• เหตุระทึกอุบัติเหตุเครื่องบินชนกันที่สนามบินฮาเนดะ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมาตรการรับมือภัยฉุกเฉินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ รวมทั้งสนามบินฮาเนดะได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถช่วยชีวิตคนเกือบ 400 ชีวิต ออกมาจากเครื่องได้อย่างปลอดภัยในเวลาเพียง 2 นาที
• แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากต่างชี้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงระบบฉุกเฉินของเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพ จนเกิดปาฏิหาริย์ท่ามกลางเรื่องเลวร้ายขึ้นได้
• การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์จึงนับเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก ยึดถือเป็นแนวทาง เพื่อให้สามารถช่วยชีวิตคนให้ได้มากที่สุดในยามที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ขึ้นอีก
ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับเหตุการณ์อุบัติเหตุ ภัยพิบัติรุนแรงตั้งแต่ต้นปี ซึ่งถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ใหญ่ แต่กลับพบว่าญี่ปุ่นยังคงสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที จนเกิดความสูญเสียน้อยกว่าที่คาด โดยเฉพาะกับเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ชนกับเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งที่สนามบินฮาเนดะแบบไม่คาดคิด แต่การอพยพผู้โดยสารเกือบ 400 คน บนเครื่องที่กำลังไฟลุกไหม้ สามารถทำได้รวดเร็วในเวลาเพียง 90 วินาที หรือไม่เกิน 2 นาทีเท่านั้น จนทำให้ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องทั้งหมดรอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์ แม้ว่าจะมีผู้บาดเจ็บราว 14 คน แต่ก็ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บรุนแรง ขณะที่มีผู้เสียชีวิตบนเครื่องบินของหน่วยยามฝั่ง 5 ศพ และรอดชีวิตมาได้เพียง 1 คน
สำหรับความสำเร็จในการอพยพครั้งนี้ นอกจากการทำหน้าที่ของลูกเรือบนเครื่องได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องชื่นชมผู้โดยสารที่ปฏิบัติตามมาตรการฉุกเฉิน ไม่พยายามจะนำกระเป๋าหรือข้าวของของตัวเองลงมาจากเครื่อง ซึ่งจะทำให้เสียเวลามากขึ้น ขณะที่สไลด์ยางฉุกเฉินก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีผู้โดยสารเต็มลำก็ตาม ซึ่งนับว่าโชคดีที่ภายในเครื่องมีควันเข้าไปไม่มาก ทำให้ผู้โดยสารทุกคนยังสามารถช่วยตัวเองออกมาได้ โดยไม่มีใครสำลักควันถึงขั้นหมดสติ
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ก็คือการสอบสวนหาสาเหตุว่า เกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการสื่อสารกับหอบังคับการบินหรือไม่ จึงทำให้เครื่องบินทั้ง 2 ลำ มาลงเอยอยู่บนรันเวย์เดียวกัน ขณะที่กัปตันของเจแปนแอร์ไลน์ได้รับอนุญาตให้ลงจอด และมองไม่เห็นเครื่องบินขนาดเล็กของหน่วยยามฝั่งที่อยู่เบื้องล่าง
การอพยพที่น่าทึ่ง
ชอน พรูชนิคกิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการบิน แห่งมหาวิทยาลัยโอไอโอ ของสหรัฐฯยอมรับว่าความรวดเร็วในการอพยพจากเหตุการณ์นี้น่าทึ่งมาก ซึ่งแสดงว่าผู้โดยสารให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการอพยพ และไม่มัวแต่หยิบข้าวของ ทำให้สามารถทำเวลาได้ดี เพราะอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการอพยพผู้โดยสารในเหตุการณ์ฉุกเฉิน ก็คือการที่ผู้โดยสารพยายามจะกลับไปหยิบของของตัวเองก่อนจะยอมอพยพออกไป
ด้านนายเดสมอนด์ รอสส์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายที่ปรึกษาด้านการบินและการขนส่งทางอากาศ ไอร์แลนด์ เปกาซัส ระบุว่า จริง ๆ แล้ว มีข้อกำหนดการรับรองความปลอดภัยระดับโลกสำหรับผู้ผลิตเครื่องบินอยู่แล้ว ที่จะต้องสามารถอพยพผู้โดยสารในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ภายในเวลาไม่ถึง 90 วินาที โดยข้อกำหนดนี้ใช้กับเครื่องบินทุกลำ รวมไปถึงเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง แอร์บัส เอ 380 ด้วย โดยจากเหตุการณ์นี้จะพบว่าลูกเรือทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดประตูฉุกเฉิน การลำเลียงผู้โดยสารไปที่ประตู แม้ว่าจะมีความสับสนอยู่บ้างในการลงมาตามสไลด์ยาง ที่บางคนวิ่งลงมาแทนที่จะนั่งลง และที่น่าทึ่งที่สุดคือมีคนได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยแค่ไม่กี่คน
