Generative AI เป็นนวัตกรรมชั้นแนวหน้าในปัจจุบันที่เข้ามาพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่ Cybersecurity บทความนี้ได้รวบรวมผลการสำรวจและผลการศึกษาด้าน Generative AI ในปี 2023 ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ด้าน Cybersecurity ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
1. SMB นำ GenAI เข้ามาใช้ แต่มองข้ามประเด็นด้าน Cybersecurity
ผลสำรวจผู้บริหารด้าน IT มากกว่า 900 คนทั่วโลกโดย Zscaler พบว่าร้อยละ 89 ทราบดีว่าเครื่องมือ Generative AI อย่าง ChatGPT อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัย แต่ 95% ก็ยังคงนำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
2. ความนิยมของ ChatGPT เป็นตัวจุดกระแสการลงทุนด้าน GenAI ให้พุ่งทะยานขึ้น
รายงานจาก IDC พบว่า แม้หลายบริษัทจะมีการลงทุนด้าน Predictive และ Interpretive AI มานานหลายปี แต่การเปิดตัวซีรีย์ GPT-3.5 ของ OpenAI ในช่วงปลายปี 2022 เป็นตัวจุดกระแสให้คนสนใจเทคโนโลยี Generative AI และเกิดการลงทุนเป็นปริมาณมหาศาล
3. ผู้นำด้านเทคโนโลยียังคงไล่ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI
ผลสำรวจโดย Harvey Nash พบว่า AI ได้สร้างความท้าทายหลายด้านให้แก่องค์กร แต่มีเพียง 15% ของผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เตรียมพร้อมรับความต้องการของ Generative AI และมี 88% ระบุว่า การออกระเบียบ ให้เข้มงวดมากขึ้นมีความสำคัญ
4. ธุรกิจตระหนักถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ Generative AI
แม้จะมีความเสี่ยง แต่การมองว่า Generative AI มีผลประโยชน์ต่อธุรกิจยังคงมีมากกว่า ผลการศึกษาโดย Portal26 พบว่าร้อยละ 86 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความมั่นใจสูงมากว่า Generative AI จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้แก่ธุรกิจของตน
5. ทีมความมั่นคงปลอดภัยตระหนักถึงความน่ากลัวของการโจมตีที่ใช้ AI สนับสนุน
จากรายงานของ Abnormal Security พบว่า มีแนวโน้มที่ Generative AI จะอยู่เบื้องหลังของการเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและความซับซ้อนของการโจมตีองค์กรผ่านทางอีเมลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ และยังนับว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นของการโจมตียุคใหม่เท่านั้น
6. มีเพียงผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงบางส่วนเท่านั้นที่พร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้าน GenAI
ผลสำรวจของ Riskonnect พบว่าประเด็นที่องค์กรกังวลต่อการใช้ Generative AI มากที่สุด คือ ปัญหาด้านไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (65%) พนักงานตัดสินใจจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแม่นยำ (60%) การใช้ในทางที่ผิดและความเสี่ยงด้านจริยธรรม (55%) และการละเมิดลิขสิทธิ์ (34%)
7. การลงทุนด้าน GenAI คาดการณ์ว่าจะแตะระดับ 5 ล้านล้านบาทในปี 2027
IDC คาดการณ์ว่าในส่วนของซอฟต์แวร์ Generative AI จะมีอัตราการเติบโตเร็วสุดในช่วงปี 2023 – 2027 โดย Generative AI Platform/Model จะมี CAGR ที่ 96.4% ตามมาด้วย Generative AI Application Development & Deployment (AD&D) and Applications Software จะมี CAGR ที่ 82.7%
8. การสร้างบุคลากรที่มีทักษะความสามารถด้าน GenAI กับการเติบโตของธุรกิจ
จากการศึกษาของ IDC พบว่าการสร้างและใช้ Generative AI Model เช่น Prompt Engineer จะเป็นทักษะความสามารถใหม่ที่จำเป็นต่อการเติบโตของธุรกิจ ทุกองค์กรต้องสร้างผังทักษะใหม่ที่ยึดเทคโนโลยี AI และศักยภาพเชิงธุรกิจเป็นแกนหลักในการวางระบบ Generative AI ให้ครอบคลุมทั้งองค์กร รวมถึงสร้างโปรแกรมการฝึกอบรมให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญต่างๆ
9. ธุรกิจยังไม่ตระหนักถึงการจัดการกับความเสี่ยงด้าน GenAI
หนึ่งในข้อกังวลที่สุดเกี่ยวกับ Generative AI คือ ความเป็นไปได้ที่จะตีความผิด (Misinterpretion) เมื่อ Generative AI ไม่สามารถสร้างคำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามนั้นๆ ได้ มันจะเริ่มสร้างคำตอบจากกระบวนการที่เรียกว่า “อาการหลอนของ AI (AI Hallucination)”
10. GenAI กำลังลวง DevOps และ SecOps ให้เข้ามาสู่พื้นที่ความเสี่ยงใหม่
ผลสำรวจของ Sonatype พบว่า 45% ของผู้เชี่ยวชาญด้าน SecOps มีการใช้ Gerative AI ในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน DevOps มีการใช้น้อยกว่า คือ 31% โดย 57% ของผู้เชี่ยวชาญด้าน SecOps ให้เหตุผลว่า Generative AI ช่วยประหยัดเวลาได้มากถึง 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ที่มา: https://www.helpnetsecurity.com/2023/12/22/genai-cybersecurity-surveys/
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : TechTalkThai / วันที่เผยแพร่ 25 ธ.ค.66
Link : https://www.techtalkthai.com/10-genai-cybersecurity-studies-in-2023/