GETTY IMAGES
ทหารอิสราเอลกำลังถือแท็บเลตสำหรับปฏิบัติการ
กองกำลังป้องกันอิสราเอล หรือ ไอดีเอฟ เป็นหนึ่งในกองทัพที่ทันสมัยมากที่สุดในโลก จากการคำกล่าวอ้างในปี 2022 ว่าพวกเขาสร้าง “เทคโนโลยีสำคัญล้ำยุคมากมาย” ภายใต้การร่วมมือกันกับอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ
สงครามในฉนวนกาซาทำให้เห็นว่ากองทัพอิสราเอลได้นำอาวุธไฮเทคมาใช้
ข้อมูลจากไอดีเอฟ ระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอกำลังมีบทบาทอย่างมาก ทั้งในอาวุธที่อิสราเอลใช้และการระบุเป้าหมายโจมตีต่าง ๆ ถึงแม้ว่าผู้ตัดสินใจสั่งโจมตีเพื่อสังหารยังคงขึ้นอยู่กับนายทหาร
ยอดผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาทะลุ 22,000 คน ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ซึ่งบริหารงานโดยกลุ่มฮามาส
ไอดีเอฟ บอกว่า การใช้อาวุธเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และด้วยความระมัดระวังเพื่อลดการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน
แล้วอาวุธใหม่ไฮเทคของอิสราเอลมีอะไรบ้าง ?
รถถังบารัค
ISRAELI MINISTRY OF DEFENCE
รถถังบารัค
รถถังบารัค (Barak) ซึ่งนำเอไอมาใช้ในหลาย ๆ ทาง เป็นรถถังรุ่นที่ 5 ของรถถังชื่อดังอย่างเมอร์คาวา (Merkava)
คุณสมบัติเด่น ๆ คือ ผู้บัญชาการสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวรอบ ๆ ตัวรถได้ถึงแม้ฝาเปิดด้านบนจะปิดอยู่ก็ตาม โดยทางไอดีเอฟเรียกมันว่า “เซ็นเซอร์ตรวจจับแบบกว้างที่เชื่อถือได้” ที่ช่วยสร้างภาพเสมือนจริงของสิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายนอก
รถถังใหม่คันแรกถูกส่งไปยังกองพันที่ 52 ของกองพลยานเกราะที่ 401 เมื่อต้นเดือนกันยายนปี 2023 หลังจากพัฒนามา 5 ปี
รถถังรุ่นบารัคยังทำงานร่วมกับระบบที่เรียกว่า “Trophy active protective” ซึ่งสร้าง “เกราะป้องกัน” แบบ 360 องศารอบตัวรถถัง นอกจากนี้ ระบบยังตรวจจับและต่อต้านภัยคุกคามใด ๆ ต่อตัวรถทันทีด้วยการยิงจรวดออกไปทำลายจรวดที่โจมตีเข้ามา
สปาร์ค โดรน
AERONAUTICS
สปาร์ค โดรน
สปาร์ค โดรน (Spark drone) ถูกพัฒนาภายใต้ส่วนหนึ่งของโครงการสตรอม คลาวด์ (Strom Cloud) ของกองทัพอากาศอิสราเอล ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมข่าวกรองและสนับสนุนการต่อสู้โดยอากาศยานไร้คนขับ (UAVs) และผลิตโดยบริษัทสัญชาติอิสราเอลชื่อว่า ราฟาเอล แอดวานซ์ ดีเฟนซ์ ซิสเทม (Rafael Advanced Defence Systems) และ แอโรนอติคส์ กรุ๊ป (Aeronautics Group)
กองกำลังป้องกันอิสราเอลไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโดรนชนิดใหม่นี้มากนัก พวกเขากล่าวว่ามัน “จะช่วยพัฒนาศักยภาพปฏิบัติการเชิงรุกของกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพตามข้อมูลที่ได้รับ” แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามันทำงานอย่างไร
โดรนติดระเบิด
RAFAEL ADVANCED DEFENCE SYSTEMS
สไปค์ ไฟร์ฟลาย
นี่คือรูปแบบหนึ่งของโดรนกามิกาเซ ซึ่งน้ำหนักเพียง 3 กิโลกรัมเท่านั้น และมาพร้อมกับหัวรบที่ถอดออกได้
จากข้อมูลของราฟาเอล ฯ บริษัทผู้ผลิต ระบุว่า โดยหลัก ๆ แล้วจะใช้ในระยะนอกเหนือขอบเขตการมองเห็น นั่นหมายความว่าโดรนสามารถบินไปยังตำแหน่งของศัตรูซึ่งทหารที่กำลังปฏิบัติการภาคพื้นดินไม่สามารถมองเห็นได้