เช่นเดียวกับนายเจฟฟรีย์ โธมัส บรรณาธิการเว็บไซต์ด้านความปลอดภัยทางการบิน แอร์ไลน์เรตติ้งดอทคอม ที่ระบุว่า การอพยพผู้โดยสารครั้งนี้ถือว่ายกระดับไปอีกขั้น เพราะผู้โดยสารทั้งหมดสามารถอพยพลงมาได้ภายใน 90 วินาที โดยใช้สไลด์ยางฉุกเฉินแค่เพียงไม่ถึงครึ่งเท่านั้น โดยจะเห็นจากคลิปว่า มีการใช้ทางลงฉุกเฉินเพียง 3 ทาง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วมีทางลงฉุกเฉินถึง 10 ทาง จึงนับว่าครั้งนี้เป็นปาฏิหาริย์จริง ๆ
ควันไฟที่น้อยลงเป็นปัจจัยช่วยชีวิต
นายรอสส์ยังระบุด้วยว่า วัสดุยุคใหม่ที่นำมาทำเครื่องบินก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชีวิตคนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะหากเป็นเครื่องบินรุ่นเก่า วัสดุที่ใช้อาจจะติดไฟได้ง่ายกว่า แม้แต่วัสดุทำที่นั่งด้วย เพราะหากวัสดุติดไฟง่ายจะเกิดควันเพิ่มมากขึ้นในห้องโดยสาร และลดโอกาสการรอดชีวิตลงอีก ทั้งจากการมองไม่เห็นทางออก และหมดสติจากการสำลักควัน
โดยเมื่อดูจากภาพของซากเครื่องบินที่ยังจอดอยู่หลังเกิดเหตุ จะพบว่าแม้ตัวเครื่องจะได้รับความเสียหายหนัก แต่มันยังคงเกาะตัวกันแบบไม่บุบสลาย ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะที่ผ่านมาอุบัติเหตุจากเครื่องบินจำนวนไม่น้อย แม้ว่าผู้โดยสารจะรอดชีวิตจากการชน หรือการตก แต่มักจะเสียชีวิตจากการสำลักควัน เนื่องจากวัสดุภายในเครื่องลุกติดไฟจนเกิดควันพิษจำนวนมาก ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเดินหน้าเปลี่ยนวัสดุที่ทำให้เกิดควันพิษออก แล้วแทนที่ด้วยวัสดุชนิดใหม่มาแทน
วิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุ
นายโธมัส มองว่าจากการสอบสวนเบื้องต้น คาดว่าสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ น่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ควบคุมการบินของสนามบินฮาเนดะ กับเครื่องบินของหน่วยยามฝั่ง ทำให้เครื่องบินของหน่วยยามฝั่งเข้าไปในรันเวย์ ขณะที่เครื่องบินโดยสารลงแตะรันเวย์แล้ว
ขณะที่นายชอน พรูชนิคกิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการบิน ระบุว่า การที่สนามบินฮาเนดะมีรันเวย์ที่ขนานกัน อาจจะทำให้เกิดความสับสนของเครื่องบินในการวิ่งผิดทาง แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งเข้าไปยังรันเวย์นั้นได้อย่างไร และนี่เป็นคำถามใหญ่ที่ต้องการคำตอบ หรืออาจจะเกิดความสับสนในคำแนะนำของหอควบคุมการบิน
ส่วนปัจจัยเรื่องของสภาพอากาศที่มักจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้น เมื่อดูจากคลิปจะเห็นว่า สภาพอากาศค่อนข้างเปิด ดังนั้นเครื่องบินที่ลงจอดน่าจะสามารถมองเห็นอุปสรรคที่ขวางทางได้เป็นอย่างดี
เดินหน้าสืบสวนสาเหตุ
นายโธมัส ระบุว่า กัปตันเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งที่รอดชีวิตเพียงคนเดียว จะเป็นกุญแจสำคัญว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ โดยยังต้องรอให้เขารักษาตัวให้ดีขึ้นจากอาการบาดเจ็บสาหัสก่อน
ขณะที่บริษัทแอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบิน ก็จะเข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนครั้งนี้ด้วย โดยจะตรวจสอบการทำงานของเครื่องบินลำนี้ทั้งหมด ว่าอะไรที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้นได้บ้าง เช่นเดียวกับหน่วยงานควบคุมการบินพลเรือนของญี่ปุ่นที่จะเป็นหลักสำคัญ โดยจะมีการตรวจสอบกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน และกล่องบันทึกข้อมูลการบินและนำไปวิเคราะห์ ว่ามีความผิดปกติใดๆ อะไรเกิดขึ้นในวินาทีก่อนประสบอุบัติเหตุบ้าง เช่นเดียวกับการตรวจสอบเครื่องบินของหน่วยยามฝั่ง ก็จะเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบเช่นกัน.
ผู้เขียน : อาจุมมา โอปอล
ที่มา : channelnewsasia, BBC
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 3 ม.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2752356