มิจฉาชีพออนไลน์ผุดรูปแบบใหม่ ปลอมเป็นค่ายโทรศัพท์มือถือ หลอกถามข้อมูลส่วนตัว อ้างจะช่วยแก้ปัญหาอินเทอร์เน็ตช้า หลังการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู-ดีแทค ทำให้ผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งรู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตช้าลง
เพจ Drama-addict เผยกลโกงมิจฉาชีพรูปแบบใหม่ “ใครใช้มือถือแล้วมีปัญหา แล้วไปคอมเมนต์ไว้ในเพจผู้ให้บริการ ระวังด้วย เพราะมิจฉาชีพอาจทำเพจปลอมทักไปหาผู้เสียหาย อ้างว่าเป็นตัวแทนจากผู้ให้บริการ แล้วหลอกลวงเหยื่อ”
หลังกรณีการควบรวม ทรู-ดีแทค ทำให้ผู้ใช้งานส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าอินเทอร์เน็ตที่ตนใช้งานอยู่มีความเร็วลดลง หลายคนก็ไปคอมเมนต์ในเพจของทรู และดีเทค จนทำให้มีเพจปลอมทักเข้ามา
อย่างในโพสต์นี้มิจฉาชีพอ้างว่าเป็นตัวแทนจากดีแทค ส่งข้อความหาผู้เสียหายว่า “ลูกค้าได้รับปัญหาอินเทอร์เน็ต ระบบติดต่อมาแก้ไขให้ สะดวกหรือไม่ ขอเบอร์โทรศัพท์” แต่ดีที่ผู้ใช้บริการคนนี้รู้ทันจึงไม่ได้ให้เบอร์กับมิจฉาชีพไป
ด้านพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) บอกว่า นี่เป็นอีกหนึ่งกลโกงใหม่ของมิจฉาชีพ ที่มักจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามประเด็นที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน อย่างก่อนหน้านี้เมื่อกรณีมิจฉาชีพออนไลน์ระบาดหนัก แก๊งมิจฉาชีพก็ปลอมเป็นเพจตำรวจ เพจกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ช่วงประชาชนบ่นเรื่องค่าไฟแพงก็ปลอมเป็นการไฟฟ้า ขอให้ประชาชนตั้งขอสังเกตไว้ก่อนเลยว่าเพจทางการของหน่วยงานเหล่านี้ทั้งรัฐและเอกชน มีเพจเดียวเท่านั้น
พลอากาศตรีอมร ยังบอกว่า เพจปลอมเดี๋ยวนี้พยายามสร้างโปรไฟล์ให้น่าเชื่อถือมากขึ้น โดยการสร้างแอคเคาต์ปลอมมากดไลก์กันเองเพื่อเพิ่มยอดไลก์ จากเดิมที่เราสามารถสังเกตเพจปลอมโดยดูจากยอดไลก์ หากยอดไลก์น้อยแปลว่าเป็นเพจปลอมเดี๋ยวนี้อาจทำไม่ได้แล้ว เพราะเพจปลอมบางครั้งก็มียอดไลก์เยอะมาก และบางเพจอาจถึงขั้นซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
วิธีสังเกตเพจปลอมง่าย ๆ คือของจริงจะไม่มีการให้โอนเงินก่อน หากอยากได้รับการช่วยเหลือ อยากได้การอำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่าง ๆ แล้วต้องโอนเงินไปก่อนให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ นอกจากนี้มิจฉาชีพปัจจุบันจะรู้ข้อมูลเราเยอะ ชื่อ เบอร์โทรฯ ที่อยู่ จากการที่ข้อมูลของเรารั่วไหล หากมีใครโทรเข้ามาแล้วรู้เรื่องเราเยอะ บอกข้อมูลของเราเยอะ ๆ ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน รวมถึงหากมาชวนคุยยาว ๆ เร่งเร้าว่าต้องรีบดำเนินการเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ แล้วสุดท้ายจบลงด้วยการให้กดลิงก์ โหลดแอปฯ หรือโอนเงิน คือมิจฉาชีพแน่นอน
หากประชาชนไม่แน่ใจว่าเป็นเพจปลอมหรือไม่ สามารถแคปภาพมาสอบถามผ่านทางเพจของ สกมช. ได้เลย จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 13 ม.ค.67
Link : https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/214604