หลังนำออกจากกล่องพกพาขนาดเล็ก ตัวโดรนสามารถลอยอยู่เหนือพื้นได้นานถึง 30 นาที ช่วยให้กองทัพรับรู้สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ได้ไกลถึง 1.5 กิโลเมตร
มันสามารถรวบรวมข้อมูล และระบุเป้าหมายภายใต้การสั่งการของทหารซึ่งควบคุมอุปกรณ์ผ่านแท็บเล็ต และยังสามารถกลับไปที่ฐาน หรือในกรณีที่มันถูกติดตั้งหัวรบขนาด 350 กรัมมาด้วย มันจะสามารถพุ่งชนเป้าหมายได้ โดยความเสียหายจะกระจายตัวได้รอบทิศทาง
ไอรอน สติง
ไอรอน สติง (Iron Sting) เป็น “ปืนครกนำวิถีด้วยระบบเลเซอร์และจีพีเอสที่แม่นยำ” พัฒนาโดยบริษัทเอลบิท ซิสเทม (Elbit System) ซึ่งข้อมูลจากไอดีเอฟระบุว่า อาวุธชนิดนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในฉนวนกาซาเมื่อเดือนตุลาคม 2023
ด้านผู้ผลิตระบุว่า ไอรอน สติง เป็นปืนครกนำวิถีขนาด 120 มิลลิเมตรที่มีความแม่นยำ มอบ “ความแข็งแกร่งให้กับทุกสถานการณ์ในสนามรบ” โดยมีระยะยิงที่ 1-12 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดลำกล้องปืนครก
ขณะที่ การระเบิดและการกระจายตัวของหัวรบสามารถเจาะทะลุคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นได้ จากข้อมูลของบริษัทเอลบิท
ELBIT SYSTEMS
ปืนครกไอรอนสติง
เอไอมีบทบาทในสงครามอย่างไร
แม้ว่าการใช้เอไอถูกอ้างว่าทำให้อาวุธโจมตีเป้าหมายแม่นยำมากขึ้น และช่วยจำกัดวงความเสียหายที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงการสังหารชีวิตพลเรือน แต่องค์การสหประชาชาติและคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC แสดงความกังวลต่อกรณีการใช้เอไอและการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ในความขัดแย้งที่ใช้อาวุธใส่กันและกัน
ICRC ระบุในรายงานที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้วว่า “การทำหน้าที่ตามกฎหมายและความรับผิดชอบทางจริยธรรม จะต้องไม่ถูกโยกย้ายไปให้เครื่องจักรและเอไอปฏิบัติแทนมนุษย์” อย่างไรก็ตาม ICRC ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานการใช้เอไอของอิสราเอล
ความกังวลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับระบบอาวุธอัตโนมัติ ที่ตอบสนองทันทีเมื่อตัวกลไกถูกเปิดใช้งาน รวมถึงระบบป้องกันขีปนาวุธและโดรนติดระเบิดต่าง ๆ
ในปี 2023 กองกำลังป้องกันอิสราเอลได้ใช้เอไอสำหรับงานรวบรวมข่าวกรองและระบุเป้าหมาย
นอกจากนี้ มันยังถูกใช้ในสงคราม 11 วันในฉนวนกาซาเมื่อปี 2021
จากบทสัมภาษณ์บนเว็บไซต์สำนักข่าวแห่งหนึ่งในอิสราเอลชื่อว่า วายเนท นิวส์ เมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว นายอาวีฟ โคชาวี อดีตหัวหน้าเสนาธิการของกองกำลังป้องกันอิสราเอล พูดถึงหน่วยบัญชาการระบุเป้าหมายของเขาว่า ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และนายทหารหลายร้อยคนซึ่งขับเคลื่อนความสามารถโดยเอไอ
“มันเป็นเครื่องจักรที่สามารถประมวลผลข้อมูลมหาศาลได้เร็วกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์คนใด และแปรผลข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นเป้าหมายที่สามารถดำเนินการต่อได้” นายอาวีฟ กล่าว
