ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวญี่ปุ่น สู่ ‘ไทย’ ที่ยังมีโอกาสเกิดสึนามิ
นักวิจัยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ เตือนไทยประมาทไม่ได้ พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน ยังเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิซ้ำรอยปี 2547 แนะซักซ้อมเหตุการณ์เป็นระยะ ตรวจสอบระบบเตือนภัยให้อยู่ในสภาพให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา ศ.อมร พิมานมาศ นักวิจัยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ศ.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และนักวิจัยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่จังหวัดอิชิกาวะ บนเกาะฮอนชู ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นธรณีพิบัติที่รุนแรงมากและอยู่ในระดับตื้นมาก เพียง 10 กิโลเมตร ทำให้เกิดความเสียหายกับอาคารบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนเป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 1.2 เมตร ซัดเข้าหาชายฝั่งเมืองวาจิมะ จังหวัดอิชิกาวะ ซึ่งผลของแผ่นดินไหวดังกล่าวจะยังคงเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายวัน อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะห่างจากประเทศไทย 4,000-5,000 กิโลเมตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย “ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวโตโฮคุขนาด 9.0-9.1 นอกชายฝั่งด้านตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะในเขตโตโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิมีความสูงถึง 40 เมตร พัดเข้าชายฝั่งจังหวัดเซ็นได…