อีกพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงจะปะทุกลายเป็นความตึงเครียด คือ ชายแดนระหว่างฟินแลนด์ – รัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโตอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
เนื่องจากจะไม่มีกันชนสุดท้ายที่กั้นระหว่างพรมแดนนาโต – สหภาพยุโรปและรัสเซียทางตะวันตกเฉียงเหนืออีกต่อไปแล้ว เพราะฟินแลนด์ได้กลายเป็นพรมแดนนาโตส่วนที่ติดกับรัสเซียแทน
ล่าสุดทางการรัสเซียได้ออกมาระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า ฟินแลนด์กำลังจะกลายเป็นภัยคุกคามสำหรับรัสเซียหลังเข้าเป็นสมาชิกนาโต
สำนักข่าว CNN ได้รายงานการสัมภาษณ์ของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับช่อง Russia1 สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลรัสเซีย
ประเด็นที่ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวถึงคือ ประเทศเพื่อนบ้านทางทิศตะวันตกอย่างฟินแลนด์ โดยระบุว่า รัสเซียไม่เคยมีปัญหากับฟินแลนด์ จนกระทั่งฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต เพราะฉะนั้น รัสเซียจึงตั้งเป้าว่า สร้างเขตการทหาร ‘เลนินกราด’ ซึ่งเคยมีที่ตั้งอยู่ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กทางตะวันตกของรัสเซียกลับขึ้นมาอีกครั้ง
ก่อนประธานาธิบดีปูตินจะออกมาให้สัมภาษณ์ 1 วัน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียก็ได้ออกมาระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ฟินแลนด์กำลังจะกลายเป็นภัยคุกคาม หลังเข้าเป็นสมาชิกนาโต
หลังฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโตอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างฟินแลนด์และรัสเซียก็ส่อแววตึงเครียดอย่างต่อเนื่องก่อนรัสเซียจะเปิดฉากทำสงครามรุกรานยูเครนเมื่อปี 2022
ฟินแลนด์ถือเป็นชาติที่วางสถานะเป็นกลางทางการทหารมาตลอด แม้ว่าจะมีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดกับรัสเซียยาวประมาณ 1,350 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม การบุกทำสงครามต่อยูเครนทำให้ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมองค์กรด้านการประกันความมั่นคงแห่งนี้ โดยเป็นเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงประวัติศาสตร์บาดแผลที่ทำให้ฟินแลนด์ไม่ไว้ใจรัสเซีย
ฟินแลนด์กับรัสเซียในสมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต เคยทำสงครามที่เกี่ยวพันกับบูรณภาพเหนือดินแดนมาก่อน นั่นคือ สงครามฤดูหนาวหรือ Winter War ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างปี 1939 – 1940
ในครั้งนั้น โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตได้ตัดสินใจบุกโจมตีฟินแลนด์ หลังฟินแลนด์ไม่ยอมยกพื้นที่ที่มีชื่อว่า ‘คาเรเลียน อิสมัส’ (Karelian Isthmus) ให้ เพื่อเป็นกันชนในกรณีที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมนีจะบุกฟินแลนด์และเข้าประชิดเมืองสำคัญของสหภาพโซเวียตอย่างเลนินกราด
สตาลินจึงได้สั่งยกกองทัพแดงหรือ Red Army เข้าบุกฟินแลนด์ในช่วงต้นฤดูหนาวปี 1939 เป็นเวลากว่า 3 เดือนที่กองทัพฟินแลนด์ต้านทานกองทัพแดงไว้ได้ แต่ท้ายที่สุดกองทัพฟินแลนด์ก็ต้องยอมจำนนต่อแสนยานุภาพของกองทัพสหภาพโซเวียตและตกลงเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพมอสโก โดยฟินแลนด์ต้องยกดินแดนประมาณร้อยละ 11 ของตนให้แก่สหภาพโซเวียต
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฟินแลนด์ตัดสินใจดำรงสถานะความเป็นกลางทางการทหารมาตลอด จนกระทั่งรัสเซียบุกทำสงครามรุกรานยูเครน นี่ทำให้ฟินแลนด์เปลี่ยนใจและตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตเพื่อที่จะได้รับการประกันความมั่นคงร่วมตามกฎบัตรนาโตมาตราที่ 5
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฟินแลนด์มีพรมแดนทางตะวันออกติดรัสเซียยาวหลักพันกิโลเมตรและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความตึงเครียดหรือข้อพิพาทบริเวณชายแดนในอนาคต
