ปัจจุบันประเทศไทยยังมีประเด็นความท้าทายในการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านการเกษตร ด้านคุณภาพและสมรรถนะของแรงงาน ด้านสังคมการแก้ปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แม้กระทั่งด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานลดลงและประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรภาครัฐที่พัฒนาและตอบโจทย์ทุกความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้
ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการพัฒนาประเทศในช่วงระยะเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ จะมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
• ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง มุ่งเน้นการจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศที่สร้างความมั่นคง ปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยทุกมิติ
• ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับและศักยภาพของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
• ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ เตรียมความพร้อมทั้งกายและใจ ไม่หยุดพัฒนาตัวเองสู่การเป็นพลเมืองของศตวรรษที่ 21
ทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มุ่งเน้นให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม
• ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยื่นของสิ่งแวดล้อมและการเติบโตของอย่างมีคุณภาพของประชากรไทย
• ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ยึดหลักเป็นภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม
จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ผนึกกำลังเพิ่มขีดความสามารถภาครัฐไทยผ่าน “โครงการ Government Data Center and Cloud Service (GDCC)” โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย ก้าวสู่การยกระดับระบบกลางในการให้บริการผ่าน Cloud Service ที่ตอบสนองต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ครอบคลุมและการประสานงานอย่างไร้รอยต่อ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) นอกจากจะมีการให้บริการคลาวด์ในระดับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure as a Service) แล้วยังให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรด้านข้อมูลบนระบบ GDCC เพื่ออำนวยความสะดวกด้านระบบข้อมูลเปิด (Open Data) จากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีช่องทางมากขึ้นในการนำข้อมูลเปิดมาต่อยอด และสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไปได้
ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในบริการสำคัญของ GDCC คือแอปพลิเคชัน Marketplace ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐได้ประยุกต์ใช้บริการด้านซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มออนไลน์ที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบงานและบริการต่าง ๆ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรของหน่วยงานรัฐทุกระดับให้เชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้นโดยทั้ง 12 บริการ โดยแบ่งออกเป็น 6 หมวด ดังต่อไปนี้
1. Cloud Management
• Security Service บริการป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบผ่านการป้องกันจาก Anti-Virus, DDoS และ Firewall (WAF)
• Performance Service เพื่อให้องค์กรภาครัฐ และประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการด้าน Cloud ที่ปลอดภัยและมั่นคงของประเทศ
2. Public Cloud
• Container Platform เพื่อใช้สำหรับบริหารจัดการ Container ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ Application สามารถทำงานได้ แม้จะเปลี่ยน Hardware หรือ Operating System เช่น Linux, Windows โดย Kubernetes ผ่านทาง Self-service portal ของ GDCC
3. Database Service
• Database as a Service บริการฐานข้อมูลเปิด RDBMS ที่สร้างอัตโนมัติ ช่วยเสริมศักยภาพในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
• Oracle, BI Service, SOA บริการฐานข้อมูล Oracle Database พร้อม Licenses ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ถูกออกแบบมาสำหรับรองรับการทำงานที่ต้องการระบบจัดการฐานข้อมูลที่ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง มาพร้อมด้วยฟังก์ชันการทำงานที่ออกแบบมาอย่างครบถ้วน
4. Technology Center
• AI Platform บริการตรวจสอบภาพใบหน้าบุคคลว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ (Face Verification) จากการหาใบหน้าบนรูปและระบุตำแหน่ง Facial Landmark เช่น จมูก, ตา, และ ปาก จำนวน 5 จุด เป็นการใช้งานผ่าน API Endpoint
• IOT Platform บริการสำหรับจัดเก็บ ประมวลผล และแสดงผลข้อมูลจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้พร้อมกันหลายอุปกรณ์ รวมถึงสามารถตรวจสอบติดตามสถานะของอุปกรณ์แบบ Real-Time
• บริการแปลงภาพอักษรเป็นข้อความ OCR บริการแปลงภาพตัวอักษรเป็นข้อความด้วยระบบสกัดข้อมูลจากเอกสาร หนังสือราชการ และจัดเก็บข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างเป็นระบบ ด้วยความถูกต้องแม่นยำ ปลอดภัย และสามารถเชื่อมต่อ API กับระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์
5. Big Data Service
• Big Data Platform บริการแพลตฟอร์มสำหรับจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาพร้อมเครื่องมือในการจัดการข้อมูลที่หลากหลาย รองรับการนำเข้าข้อมูลจากหลายแหล่งข้อมูล (Data Source) สามารถบริหารจัดการสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล สืบค้นข้อมูล และรองรับการแสดงผลข้อมูลได้
• Data Analytic Platform บริการแพลตฟอร์มสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายแหล่งข้อมูล (Data Source) โดยสามารถสร้างและแสดงผลข้อมูลในรูปแบบของแผนภาพ กราฟ หรือ Data Visualization เพื่อช่วยเพิ่มการตัดสินใจด้วยข้อมูล (Data Driven Decision Making) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• Data Catalog Platform บริการแพลตฟอร์มสำหรับระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) เพื่อใช้ในการจัดเก็บ แสดงรายการคำอธิบายชุดข้อมูล (Meta Data) และจำแนกจัดกลุ่มประเภทข้อมูลที่มีอยู่
6. Office & Collaboration Tools
• GDCC Space บริการที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การทำงานร่วมกันภายในองค์กร รวมความสามารถทั้งการ Chat, Conference, Drive และเครื่องมืออื่น ๆ อีกมากมาย เข้าไว้ด้วยกัน รวมทั้งบริการ Digital Workplace พื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องนั่งทำงานที่ออฟฟิศตลอดเวลา
โครงการ GDCC จึงถือเป็นส่วนสำคัญเพื่อการผลักดันเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านบริการขององค์กรภาครัฐ ตามยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมตอบสนองทุกความต้องการของการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคตและสร้างโอกาสทางการแข่งขันของประเทศ ให้สังคมไทยและองค์กรภาครัฐมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : แบไต๋ / วันที่เผยแพร่ 30 พ.ย.66
Link : https://www.beartai.com/article/1332224