‘ศุภมาส’ รมว.อว. ประธานในพิธีเปิด ‘ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ และรังสีแห่งชาติ’ พร้อมปฏิบัติงาน หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ และรังสีของประเทศ
ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ตรวจเยี่ยม สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และเปิดศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีแห่งชาติของประเทศ
เพื่อยกระดับการเตรียมความพร้อม เฝ้าระวังภัย และตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ และรังสีของประเทศไทย อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสื่อสารให้ทันต่อสถานการณ์ “รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ” โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว
รมว.อว. กล่าวว่า ปส. หน่วยงานภายใต้สังกัด อว. มีภารกิจสำคัญในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี ตลอดจนเตรียมความพร้อม และตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ และรังสีของประเทศ
โดยศูนย์ฯ นี้ใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี และเป็นศูนย์กลางข้อมูลการเฝ้าระวังภัย การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองกรณีเกิดเหตุฯ รวมทั้งการประเมิน และติดตามสถานการณ์ อีกทั้งมีความสามารถในการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ และต่างประเทศโดยทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
ภายในศูนย์ฯ มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการตอบสนองเหตุที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพเพิ่มทักษะ และความเชี่ยวชาญ รวมทั้งฝึกซ้อมปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนมีอุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัย จึงมั่นใจได้ว่าหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ปส. สามารถรับมือกับสภาวะวิกฤติได้อย่างทันท่วงที
เพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ และรังสีในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงจากการเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ และรังสี
อีกทั้ง ในสถานการณ์ของประชาคมโลกที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากข้อพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม ศูนย์ฯ ดังกล่าวจะทำหน้าที่สำคัญในการเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์
จากการเชื่อมโยงข้อมูลสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั่วในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ และรังสีที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย รวมทั้งเฝ้าระวังการลักลอบทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทุกภูมิภาคทั่วโลก สำหรับในสภาวะปกติ
ศูนย์ฯ ยังทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงของแต่ละในพื้นที่ในประเทศไทย ในการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลังจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์และรังสีที่เคยเกิดขึ้นในอดีตทั่วโลก
อาทิ การปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ได้รับ การบำบัดจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา-ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนใช้เพื่อเป็นศูนย์ฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินฯ ตามแผนป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ทั้งการฝึกซ้อมโดยการจำลองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ และที่เคยเกิดขึ้นจากกรณีตัวอย่างของต่างประเทศ
หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี หรือพบวัสดุต้องสงสัย เบื้องต้นให้สังเกตลักษณะภายนอกว่ามี “สัญลักษณ์ทางรังสี” ที่มีพื้นป้ายสีเหลือง วงกลมและรูปใบพัดสามแฉกสีม่วงแดงหรือสีดำหรือไม่ หากมีสัญลักษณ์ดังกล่าวห้ามแตะต้องวัสดุนั้น พร้อมกันนี้ขอให้แจ้งมายังสายด่วน ปส. หมายเลขโทรศัพท์ 1296
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 ม.ค.67
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1108523