การค้นหาผู้รอดชีวิตถือเป็นภารกิจสำคัญที่สุดในการกู้ภัย แต่ท่ามกลางภัยพิบัติหลายครั้งที่ผู้ประสบภัยอาจติดในซากปรักหักพังหรืออยู่ในหมอกควันหนาทึบ ยากต่อการค้นหาและเข้าช่วยเหลือ นำไปสู่การพัฒนา LUCY ระบบตรวจจับเสียงด้วยปัญญาประดิษฐ์ สำหรับค้นหาผู้รอดชีวิต
ภัยพิบัติ เรื่องที่เราต่างไม่อยากให้เกิดแต่กลายเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงได้ยากในปัจจุบัน โดยเฉพาะภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงจากภาวะโลกร้อน แม้แนวทางแก้ไขเริ่มเป็นรูปร่างแต่ไม่สามารถทำได้ในเร็ววัน นั่นทำให้เราได้แต่ปรับตัวและพยายามหลีกเลี่ยงความเสียหายเท่าที่ทำได้
หนึ่งในแนวทางรับมือที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติคือ การกู้ภัย เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในพื้นที่ ค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ร้ายแรงและเร่งตรงเข้าช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามการค้นหาผู้รอดชีวิตภายในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องใช้เวลาและแรงงานมหาศาลซึ่งบางครั้งอาจสายเกินไป
นำไปสู่การพัฒนาระบบตรวจจับเสียงรุ่นใหม่ที่จะช่วยเพิ่มอัตราค้นหาผู้รอดชีวิตให้เพิ่มมากขึ้น
LUCY ระบบตรวจจับเสียงทรงประสิทธิภาพจากเอไอ
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจากสถาบันวิจัย Fraunhofer Institute for Communication กับการคิดค้นระบบตรวจจับเสียงรุ่นใหม่ ที่สามารถตรวจจับเสียงร้องและสัญญาณเสียงขอความช่วยเหลือจากผู้รอดชีวิต และสามารถระบุตำแหน่งต้นเสียงได้ในเวลาไม่กี่วินาที
เมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรงสิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึงย่อมเป็นชีวิตคน การค้นหา ให้ความช่วยเหลือ ไปจนอพยพจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน กระนั้นหลายครั้งการค้นหาผู้รอดชีวิตในพื้นที่ภัยพิบัติก็เป็นเรื่องยาก เช่น กรณีค้นหาผู้รอดชีวิตจากตึกถล่มซึ่งต้องแข่งกับเวลา บางครั้งการค้นหาก็ทำได้ล่าช้าจนสายเกินไป
นำไปสู่การคิดค้นพัฒนาระบบตรวจจับเสียงอย่าง LUCY ที่อาศัยการพัฒนาจากชุดไมโครโฟนระดับไมโคร มีจุดเด่นด้านระดับความไวในการตรวจจับเสียง ผ่านไมโครโฟนตัวจิ๋วที่ได้รับการติดตั้งไว้ในระบบจำนวนกว่า 48 ตัว ช่วยให้ระบบนี้ตรวจจับเสียงรอบทิศทาง และนำมุมตกกระทบจากไมโครโฟนแต่ละตัวไปค้นหาแหล่งกำเนิดเสียงได้
กลไกการทำงานของ LUCY ได้รับการออกแบบให้คล้ายคลึงหูของมนุษย์ โดยเริ่มต้นจากไมโครโฟนคอยทำหน้าที่รับเสียงแบบเดียวกับหูของคนเรา แต่สามารถรับเสียงในระดับคลื่นความถี่ที่คนทั่วไปไม่สามารถรับรู้ได้ จากนั้นจึงนำข้อมูลไปประมวลผลเพื่อค้นหาทิศทางและตำแหน่งที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงอย่างแม่นยำ
ตัวระบบประมวลผลด้วยระบบ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่ได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะ จึงมีคุณสมบัติในการตรวจจับเสียงของผู้ประสบภัยได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เสียงร้อง, เสียงตะโกน, เสียงปรบมือ ไปจนเสียงทุบกระแทกข้าวของ รองรับการตรวจจับเสียงทุกชนิดที่มนุษย์สร้าง เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถค้นหาผู้รอดชีวิตได้อย่างไม่ตกหล่น