นอกจากเข้าร่วมนาโต อีกสิ่งหนึ่งที่ฟินแลนด์วางแผนคือ การก่อสร้างรั้วกั้นบริเวณชายแดนติดรัสเซียความยาวประมาณ 200 กิโลเมตรเพิ่ม โดยเฉพาะทางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงระยะดำเนินการและคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2025
การสร้างกำแพงของฟินแลนด์เกิดขึ้นท่ามกลางความหวาดกลัวว่า รัสเซียจะส่งผู้อพยพข้ามจากรัสเซียเข้ามายังพรมแดนฟินแลนด์เพื่อบั่นทอนความมั่นคงชายแดน เหมือนอย่างกรณีที่เบลารุสส่งผู้ลี้ภัยไปจ่อที่พรมแดนโปแลนด์เมื่อฤดูหนาวปี 2021
ความหวาดกลัวของฟินแลนด์เกิดขึ้นจริงแล้ว หลังผู้ลี้ภัยแบบผิดกฎหมายหลายร้อยคนเดินทางข้ามมายังพรมแดนฟินแลนด์จากรัสเซีย จนฟินแลนด์ต้องประกาศปิดจุดผ่านแดนที่เชื่อมรัสเซียทุกจุดมาเป็นเวลาเกือบ 3 สัปดาห์แล้ว
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม มารี ราทาเน็น รัฐมนตรีมหาดไทยฟินแลนด์ได้ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์คลื่นผู้อพยพแบบผิดกฎหมายที่เดินทางเข้ามาจากทางพรมแดนรัสเซียอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดยระบุว่า ไม่กี่วันหลังฟินแลนด์กลับมาเปิดจุดผ่านแดน 2 จุดอีกครั้งหลังจากที่ประกาศปิดจุดผ่านแดนทุกจุดไป ก็พบว่าจำนวนผู้ลี้ภัยที่ผ่านเข้ามายังฟินแลนด์อย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทันที ดังนั้น รัฐบาลฟินแลนด์จึงตัดสินใจปิดจุดผ่านแดนทั้งหมดอีกครั้งจนถึงวันที่ 14 มกราคม 2024
ความเคลื่อนไหวล่าสุด หลังจากฟินแลนด์เผชิญกับคลื่นผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารเดินทางเข้ามายังพรมแดนมากผิดปกติตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตลอดพรมแดน 1,340 กิโลเมตรระหว่างฟินแลนด์และรัสเซีย มีจุดผ่านแดนที่เปิดให้ผู้คนสัญจรอยู่ทั้งหมด 8 จุด
นั่นคือ วาลิมา (Vaalimaa) นูอิยามา (Nuijamaa) อิมาตรา (Imatra) นีราลา (Niirala) วาร์เตียส (Vartius) คูซาโม (Kuusamo) ซัลลา (Salla) และ รายา – ยูเซปปี (Raja – Jooseppi)
ตลอดเดือนพฤศจิกายน หน่วยรักษาชายแดนของฟินแลนด์เปิดเผยว่ามีผู้อพยพเข้ามายังพรมแดนฟินแลนด์อย่างผิดกฎหมายแล้วกว่า 900 คน ทั้งที่ตามปกติจะมีผู้ลี้ภัยข้ามพรมแดนบริเวณนี้เดือนละไม่เกิน 10 คนเท่านั้น
มีรายงานว่า ผู้อพยพเหล่านี้เดินทางมาจากตะวันออกกลางและแอฟริกาผ่านรัสเซีย จำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่นนี้ทำให้ทางการฟินแลนด์กล่าวหาว่ารัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ เพราะตามปกติหากผู้อพยพไม่มีเอกสารเข้าพรมแดนสหภาพยุโรปอย่างถูกต้องหรือไม่มีวีซาสหภาพยุโรป เจ้าหน้าที่ชายแดนรัสเซียจะปฏิเสธไม่ยอมให้ข้ามพรมแดนไปยังฟินแลนด์
อีกทั้งเหตุการณ์ยังเกิดหลังจากฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโตและเตรียมกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมร่วมกับสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงหรือ Defense Cooperation Agreement (DCA) จึงเชื่อว่า รัสเซียจงใจใช้ผู้อพยพเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อตอบโต้ฟินแลนด์
ครั้งแรกที่ฟินแลนด์ประกาศปิดจุดผ่านแดนคือเมื่อวันที่ 16 พฤศิกายน โดยปิดเพียง 4 จุดจากทั้งหมด 8 จุดเท่านั้น จนกระทั่งทยอยปิดจนครบทุกจุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน เป็นเวลา 2 สัปดาห์
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางการฟินแลนด์ก็ได้ประกาศเปิดจุดผ่านแดนอีกครั้ง 2 จุด แต่ไม่กี่ชั่วโมงก็พบว่าจำนวนผู้อพยพที่เดินทางผ่านมาจากรัสเซียกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทำให้อีกหนึ่งวันต่อมา รัฐบาลฟินแลนด์ประกาศปิดจุดผ่านแดนทุกจุดอีกครั้งจนถึงวันที่ 14 มกราคม
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 18 ธ.ค.66
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/212796