มท.1 ประธานเอ็มโอยูภาคีเครือข่ายป้องทุจริตสอบแข่งขันท้องถิ่นปี’67 ยกกฎเหล็ก 4 ข้อคุมเข้ม เอาผิดมหา’ลัยหากพบข้อสอบรั่ว
เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่น เพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นประจำปี 2567 โดยมีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย คือนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายณรงวิทย์ สุวรรณสิทธิ์ ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และนายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ร่วมลงนาม
นายอนุทินกล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะมีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ.2567 นี้ ซึ่งมีตำแหน่งว่างประมาณ 6,238 อัตรา โดยคาดว่าจะมีผู้สมัครสอบมากกว่า 600,000 คน กระจายไปตามภูมิภาคของศูนย์สอบ และสนามสอบต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ปรากฏข่าวว่ามีกระบวนการทุจริตการสอบแข่งขันหลายกลุ่ม ดังนั้นเพื่อให้การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นไปด้วยด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงได้จัดทำพิธีลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ระหว่าง สถ., ป.ป.ช., ป.ป.ท., บก.ปปป. และ กสถ.โดยมีเจตนารมณ์ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน และจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และประสานงานให้เกิดความร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขัน รวมทั้งรวมตัวกันในการจัดกิจกรรมต่อต้านการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นด้วย
นายอนุทินกล่าวต่อว่า เพื่อแสดงจุดยืนของกระทรวงมหาดไทยจึงมอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น คือ 1.มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานในการจัดสอบแข่งขัน ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้ข้อสอบและคำตอบรั่วไหลในทุกขั้นตอน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสอบ มหาวิทยาลัยต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย 2.ผู้สมัครสอบแข่งขันต้องให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการสมัครเข้าสอบแข่งขัน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการสมยอมให้มีการเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ผู้สมัครสอบต้องถูกปรับให้ตก และถูกตัดสิทธิไม่ให้สมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นไปตลอดชีวิต รวมทั้งต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาอีกด้วย
นายอนุทินกล่าวอีกว่า 3.ข้าราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทางใด ๆ อันจะส่งผลให้การสอบแข่งขันดังกล่าวมีการทุจริต หรือมีการเรียกรับเงินเกิดขึ้น หากปรากฏหลักฐานว่ามีการกระทำดังกล่าวต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง 4.บุคคลอื่นใดหรือกลุ่มบุคคลใดหรือสถาบันติวใด หากปรากฏหลักฐานว่ามีส่วนรู้เห็น หรือร่วมกระทำการทุจริตหรือเรียกรับผลประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาด้วย
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 ม.ค.67
Link : https://www.matichon.co.th/politics/news_4395016