ประโยชน์ที่มากกว่าระบบค้นหาผู้รอดชีวิตทั่วไป
แน่นอนหลายท่านที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีหรือการกู้ภัยอาจไม่รู้สึกเป็นเรื่องแปลก ด้วยอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นเสียงสำหรับการค้นหาผู้รอดชีวิตไม่ใช่ของใหม่ มีการคิดค้นพัฒนาระบบค้นหาผู้ประสบภัยขึ้นมากมาย บางรุ่นสามารถใช้ตรวจสอบการเคลื่อนไหวหรือลมหายใจ เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตที่ได้รับบาดเจ็บหรือหมดสติเพื่อให้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที ดังนั้นแนวทางค้นหาผ่านการตรวจจับเสียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์นัก
แต่จุดเด่นสำคัญของระบบ LUCY มีอยู่หลายด้าน ประการแรกคือ ระบบตรวจจับเสียงมีความแม่นยำสูง ด้วยระบบประมวลผลจากปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนามาโดยเฉพาะ นอกจากตรวจจับเสียงของผู้รอดชีวิตแล้ว ยังสามารถกรองเสียงรบกวนได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่เสียงลม เสียงฝน เสียงความวุ่นวาย ไปจนเสียงมอเตอร์จากอุปกรณ์อื่น จึงมีความเสถียรในการใช้งานสูง
ประการต่อมาคือน้ำหนักของระบบตรวจจับเสียงนี้เบาและมีขนาดกระทัดรัด ทำให้สะดวกต่อการขนย้ายไปตามพื้นที่ประสบภัยหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งนอกจากใช้งานบนภาคพื้นดินร่วมกับทีมค้นหาทั่วไปแล้ว ยังสามารถติดตั้งบนยาพาหนะ และยังเบาพอในการนำไปติดตั้งบนโดรนกู้ภัย จึงสามารถเข้าถึงพื้นที่เสี่ยงอันตรายและค้นหาผู้รอดชีวิตได้ในทุกสถานการณ์
ตัวระบบยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกอย่าง แท็บเล็ต และ สมาร์ทโฟน ผ่านแอปพลิเคชันของทางบริษัท อีกทั้งตัวอุปกรณ์ยังสามารถนำไปใช้งานได้ผ่านเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินหรือติดตั้งบนยานพาหนะ จึงเป็นอุปกรณ์ใช้งานง่ายที่หน่วยกู้ภัยทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีความชำนาญเฉพาะด้าน
เมื่อรวมกับต้นทุนการผลิตที่แม้ไม่มีการเผยตัวเลขแน่ชัดแต่ได้รับการยืนยันว่าไม่สูงนัก นี่จึงถือเป็นระบบตรวจจับเสียงที่มีประสิทธิภาพในการรับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอาจถูกใช้งานในฐานะอุปกรณ์ทั่วไปสำหรับค้นหาผู้รอดชีวิตต่อไปในอนาคต
แน่นอนว่าคุณสมบัติของ LUCY ยังไม่หมดเท่านั้น พวกเขายังคงพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับประมวลผลแยกแยะเสียงให้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มจำนวนไมโครโฟนที่ติดตั้ง เพื่อขยายศักยภาพในการตรวจจับเสียงอย่างรอบด้าน โดยปัจจุบันพวกเขาพัฒนาระบบชุดไมโครโฟน 64 ตัว และมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การพัฒนาให้รองรับไมโครโฟนถึง 256 ตัวต่อไป
ที่มา
https://newatlas.com/drones/lucy-drone-disaster-site-survivors-sound/
https://www.fraunhofer.de/en/press/research-news/2023/december-2023/a-drone-with-ears.html
https://www.posttoday.com/post-next/innovation/690918
บทความโดย เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 18 ธ.ค.66
Link : https://www.posttoday.com/international-news/703291