปล่อยตัว ทางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ ให้ เช่น เสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน เสื้อแจ็คเก็ต รองเท้า ถุงเท้า อุปกรณ์อาบน้ำ ครีมและมีดโกนหนวด ผ้าเช็ดตัว กรรไกรตัดเล็บ รวมถึงโทรศัพท์มือถือคนละเครื่อง เป็นต้น นอกจากนี้ ใครต้องการสิ่งใดเป็นพิเศษก็พร้อมจัดหาให้ โดยมองว่าเป็นการทดแทนความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จะพอทำได้
ในวันที่ตัวประกันเดินทางกลับ ทางโรงพยาบาลต้องการแสดงไมตรีจิตระหว่างไทยและอิสราเอลจึงได้จัดทำเสื้อยืดพิเศษ พร้อมแจ๊กเก็ตให้ทุกคนเพื่อใส่กลับ พร้อมมอบของที่ระลึก ซึ่งตัวประกันคนไทยทุกคนก็รับทราบถึงความตั้งใจดีของทางโรงพยาบาล จึงได้เลือกสวมเสื้อยืดดังกล่าวกลับไทย เมื่อการทำเสื้อยืดได้เป็นประเด็นในสังคมไทย ทางโรงพยาบาลก็เข้าใจและมิได้จัดทำเสื้อดังกล่าวให้แก่ตัวประกันกลุ่มที่ 2 อีก
๐ คิดว่าสถานการณ์สู้รบจะยืดเยื้อแค่ไหน และจะบานปลายออกไปในภูมิภาคอย่างที่หลายฝ่ายหวาดกลัวหรือไม่
กองทัพอิสราเอลได้ตั้งเป้าที่จะทำลายกลุ่มฮามาสทั้งหมด และช่วยเหลือตัวประกัน ดังนั้น สถานการณ์การสู้รบน่าจะไม่จบลงง่ายๆ เมื่อคำนึงว่ายังคงมีตัวประกันที่ถูกฮามาสจับอยู่อีก 137 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีคนไทย 8 คน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ไม่น่าจะบานปลาย เพราะทุกประเทศในภูมิภาคเองก็ไม่ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น จึงน่าจะมีความพยายามจากนานาประเทศที่จะให้ควบคุมไม่ให้สถานการณ์ขยายวง อีกทั้งอิสราเอลเองก็ไม่ประสงค์จะเปิดแนวรบหลายด้านพร้อมกัน ยกเว้นแต่จะมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาร่วมในสงครามครั้งนี้เพิ่มเติมก็อาจมีการขยายวงได้
๐ เท่าที่สัมผัสแรงงานไทยที่กลับมาส่วนใหญ่มีความประสงค์จะกลับไปทำงานที่อิสราเอลต่อหรือไม่ และอยากฝากอะไรถึงแรงงานไทยที่จะไปอิสราเอลบ้าง อิสราเอลยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับแรงงานไทยใช่หรือไม่
ทราบว่าแรงงานจำนวนมากยังประสงค์ที่จะกลับมาทำงานในอิสราเอลอีก เพราะค่าตอบแทนการทำงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการเดินทางไปทำงานในประเทศอื่นๆ สำหรับแรงงานที่อยากมาทำงานในอิสราเอล ขอให้รอให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อน เพราะสงครามยังคงอยู่ ทั้งนี้ ในอนาคตเมื่อเดินทางมาทำงานในอิสราเอลขอให้ติดตามข่าวสารจากทางสถานทูตอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องหากมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอีก การทำงานในอิสราเอลถึงแม้จะมีปัจจัยเสี่ยง แต่ค่าแรงที่ได้รับสูงกว่าค่าแรงในประเทศอื่นๆ มาก อีกทั้งนายจ้างก็มีความชื่นชอบการทำงานของแรงงานไทยที่ทุ่มเททำงาน
ท้ายที่สุดนี้ ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่ได้สนับสนุนการปฏิบัติการของสถานทูตครั้งนี้ด้วยดี ขอบคุณข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสถานทูต รวมถึงครอบครัว และข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่มาช่วยปฏิบัติงานตั้งแต่ช่วงอพยพ จนถึงช่วงรับตัวประกัน เราทำงานเป็นทีมด้วยดีแม้จะมาจากคนละหน่วยงาน ส่งผลให้การปฏิบัติงานสำเร็จด้วยดี
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 ธ.ค.66
Link : https://www.matichon.co.th/foreign/indepth/news_4337000