“ในอดีตเราจะระบุเป้าหมายในฉนวนกาซาได้ 50 แห่งภายใน 1 ปี แต่เครื่องจักรตัวนี้ ทำให้เราสามารถระบุเป้าหมายได้ 100 แห่งภายในวันเดียว และมากกว่า 50% ของพวกมันถูกโจมตีแล้ว” เขาอธิบายโดยอ้างถึง “ยุทธการพิทักษ์กำแพง (Operation Guardian of the Walls)” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2021
ไอดีเอฟและไอเอผลิตเป้าหมายที่ชื่อว่า “เดอะ กอสเปล
เดอะ กอสเปล (The Gospel) เป็นแพลตฟอร์มเอไอตัวใหม่ของอิสราเอลที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในหน่วยบัญชาการระบุเป้าหมาย มันถูกอธิบายโดยกองกำลังป้องกันอิสราเอลในบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกองทัพเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2023 ว่า “เป็นโรงงานระบุเป้าหมายที่ทำงานตลอดเวลา”
จากข้อมูลของไอดีเอฟ ระบุว่า มันเป็น “ระบบที่เอื้อให้เครื่องมืออัตโนมัติระบุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว…ด้วยความช่วยเหลือจากปัญญาประดิษฐ์ ผนวกกับการสกัดข้อมูลข่าวกรองที่อัปเดทเข้ามาได้อย่างรวดเร็วและอัตโนมัติ เพื่อสร้างคำแนะนำสำหรับนักวิจัย โดยมีเป้าหมาย คือ จับคู่ข้อมูลที่ได้จากคำแนะนำของเอไอเข้ากับการระบุตัวตนที่ดำเนินการโดยบุคคล”
ระบบนี้กำหนดเป้าหมายสำหรับเข้าโจมตี จากการประมวลผลข้อมูลที่ถูกนำเข้าโดยกองกำลังต่าง ๆ ของหน่วยข่าวกรองอิสราเอล ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม ไอดีเอฟ ระบุว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังคงขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่
ในวันที่ 27 ของสงคราม ทางกองกำลังป้องกันอิสราเอลกล่าวว่ามีเป้าหมายมากกว่า 12,000 แห่งในฉนวนกาซา
นาย ยูวาล อับราฮัม นักข่าวสืบสวนสอบสวนชาวอิสราเอลซึ่งมีฐานทำงานอยู่ในนครเยรูซาเล็ม ได้สืบสวนการใช้อาวุธเอไอในสงครามที่กาซา
รายงานของเขาที่ชื่อว่า “โรงงานลอบสังหารมวลชน” ตีพิมพ์ในนิตยสาร +972 สื่อออนไลน์อิสระ ภายใต้องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งดำเนินการโดยนักข่าวชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล รวมถึงเว็บไซต์สำนักข่าว “โลคัล คอล” โดยในรายงานดังกล่าวอ้างอิงบทสนทนาระหว่างสมาชิกปัจจุบันและอดีตสมาชิกชุมชนข่าวกรองของอิสราเอลทั้งหมด 7 นาย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ข่าวกรองทางทหาร และเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของอิสราเอล
นายอับราฮัม บอกกับบีบีซีว่า ระบบเดอะ กอสเปล สามารถระบุ “ฐานปฏิบัติการและบ้านของครอบครัวต่าง ๆ” รวมถึงจำนวนพลเรือนที่ไอดีเอฟประเมินว่าจะถูกสังหาร
“เมื่อพลเรือนเสียชีวิตในฉนวนกาซา ส่วนใหญ่ถูกคำนวนไว้แล้ว และเป็นการกระทำโดยเจตนา” นายอับราฮัมอ้างคำพูดแหล่งข่าวนิรนามของเขาซึ่งเป็นผู้กล่าวด้วยว่า มีปฏิบัติการสร้างเป้าหมายที่มีอายุน้อยเพียง 16 ปี และเกณฑ์เกี่ยวกับการทำร้ายพลเรือนชาวปาเลสไตน์ “กลับถูกผ่อนปรนอย่างมีนัยสำคัญ” เมื่อพุ่งเป้าไปที่กลุ่มสมาชิกฮามาส
เมื่อถามไอดีเอฟถึงข้อกล่าวหาดังกล่าว ทางกองกำลังป้องกันอิสราเอลบอกกับบีบีซีว่า การกระทำดังกล่าว “เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อการโจมตีอันป่าเถื่อนของกลุ่มฮามาส โดยทางไอดีเอฟกำลังปฏิบัติการถอนรากถอนโคนฝ่ายบริหารและทหารกลุ่มฮามาส ไม่เหมือนกับกลุ่มฮามาสที่โจมตีผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กชาวอิสราเอลโดยเจตนา ทั้งนี้ ไอดีเอฟปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และใช้ทุกมาตรการที่เป็นไปได้เพื่อบรรเทาความเสียหายต่อพลเรือน”
