หลักการที่เชื่อถือกันมานานว่าลายนิ้วมือของทุกคนในโลกแตกต่างกันนั้น โดนการค้นพบครั้งใหม่ท้าทายว่าอาจไม่เป็นความจริงไปเสียทั้งหมด
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียนำไอเดียที่เกิดขึ้นระหว่างการสนทนากับอาจารย์ตั้งแต่ชั้นปี 1 มาทำเป็นโปรเจคต์ที่ท้าทายความเชื่อซึ่งเป็นหลักการสำคัญของกระบวนการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
เกบ กัว นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมซึ่งเป็นหัวหน้าของโครงการค้นคว้าที่แสนท้าทายครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเกี่ยวกับกรณีศึกษาล่าสุดของเขาซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่แล้วในวารสาร Scineces Advances โดยเขายกประเด็นโต้แย้งหลักการที่ได้รับการยอมรับกันมานานหลายสิบปีว่า ลายนิ้วมือแต่ละนิ้วของคนล้วนมีเอกลักษณ์และไม่มีลายนิ้วมือคู่ใดในโลกนี้ที่เหมือนกันทุกประการ
กรณีศึกษานี้อาศัยการค้นพบจากการใช้เทคโนโลยี “เอไอ” ซึ่งพบความเหมือนกันของลายนิ้วมือคนละนิ้ว แต่เป็นของบุคคลเดียวกัน และกลายเป็นข้อโต้แย้งต่อความเชื่อที่ว่า ลายนิ้วมือแต่ละนิ้วไม่มีทางจะเหมือนกันนั้น ไม่จริงเสมอไป
โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ฮ็อด ลิพสัน จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและ ซูเวินเหยา จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก เมืองบัฟฟาโล พวกเขาใช้โปรแกรมเอไอที่เป็นเครือข่ายการวิเคราะห์เปรียบเทียบขั้นสูง ซึ่งทำงานในลักษณะคล้ายคลึงกับเทคโนโลยีการเปรียบเทียบและจดจำใบหน้า
ทีมงานได้นำลายนิ้วมือในฐานข้อมูลจำนวน 60,000 คู่ตัวอย่าง ซึ่งบางคู่ก็เป็นลายนิ้วมือของคนเดียวกัน แต่ต่างนิ้วกัน และมีอีกหลายคู่ที่เป็นลายนิ้วมือของคนละคนกัน
ผลปรากฏว่า ระบบเอไอตรวจพบลายนิ้วมือที่เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเป็นลายนิ้วมือของคน ๆ เดียวกัน แต่คนละนิ้ว เมื่อระบบเอไอสามารถพัฒนาการเปรียบเทียบได้อย่างแม่นยำขึ้นระหว่างการวิจัย มันก็สามารถชี้ได้ว่าลายนิ้วมือใดบ้างที่เป็นของคน ๆ เดียวกันโดยมีความแม่นยำถึง 77%
กัว กล่าวว่ากรณีศึกษานี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเอไอ มนุษย์เราศึกษาเรื่องของลายนิ้วมือมาโดยตลอด แต่ไม่มีใครเคยสังเกตถึงความคล้ายคลึงระหว่างลายนิ้วมือจากคนละนิ้ว จนกระทั่งเรามีเทคโนโลยีเอไอใช้งาน
ลิพสัน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยและทีมผู้เขียนรายงาน ชี้ว่าการค้นพบครั้งนี้อาจช่วยไขคดีเก่าเก็บที่ยังค้างคาและหาบทสรุปไม่ได้ รวมถึงคืนความยุติธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม เปอร์เซ็นต์ของความแม่นยำในการวิเคราะห์ของระบบเอไอที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือรื้อฟื้นคดีที่ผ่านการตัดสินจากศาลไปแล้ว แต่สามารถใช้เป็นตัวช่วยกลั่นกรองเบาะแสในคดียาก ๆ ได้
กัว กล่าวว่าทีมวิจัยต้องเผชิญอุปสรรคไม่น้อย กว่าจะได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลวิจัยในโครงการนี้ เนื่องจากวงการนิติวิทยาศาสตร์ยังคงมีความข้องใจและไม่ให้ความเชื่อถืออย่างเต็มร้อยว่าจะมีลายนิ้วมือจากนิ้วคนละข้างที่เหมือนกันจริง ๆ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าการค้นพบของ กัว และทีมงานไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่
คริสทอฟ ชองป์โปด์ ศาสตราจารย์ด้านนิติวิทยาศาสตร์จากสาขาวิชาอาชญวิทยาและกระบวนการยุติธรรมแห่งมหาวิทยาลัยโซานน์ในสวิตเซอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากซีเอ็นเอ็น โดยระบุว่า กรณีศึกษาของ กัว ไม่ได้ลบล้างหลักการที่สำคัญใด ๆ พร้อมทั้งเสริมว่า เรื่องของการค้นพบว่าลายนิ้วมือจากต่างนิ้วของบุคคลเดียวกันมีความเหมือนกันได้นั้น ความจริงเป็นสิ่งที่รู้กันดีอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีการพิมพ์ลายนิ้วมือ
กระนั้น กัว ก็ยังคงยืนยันว่าการศึกษาวิจัยของพวกเขานั้นไปไกลกว่าการวิจัยอื่น ๆ ในแวดวงที่เกี่ยวข้องที่เคยทำกันก่อนหน้านี้ ทีมงานยังตัดสินใจทำให้รหัสโปรแกรมเอไอของพวกเขาเป็นแบบโอเพนซอร์ส ซึ่งหมายความว่าทุกคนเข้าถึงได้ นำไปใช้งานและพัฒนาต่อยอดได้ต่อไป
ที่มา : businessinsider.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 16 ม.ค. 2567
Link : https://www.dailynews.co.th/news/3089724/