ก่อนสิ้นปีที่ผ่านมาผมได้รับข้อความจากค่ายเพลง Spotify ที่เป็นสมาชิก เพื่อสรุปรายละเอียดการใช้ Spotify ของผมในรอบปีที่ผ่านมา บทสรุปมีรายละเอียดมากมายซึ่งคือ “รอยเท้าดิจิทัล” (Digital Footprint) ที่เกิดจากการใช้บริการบนโลกออนไลน์ของผม
ก่อนสิ้นปีที่ผ่านมาผมได้รับข้อความจากค่ายเพลง Spotify ที่เป็นสมาชิก เพื่อสรุปรายละเอียดการใช้ Spotify ของผมในรอบปีที่ผ่านมาว่า ฟังเพลงไปกี่นาที เพลงหรือศิลปินคนไหนบ้างที่ผมฟังมากที่สุด และใช้เวลาไปกี่นาที บทสรุปมีรายละเอียดมากมายซึ่งคือ “รอยเท้าดิจิทัล” (Digital Footprint) ที่เกิดจากการใช้บริการบนโลกออนไลน์ของผม
รอยเท้าดิจิทัล ที่ผมใช้บริการมีอยู่มากมายที่แอปต่าง ๆ เปิดให้ผมดูได้ ตั้งแต่การสั่งอาหาร หรือเรียกใช้บริการรถสาธารณะออนไลน์ ที่สามารถดูได้ว่าสั่งร้านใดไปเมื่อไร เดินทางไปไหน หรือ แม้แต่ว่าสั่งรายการอะไร มีข้อมูลบัตรทางด่วนที่เห็นรายละเอียดได้ว่าไปจ่ายที่ด่านไหน วันเวลาอะไร รวมถึงการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ เช่น การใช้พร้อมเพย์ โมบายแบงกิ้ง หรือการจ่ายเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอย่าง True Money ที่จะเห็นรายละเอียดต่างๆ
นอกจากนี้หากไปดูข้อมูลในโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ผมใช้บริการจะมีรอยเท้าดิจิทัลของผมอีกว่า ผมโพสต์ข้อมูลใดบ้าง เมื่อไร ผมไปกดไลค์ข้อความไหน ใครเป็นเพื่อนผมบ้าง หรือผมไปแสดงความเห็นอะไรบ้าง
“รอยเท้าดิจิทัล” คือ ข้อมูลที่เราทิ้งไว้ในโลกออนไลน์จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลบัตรเครดิต เป็นต้น ข้อมูลความสนใจ เช่น เว็บไซต์ที่เราเข้าชม สินค้าที่ซื้อ กิจกรรมที่เราทำ เป็นต้น ข้อมูลพฤติกรรม เช่น เวลาที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต รูปแบบการท่องเว็บ เป็นต้น
ทั้งนี้รอยเท้าดิจิทัล แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
รอยเท้าดิจิทัลแบบตั้งใจ (Active Digital Footprint) คือ ข้อมูลที่เราเปิดเผยบนโลกออนไลน์ด้วยตัวเอง เช่น ข้อมูลในโปรไฟล์โซเชียลมีเดีย โพสต์บนโซเชียลมีเดีย ความคิดเห็นบนเว็บไซต์ เป็นต้น
รอยเท้าดิจิทัลแบบไม่ตั้งใจ (Passive Digital Footprint) คือ ข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมโดยอัตโนมัติโดยเว็บไซต์หรือแอปต่าง ๆ ที่เราใช้งาน เช่น คุกกี้ (Cookie) ที่อยู่ IP (IP Address) หรือประวัติการใช้งานต่าง ๆ เป็นต้น
ยุคดิจิทัลจะมีคนจำนวนมากที่เป็นเหมือนผมที่ได้ทิ้งรอยเท้าดิจิทัลไว้มากมาย จึงควรต้องตระหนักว่า รอยเท้าดิจิทัลของเราสามารถถูกใช้ได้หลากหลายวิธี มันสามารถถูกมองเห็นเหมือนบัตรประจำตัว ประวัติย่อ สามารถใช้เป็นเสมือนเรซูเม่ออนไลน์ เพื่อแสดงทักษะ และประสบการณ์เรา รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ทางวิชาชีพให้เรา รวมถึงทำให้เราสามารถทราบหรือติดตามประวัติการใช้งานระบบหรือแอปต่างๆ ได้ สามารถค้นหาข้อมูลได้
