แก้ปัญหาขาดแคลนบุลคากร จับมือกับสถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรติวเข้ม พร้อมประสาน กระทรวงแรงงานเปิดรับคนที่จบแล้วยังว่างงานมาอัพสกิล ตั้งเป้าสร้างนักรบไซเบอร์อีกหมื่นคนในปี 2567 นี้
พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ สกมช.มีแผนพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ จำนวน 1 หมื่นคน ให้เป็นนักรบไซเบอร์ช่วยงานของภาครัฐ โดยจะร่วมกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มากกว่า 20 แห่ง เปิดหลักสูตรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับนักศึกษาเข้ามาเรียนในสถาบันต่าง ๆ โดยในปีนี้ จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกทั้งของรัฐและเอกชน นอกจากนี้จะมีการร่วมมือกับ กระทรวงแรงงาน และบริษัทด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ สนับสนุนให้กลุ่มคนว่างงาน นักศึกษาจบใหม่ในสาขาต่างๆ ที่ต้องการเพิ่มทักษะ (อัพสกิล) และแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เพื่อเข้ามาทำงานด้านนี้ ซึ่งกำลังขาดแคลนจำนวนมาก
“ไทยยังขาดแคลนคนที่มีความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ จำนวนมาก โดยเฉพาะในองค์กรของรัฐ ซึ่งจากสถิติที่สำรวจ พบว่า ข้าราชการพลเรือนจำนวน 460,000 คน เป็นบุคลากรที่ทำงานรับผิดชอบด้านไอทีเพียง 0.5% เท่านั้น”
อีกทั้ง บุคลากรกลุ่มนี้ ก็ไม่ได้จบด้านไซเบอร์ฯ โดยตรงทั้งหมดด้วย แต่ต้องรับผิดชอบงาน เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ตั้งแต่การ ซ่อมแซมเครื่อง ดูแลเว็บไซต์ และระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ฯ ด้วยจำนวนคนที่น้อย แต่ปริมาณงานที่มาก จึงส่งผลถึงศักยภาพในการดูแลความปลอดภัย และมีความเสี่ยงในการถูกโจมตีหรือแฮ็กข้อมูลได้ง่าย
พล.อ.ต.อมร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะมีการประสานกับสถานประกอบการ องค์กรต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ที่เปิดหลักสูตรด้านนี้ ให้รับนักศึกษาไปฝึกงาน โดยมีบริษัทด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ สนับสนุนแล็ปให้นักศึกษาได้การ ทดลอง เพื่อให้มีทักษะพร้อมทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน คลาว์ด ซีเคียวริตี้ เพื่อรองรับนโยบาย โก คลาว์ด เฟิรส์ ของรัฐบาล และเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่สนใจสามารถเข้ามาทำงานด้านนี้
รวมถึงสกมช.จะช่วยในการหาทุนการศึกษา สนับสนุน สำหรับคนที่ขาดแคลน หรือมีช่องทางเงินให้กู้ยืมเรียน จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น พร้อมสร้างความมั่นใจ ให้กับนักศึกษาที่เข้ามาเรียนด้านนี้ว่าจบแล้วจะมีงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้รองรับให้เข้าทำงานอย่างแน่นอน
เขา เสริมว่า ที่ผ่านมาสกมช.ได้ ผลักดันการพัฒนาทักษะด้านไซเบอร์ให้กับคนไทย โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ให้มีองค์ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งมีการประสานงานเครือข่ายเพื่อบูรณาการ
ยกระดับบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้มีขีดความสามารถในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา สกมช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการจัดฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับเด็ก เยาวชน คนทำงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยมียอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทุกแพลตฟอร์มกว่า 1 ล้านคน จำนวนชั่วโมงการอบรมมากกว่า 2,000,000 ชั่วโมง
บทความโดย ปานฉัตร สินสุข
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 4 ม.ค. 2567
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1106839