ทุกวันนี้จะทำอะไรก็ผูกติดอยู่กับบริการดิจิทัล แม้แต่จะใช้จ่ายแล้วท่านเมตตาให้ไปขอลดหย่อนภาษีเงินได้ ก็ยังต้องอาศัยบริการดิจิทัลออกใบรับเงินให้อีก สารพัดบริการดิจิทัลเหล่านี้น่าจะยุติลงเมื่อคนนั้นละสังขารไปสู่สุขคติ
แต่ในโลกยุค Genrative AI มีบางคนคิดถึงธุรกิจการให้บริการดิจิทัลหลังความตาย ตามไปขายบริการกันแม้ว่าตัวตนของคนนั้นในโลกนี้ไม่มีอีกแล้ว แต่ตัวตนดิจิทัลจะอยู่ต่อไปเป็นอมตะ ชิวิตดิจิทัลที่เป็นอมตะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์กันมานานหลายปี
ใคร ๆ ก็สามารถพูดคุยกับคนที่เสียชีวิตแล้วได้ ผ่านจอภาพสามมิติ วันนี้มีนับร้อยบริษัททั่วโลกที่พยายามจะสร้างบริการดิจิทัลทำนองนี้ขึ้นมา ตอนที่คนนั้นยังมีชีวิตก็ขายบริการสะสมข้อมูลเก็บไว้ พอเสียชีวิตไปแล้วก็ขายบริการให้ลูกหลานญาติมิตรได้มีโอกาสพูดคุยกับคนนั้นในภาพลักษณ์ที่น่าประทับใจ ไม่ใช่ภาพลักษณ์ตอนที่เจ็บป่วยทรุดโทรม
พูดคุยกันได้ตราบเท่าที่ยังจ่ายค่าบริการ ซึ่งอาจกลายเป็นการสร้างรายได้จากข้อมูลเดิมขยายออกไปได้อีกเป็นปีหลังจากที่เจ้าของข้อมูลนั้นไปสู่สุขคติแล้ว ขายบริการดิจิทัลกันตั้งแต่ยังไม่เกิดจนกระทั่งอีกนับปีหลังจากที่จากโลกนี้ไปแล้ว
ที่ดูเป็นธุรกิจน้อยหน่อย เป็นบริการจากโครงการวิจัยที่พยายามหาหนทางสะสมความเป็นตัวตนของคนเอาไว้ให้ใกล้เคียงกับคนที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้นมากที่สุด
ถ้าเป็นข้อมูลทางกายภาพ ก็ไล่สะสมตั้งแต่ ดีเอ็นเอ ตามมาด้วยอีกสารพัดข้อมูลทางชีวภาพเกี่ยวกับคนนั้น สูงเท่าใด หนักเท่าใด ข้อมูลสุขภาพเป็นอย่างไร หน้าตาและรูปร่างเป็นอย่างไร ท่าเดินท่านั่งท่ายืนเป็นอย่างไร เสียงเป็นอย่างไร
ซึ่งโครงการวิจัยนี้พยายามหาคำตอบว่าเก็บอะไรบ้าง เก็บมากแค่ไหน ถึงจะเพียงพอที่จะมีข้อมูลที่วันหน้าเมื่อเทคโนโลยีมีความพร้อม จะสังเคราะห์ตัวตนดิจิทัลที่มีกายภาพใกล้เคียงกับเจ้าของข้อมูลมากที่สุด แต่ที่ยุ่งยากกว่ามากคือจะต้องบันทึกข้อมูลใดไว้บ้างเพื่อที่จะเพียงพอสำหรับการสังเคราะห์ความนึกคิด จิตใจที่ใกล้เคียงกับคนนั้นขึ้นมาได้
ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เอไอมาช่วยงานนี้แน่ ๆ และเอไอจะเก่งขึ้นเมื่อได้รับการฝึกฝนจากข้อมูลจำนวนมากขึ้น หลากหลายยิ่งขึ้น เลยกลายเป็นบริการสะสมข้อมูลกายภาพ และข้อมูลจิตใจ ให้กับคนที่สนใจอยากมีตัวตนดิจิทัลที่เป็นอมตะ
ข้อมูลทั้งสองเรื่องนี้จะใช้ในการสังเคราะห์ตัวตนดิจิทัลแทนตัวจริง และข้อความที่พูดคุยกับคนที่มาสนทนาด้วย
โครงการนี้ตั้งใจให้การสนทนาใกล้เคียงกับการพุดคุยกับตัวจริงมากที่สุด จึงต้องอาศัยผู้คนมาใช้บริการเพื่อช่วยฝึกเอไอให้เรียนรู้ในการตอบโต้การสนทนาได้ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น ในทำนองเดียวกับที่เราต้องปรับคำถามซ้ำไปมากับโปรแกรมเอไอที่ใช้กันอยู่บ่อย ๆ กว่าที่จะได้คำตอบที่เราพอใจ
ใครที่คิดว่าตนเองมีหัวคิดแหลมคมไร้เทียมทาน แต่สังขารไม่ค่อยจะดี ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นร้อยวัน น่าจะลองใช้บริการนี้ดูบ้าง วันหน้าจะได้อยู่ยงคงกระพันตามสั่งการคนนั้นคนนี้ได้อีกยาวนาน ลองใช้บริการนี้ได้ที่ LifeNaut.com ซึ่งมีทั้งบริการฟรี และที่มีค่าบริการ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เสนอบริการคล้าย ๆ กัน คือ hereafter.ai ให้บริการเก็บข้อมูลชีวิตและตัวตนของคนไว้เหมือนกัน โดยบอกว่าเขาเก็บให้เชื่อมโยงเป็นตัวตนของเราได้ดีกว่าที่เราจะเก็บแยกส่วนไว้ตามฮาร์ดดิสก์บ้าง ตามคราวด์บ้าง ตามเครือข่ายสังคมบ้าง
ซึ่งก็เป็นบทบาทเอไออีกนั่นแหละที่เรียบเรียงบูรณาการข้อมูลเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เพียงแต่ยังเป็นคล้ายๆ ภาพยนตร์บันทึกชีวประวัติของเจ้าของข้อมูลนั้น ยังไม่ได้เชื่อมต่อเป็น Chatbot หรือ Avatar ที่สนทนาได้คล้ายกับตัวจริง เพราะเก็บค่าบริการในการใช้งาน จึงสัญญาไว้เท่าที่มั่นใจว่าทำได้จริง
ที่น่าตกใจคือตัวตนดิจิทัลที่เป็นอมตะนี้ มีหลายกรณีที่ไปเปิดเผยความลับที่คนนั้นไม่เคยบอกคนใกล้ชิด จากฤิทธิ์เดชของการบูรณาการข้อมูลของเอไอ ใครมีกิ๊กเล็กกิ๊กน้อยไว้ ระวังจะถูกเปิดโปงโดยตัวตนดิจิทัลของตนเองไว้ให้ดี.
บทความโดย ดร.บวร ปภัสราทร | ก้าวไกล วิสัยทัศน์
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่ม า : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 ม.ค. 2567
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1107389