แต่การที่เราไม่สามารถควบคุมรอยเท้าดิจิทัลได้ทั้งหมด อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ เช่น สุ่มเสี่ยงที่อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ เช่น โจรกรรมข้อมูล เปิดโอกาสให้ผู้โจมตีทางไซเบอร์เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเรา และได้รับความไว้วางใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกโจมตีทางไซเบอร์ และละเมิดความเป็นส่วนตัว รวมถึงการหลอกลวง การแบล็กเมล์
รอยเท้าดิจิทัล จัดเป็นข้อมูลส่วนบุคคลมีความสำคัญและเปราะบาง การทำความเข้าใจและการจัดการกับรอยเท้าดิจิทัลของเราจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม สิ่งที่เราตั้งใจทำ เช่น การเปิดเผยข้อมูลในโซเชียลมีเดียเราอาจสามารถควบคุมได้ แต่รอยเท้าดิจิทัลที่ถูกเก็บรวบรวมโดยอัตโนมัติก็ยากต่อการควบคุม และบางครั้งเองเราก็อาจไม่ทราบเลยว่าเว็บไซต์หรือแอปต่าง ๆ เก็บข้อมูลใดไปบ้าง
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากรอยเท้าดิจิทัลของเรา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้จักวิธีจำกัดปริมาณรอยเท้าดิจิทัลที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้ การแยกอีเมลและบัญชีแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับงาน ชีวิตส่วนตัว และการใช้งานอื่น ๆ จะช่วยให้เราคัดกรองข้อมูลที่แชร์ให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์และบริการเว็บไซต์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การไม่ผสมผสานกิจกรรมส่วนตัวและการงานจะทำให้ข้อมูลที่เราทิ้งไว้ไม่เพียงพอที่จะสร้างโปรไฟล์ที่แม่นยำได้ทั้งหมด
ปรับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชีโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ต่างๆ อย่างรอบคอบ หากไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนมากให้ปิดการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเกิด สถานที่ทำงาน การศึกษา เป็นต้น เลือกที่จะรับการแจ้งเตือนจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
อย่ายอมรับข้อตกลงการเก็บข้อมูลทุกข้อจากเว็บไซต์หรือแอป ตรวจสอบและปฏิเสธข้อตกลงที่อนุญาตให้เว็บไซต์เก็บและขายข้อมูลส่วนตัวของเรา หลีกเลี่ยงการใช้ไวไฟสาธารณะ การใช้งานเครือข่ายที่ไม่มีความปลอดภัยอาจทำให้ข้อมูลของเราถูกเข้าถึงได้ง่าย
เลือกใช้งานเฉพาะเว็บไซต์หรือแอปที่ปลอดภัยและน่าเชือถือ เว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัยอาจใช้คุกกี้ที่คุณไม่ต้องการ มีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย และอาจสร้างรอยเท้าดิจิทัลที่เราไม่ได้ตั้งใจแบบอัตโนมัติไว่้เกินความจำเป็น ใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) เพราะจะช่วยซ่อนที่อยู่ IP ของการใช้งาน ทำให้การดตามกิจกรรมออนไลน์ทำได้ยากขึ้น
การระมัดระวังในการใช้งานออนไลน์ต่าง ๆ ในยุคดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงจากรอยเท้าดิจิทัล ทุกการกระทำของเราบนโลกออนไลน์สามารถทิ้งร่องรอยไว้ได้ จึงควรต้องมีความตระหนักและเข้าใจข้อดีข้อเสียต่าง ๆ รวมถึงระมัดระวังการใช้งานจะช่วยให้เราปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของเราได้ดียิ่งขึ้น
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 8 ม.ค. 2567
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1107309