
กลุ่มฮามาสร่วมกันเฉลิมฉลองหลังจากส่งมอบตัวประกันที่ถูกจับ ให้กับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2023 ทั้งนี้ ไม่ทราบสถานที่ตั้งในภาพถ่าย
มุสซา อาบู มาร์ซุก ผู้นำอาวุโสกลุ่มฮามาส บอกกับบีบีซีในการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดว่า กลุ่มฮามาสไม่ได้ควบคุมตัวตัวประกันทั้งหมดในฉนวนกาซาเอาไว้
เขาบอกว่า ตัวประกันบางคนถูกจับโดยกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ที่เข้าร่วมการโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา
บีบีซีเวริฟายสามารถระบุได้ว่า มี 5 กลุ่มติดอาวุธที่เข้าร่วมการต่อสู้กับกลุ่มฮามาส ทั้งนี้ แม้ทุกกลุ่มจะเห็นพ้องต้องกันในการใช้ความรุนแรงต่ออิสราเอล แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันเรื่องแนวคิดการบริหารและปกครองรัฐปาเลสไตน์หากตั้งขึ้นมาได้ รวมถึงบทบาทของศาสนาในรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต
การระบุจำนวนกลุ่มติดอาวุธทั้งหมดในฉนวนกาซาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เรารู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขาบ้าง

นักรบชาวปาเลสไตน์จากกลุ่มติดอาวุธของฮามาสเข้าร่วมการสวนสนามในโอกาสครบรอบสงครามกับอิสราเอลปี 2014 ในพื้นที่ฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2023
ฮามาส / กองพันทหารอัล – คัสซัม
กองพันอิซ อัลดิน อัล-คัสซัม (Izz al-Din al-Qassam) เป็นปีกทางทหารของกลุ่มฮามาสซึ่งควบคุมพื้นที่ฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2007 ชื่อของกองพันนี้ถูกตั้งชื่อตามนักบวชที่ถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์การต่อต้านของชาวปาเลสไตน์
กลุ่มนี้สู้รบกับอิสราเอลมาแล้วในหลายสงคราม และได้ใช้การโจมตีด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด ระเบิดพลีชีพ และจรวดหลายพันลูก
กลุ่มฮามาสเติบโตมาจากขบวนการภราดรภาพชาวมุสลิมในประเทศอียิปต์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นช่วงทศวรรษ 1920 เดิมทีฮามาสมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ศีลธรรมและความดีงามแบบอิสลาม แต่ต่อมากลายเป็นผู้เล่นทางการเมือง
หนึ่งในเป้าหมายของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม คือการสร้างรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายอิสลามหรือชารีอะห์
ในปี 2017 กลุ่มฮามาสประกาศตัดขาดกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม แต่เฟราส คิลานี จากบีบีซีภาคภาษาอารบิก ระบุว่า หลายฝ่ายในภูมิภาคเชื่อว่านี่เป็นแค่ฉากหน้า ขณะที่ความสัมพันธ์เบื้องหลังยังคงเดิม
ปีกทหารของฮามาสซึ่งนำการโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ได้ถูกจัดให้เป็นองค์กรก่อการร้ายโดยอิสราเอล สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ
มีการประมาณการณ์กันว่า ฮามาสมีนักรบจำนวน 20,000 – 30,000 คนในฉนวนกาซา ทั้งนี้ ไม่มีกลุ่มติดอาวุธอื่นที่ทรงอำนาจและฝังตัวทำงานอยู่ในกาซาอย่างเข้มข้นเท่ากับกลุ่มฮามาส
อิหร่านสนับสนุนฮามาสผ่านการให้เงินทุน อาวุธ และฝึกซ้อมการต่อสู้ ผู้นำฮาสมาสกล่าวขอบคุณอิหร่านหลายต่อหลายครั้งต่อหน้าสาธารณชน

กลุ่มติดอาวุธอิสลามิกญิฮาดของปาเลสไตน์รวมตัวกันเพื่อไว้อาลัยชาวปาเลสไตน์ที่ถูกสังหารระหว่างการสู้รบในเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2022
ปาเลสไตน์ อิสลามิก ญิฮาด / กองพันอัลกุดส์
กองพันอัล – กุดส์ (Al – Quds) ถือว่าเป็นกองกำลังทหารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในฉนวนกาซา กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นในทศวรรษ 1980 ในฐานะปีกทางทหารของขบวนการอิสลามิกญิฮาด ซึ่งถูกรัฐบาลชาติตะวันตกระบุว่า เป็นองค์กรก่อการร้ายเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ กลุ่ม
ชื่อนี้มีความหมายว่า เยรูซาเล็มในภาษาอาหรับ ทางกลุ่มได้รับความนิยมหลังเข้าร่วมการสู้รบกับกองกำลังของอิสราเอลในค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน เขตเวสต์แบงก์ เมื่อปี 2002
ทางกลุ่มบอกว่ามีนักรบประมาณ 2,000 คน ผู้สื่อข่าวของบีบีซีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มอัล – กุดส์มีความสัมพันธ์กับอิหร่านแนบแน่นกว่าที่มีกับกลุ่มฮามาส
แม้ทั้งกลุ่มฮามาสและกลุ่มอิสลามิกญิฮาดล้วนต้องการปลดแอกรัฐปาเลสไตน์ ให้เป็นรัฐที่ปกครองโดยศาสนาอิสลาม แต่กลุ่มอิสลามิกญิฮาดต้องการปกครองในลักษณะรัฐศาสนาที่เข้มงวดกว่ามาก
หนึ่งในผู้นำของกลุ่มยอมรับระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราภาคภาษาอารบิกเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า พวกเขาจับตัวประกันไป 30 คนในเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. แต่อ้างว่าปล่อยตัวประกันผู้หญิงและเด็กแล้ว
ขณะที่ผู้นำกลุ่มปาเลสไตน์ อิสลามิก ญิฮาด ปฏิเสธที่จะยืนยันว่ายังมีตัวประกันเหลืออยู่อีกกี่รายที่พวกเขายังคงควบคุมตัวไว้

นักรบจากแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์เข้าร่วมขบวนพาเหรดต่อต้านกองทัพอิสราเอลที่ฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2022
แนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ / กองพันอาบู อาลี มุสตาฟา
กองพันอาบู อาลี มุสตาฟา (Abu Ali Mustafa) เป็นปีกทหารของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์แบบมาร์กซิสต์ – เลนินนิสต์ ทั้งนี้ ครั้งหนึ่งกองกำลังนี้เคยเป็นที่รู้จักในชื่อว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านเพื่อประชาชน
กลุ่มนี้เป็นรู้จักจากเหตุการณ์ปล้นเครื่องบินและการโจมตีระดับโลกหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970
ก่อนกลุ่มฮามาสจะผงาดขึ้นมา กลุ่มนี้เคยเป็นกลุ่มปาเลสไตน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง บางรายงานระบุว่าทางกลุ่มจับตัวประกันไว้ด้วย แต่บีบีซียังไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลนี้ได้อย่างอิสระ
กลุ่มอัล – นาซีร์ ซาลาห์ อัล – ดีน
ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2000 มีรายงานว่ากลุ่มอัล – นาซีร์ ซาลาห์ อัล-ดีน (Al-Nasir Salah al-Deen) เข้าร่วมการโจมตีกับฮามาส รวมถึงลักพาตัว กิลาด ชาลิต นายทหารชาวอิสราเอลเมื่อปี 2006 ด้วย
กลุ่มนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในฉนวนกาซา เป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮามาสและปาเลสไตน์ อิสลามิกฮิญาด และมีส่วนช่วยกองกำลังตำรวจประจำฉนวนกาซาทำหน้าที่ด้วย
ทางกลุ่มมีแสนยานุภาพมากพอที่จะยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอล และอ้างว่าพวกเขาจับกุมทหารอิสราเอลได้หลายนายในวันที่ 7 ต.ค. แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานใด ๆ ยืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าว
กองพันผู้พลีชีพอัล – อักซอ (Al-Aqsa Martyrs’ Brigade)
กองพันนี้ถือเป็นกลุ่มสู้รบทางทหารที่เกี่ยวข้องกับขบวนการฟาตาห์ แม้ว่าไม่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงก็ตาม ทั้งนี้ ขบวนการตาฟาห์เป็นกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดแยกศาสนาและรัฐออกจากกัน ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ปกครองปาเลสไตน์ในเขตยึดครองเวสต์แบงก์
แต่หลังจากทางกลุ่มสูญเสียการควบคุมพื้นที่ฉนวนกาซาให้กับฮามาสในการเลือกตั้งในปี 2008 กองกำลังอัล-อักซอก็ถูกขับไล่ออกจากกาซาโดยกลุ่มฮามาสในปีถัดมา
ทั้งนี้ กองพันผู้พลีชีพอัล – อักซอแบ่งออกเป็นได้อีกหลายปีก ซึ่งสังกัดผู้นำฟาตาห์ที่แตกต่างกัน แต่สำหรับในพื้นที่ฉนวนกาซา พวกเขาไม่ได้มีความเข้มแข็งมากนัก
จากข้อมูลการสืบสวนโดยบีบีซีเวริฟาย พบว่าสมาชิกหลายคนของกลุ่มเข้าร่วมการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ด้วย โดยมีคลิปวิดีโอซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า พวกเขามีส่วนในเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. และวันฝึกซ้อมรบกับกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น
เฟราส คิลานี ผู้สื่อข่าวของบีบีซี เห็นว่า เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าการตัดสินใจเข้าร่วมเหตุโจมตี เป็นการตัดสินโดยกลุ่มหรือตัวสมาชิกแต่ละคนเอง
กองพันมูจาฮิดีน
มูจาฮิดีน (Mujahideen) เป็นกลุ่มที่มีรากฐานมาจากกลุ่มฟาตาห์ และมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอิสลามิกญิฮาดและอุดมการณ์ทางศาสนาที่สุดโต่ง นี่ถือเป็นอีกกลุ่มที่อ้างว่า จับตัวประกันไปในเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.
บทความโดย เฟราส คิลานี
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : BBC / วันที่เผยแพร่ 14 ธ.ค.66
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c51z5zrxzzro