GETTY IMAGES
บ้านเรือนที่ถูกทำลายในฉนวนกาซา
ในยุคระบบ “แม่นยำสูง” เหตุใดพลเรือนจึงเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
จากรายงานของนายยูวาล อับราฮัม พบว่ามีแหล่งข่าวในกองทัพอิสราเอล 3 คนที่บอกกับเขาว่า ชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคนถูกสังหารจากการโจมตี ที่มีเป้าหมายเป็นสมาชิกอาวุโสของกลุ่มฮามาส
แหล่งข่าวยังบอกว่า “(ก่อนหน้านี้) พวกเขาสังหารสมาชิกอาวุโสของกลุ่มฮามาสได้หลายสิบคน แต่ปัจจุบันจำนวนพลเรือนที่ได้รับอนุญาตให้สังหาร ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10-20 เท่า เมื่อเทียบกับในอดีต”
นายยูวาลบอกกับบีบีซีว่า แหล่งข่าวของเขากล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้นำปฏิบัติการทางทางทหารในฉนวนกาซาปัจจุบัน “ละทิ้งระเบียบปฏิบัติการก่อนหน้านี้ทั้งหมด ที่ระบุว่าไม่ให้โจมตีพลเรือน”
“พวกเขากำลังดำเนินการโจมตีที่ไม่ได้สัดส่วนกันเลย เพราะพวกเขาเน้นปริมาณ แต่ไม่เน้นคุณภาพของเป้าหมาย” เขาอ้างคำพูดของแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพอิสราเอล
ในเวลานั้น โฆษกของไอดีเอฟไม่ได้ตอบคำถามของนิตยสาร +972 และสำนักข่าวโลคัล คอล เกี่ยวกับประเด็นการโจมตีที่เฉพาะเจาะจงตามงานเขียนของยูวาล แต่ระบุโดยทั่ว ๆ ไปว่า “กองกำลังป้องกันอิสราเอลแจ้งเตือนก่อนการโจมตีในหลากหลายรูปแบบ และก็ต่อเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย รวมถึงส่งคำเตือนเป็นรายบุคคลผ่านทางโทรศัพท์ สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้กับเป้าหมาย” (มีบทสนทนาสดมากกว่า 25,000 ครั้งในช่วงสงคราม รวมถึงบทสนทนาที่ถูกบันทึกไว้จำนวนหลายล้านข้อความ ข้อความอักษร และแผ่นพับที่โปรยทางอากาศเพื่อแจ้งเตือนประชากร)
“โดยทั่วไปแล้ว ทางไอดีเอฟพยายามลดอันตรายของการโจมตีที่ส่งผลต่อพลเรือนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากที่ต้องต่อสู้กับองค์กรก่อการร้ายซึ่งใช้พลเมืองในกาซาเป็นโล่มนุษย์”
บีบีซีพยายามติดต่อไอดีเอฟเกี่ยวกับกล่าวอ้างเหล่านี้ เพื่อถามว่าอิสราเอลกำลังทำอะไรเพื่อปกป้องพลเมืองในกาซา และสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นเพียงพอแล้วหรือไม่ เมื่อดูจากตัวเลขผู้เสียชีวิต
กองกำลังป้องกันอิสราเอลไม่ได้ตอบคำถามอันเฉพาะเจาะจงของเรา แต่กล่าวว่า พวกเขา “ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและใช้มาตรการป้องกันที่เป็นไปได้เพื่อลดผลกระทบต่อพลเรือน”
อิสราเอลบอกว่ากลุ่มฮามาสใช้พลเรือนในฉนวนกาซาเป็นโล่มนุษย์ รวมถึงใช้อุโมงค์และตั้งศูนย์บัญชาการภายใต้โครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในพื้นที่แถบนี้
พันเอก ฟิลิป อินแกรม อดีตหน่วยข่าวกรองทางทหารของอังกฤษ กล่าวกับบีบีซีว่า สำหรับกองทัพอิสราเอลนั้น “หากฮามาสใช้ศักยภาพของกองกำลังไปอยู่ใกล้หรือเข้าไปในโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน มันจะกลายเป็นเป้าหมายทางทหารที่ชอบธรรม และหากเป้าการโจมตีสถานที่นั้นคือการทำลายเป้าหมายทางทหาร ดังนั้น มันก็เป็นเป้าหมายที่ชอบธรรม”
“ความรับผิดชอบของกองทัพอิสราเอลคือต้องทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อลดจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตลง และนั่นไม่ได้หมายความว่าพลเรือนจะไม่ได้รับบาดเจ็บ จะสมควรหรือไม่ก็ตาม แต่มันเป็นการตัดสินใจทางการเมืองและทางทหารของผู้บัญชาการอิสราเอล” พันเอก ฟิลิป กล่าว
ANADOLU
พลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาทางอากาศ
สมาร์ท บอมบ์ และ ดัมบ์ บอมบ์
การใช้อาวุธใหม่ที่ “อัจฉริยะ” แม่นยำสูง และมีระบบช่วยระบุเป้าหมายในสงครามครั้งนี้ ไม่ได้ทดแทนอาวุธ “ทึ่ม” แบบเก่าไปโดยสิ้นเชิง
จากข้อมูลบางส่วนของการประเมินโดยสำนักอำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ซึ่งหลุดออกมาเผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อเดือน ธ.ค. 2023 ที่ผ่านมาว่า ระบุว่า ประมาณ 40-45% ของการปล่อยอาวุธจากอากาศสู่พื้นในพื้นที่ฉนวนกาซาจำนวน 29,000 ไม่มีระบบนำวิถี หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ดัมบ์ บอมบ์ หรือ ระเบิดโง่ (Dumb bomb)” ตรงข้ามกับ “สมาร์ท บอมบ์ (Smart bomb)” หรือระเบิดอัจฉริยะที่มีระบบนำวิถี
ระเบิดไร้ระบบนำวิถีเหล่านี้ “สามารถพลาดเป้าหมายได้ไกลถึง 30 เมตร ความคลาดเคลื่อนนี้หมายถึงว่า มันอาจจะตกใส่อพาร์ทเมนท์ที่เต็มไปด้วยพลเรือน แทนที่จะโจมตีสำนักงานใหญ่ของกลุ่มฮามาส” มาร์ค การ์ลาสโก อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองอาวุโสประจำเพนตากอน และอดีตผู้สืบสวนอาชญากรรมสงครามขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้พูดคุยกับเหยื่อและพยานจากเหตุระเบิดดังกล่าว เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซี เวอร์ริฟายก่อนหน้านี้
ไอดีเอฟบอก “ใช้อาวุธผิด”
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2023 อิสราเอลโจมตีทางอากาศของอิสราเอลบริเวณค่ายผู้ลี้ภัยมากาซีซึ่งตั้งอยู่ใจกลางฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 86 คน จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ในกาซา
กองกำลังป้องกันอิสราเอลยอมรับว่าใช้อาวุธผิดในการโจมตีดังกล่าว โดยบอกกับบีบีซีว่า “เสียใจต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น”
เจ้าหน้าที่กองทัพอิสราเอลให้สัมภาษณ์กับ คาน นิวส์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวโทรทัศน์ของอิสราเอลว่า “ใช้ยุทโธปกรณ์ไม่ตรงกับประเภทการโจมตี ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง ต่อเป้าหมายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้”
กองทัพบอกว่าเครื่องบินไอพ่นเข้าโจมตีเป้าหมาย 2 แห่งที่อยู่ติดกับพื้นที่ที่หน่วยปฏิบัติการของฮามาส แต่มันส่งผลให้อาคารบ้านเรือนใกล้เคียงถูกโจมตีเพิ่มเติมด้วย
อิสราเอลเริ่มรุกโจมตีใส่กาซา หลังจากกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 จนมีผู้เสียชีวิต 1,200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน รวมถึงมีประชาชนถูกจับเป็นตัวประกันราว 240 คน จากรายงานของอิสราเอล
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 14 ม.ค.67
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c4nyy23175qo