4 มกราคม 2567 เป็นวันครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารที่สุดครั้งหนึ่งของเมืองไทย
เหตุปล้นปืนครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่ค่ายทหาร กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ “ค่ายปิเหล็ง” อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547
คนร้ายได้อาวุธปืนไปมากถึง 413 กระบอก ล้วนเป็นอาวุธปืนสงคราม
หลายคนเรียกวันที่ 4 มกราคม 2547 ว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะนับจากวันปล้นปืน ก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน ยืดเยื้อยาวนานถึง 20 ปีแล้ว
แม้ในทศวรรษหลังมานี้ เหตุร้ายรูปแบบต่าง ๆ จะลดระดับลงบ้าง และมีความพยายามตั้งคณะพูดคุยเจรจา เพื่อหาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่กระบวนการสันติภาพก็ไม่มีความคืบหน้า
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีเหตุรุนแรงที่ก่อความสูญเสียเกิดขึ้นมากมาย “ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมโดยนับเฉพาะเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ลงมติตรงกันว่าเป็น “เหตุความมั่นคง” เท่านั้น ไม่ใช่เหตุส่วนตัว ล้างแค้น ทวงหนี้ หรือชู้สาว
ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 มีสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียที่น่าตกใจ
1. สถิติการสูญเสีย
• เสียชีวิต รวม 4,577 ราย (นับเฉพาะสถานการณ์/เหตุความมั่นคง)
• ประชาชนมากที่สุด 2,733 ราย
• รองลงมาคือทหาร 623 นาย ตำรวจ 410 นาย
• ครู 98 คน
• เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ 9 คน
• เจ้าหน้าที่ อส. (สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน) 18 คน
• ผู้นำท้องถิ่น 246 คน
• ผู้นำศาสนาอิสลาม 24 คน
• พระสงฆ์ 13 รูป
ปีที่สูญเสียมากที่สุด คือ 2550 – 723 ศพ / ต่ำสุด ปี 2564 – 40 ศพ
ข้อมูลที่ต้องหมายเหตุเอาไว้ก็คือ ตัวเลขความสูญเสียของผู้คนในบางสาขาอาชีพ ก่อนหน้านี้สูงกว่าที่ปรากฏ เช่น ครู (เคยมีตัวเลขบางแหล่งรายงานการเสียชีวิตรวมมากกว่า 110 ราย) หรือแม้แต่ อส.ก็มีผู้ถูกสังหารจำนวนมากกว่า 18 ศพ แต่ภายหลังพิสูจน์แล้วพบว่า บางรายอาจไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ จึงมีการปรับตัวเลขใหม่
ตัวเลขผู้บาดเจ็บ รวม 11,349 ราย (นับเฉพาะสถานการณ์/เหตุความมั่นคง)
• ประชาชนมากที่สุด 6,182 ราย
• รองลงมาคือทหาร 2,994 นาย ตำรวจ 1,712 นาย
• ครู 120 คน
• เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ 61 คน
• เจ้าหน้าที่ อส. 40 คน
• ผู้นำท้องถิ่น 173 คน
• ผู้นำศาสนาอิสลาม 26 คน
• พระสงฆ์ 33 รูป
2.รูปแบบความรุนแรง
รวมทุกเหตุการณ์ ทุกรูปแบบ 10,392 เหตุการณ์
• ยิง มากที่สุด 4,468 เหตุการณ์
• รองลงมาคือระเบิด 3,736 เหตุการณ์
• วางเพลิง 1,527 เหตุการณ์
• นอกจากนั้นยังมีเหตุ “โจมตีที่ตั้ง” หรือฐานปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง 51 ครั้ง
• ซุ่มโจมตี 201 ครั้ง
• ฆ่าด้วยวิธีทารุณ (เช่น ฆ่าตัดคอ ฆ่าแล้วจุดไฟเผาร่างซ้ำ) 92 ครั้ง
ปีที่เหตุรุนแรงเกิดขึ้นถี่ที่สุด คือปี 2550 – 1,821 เหตุการณ์ / ต่ำสุด 2563 – 54 เหตุการณ์
จากสถิติความสูญเสีย ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ นำมาสู่การช่วยหลือเยียวยา ซึ่งเป็นงบประมาณที่หน่วยงานรัฐและรัฐบาลต้องรับผิดชอบในแต่ละปี เพราะถือว่าไม่สามารถดูแลชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนได้ดีพอ
ประเด็นที่น่าเศร้าก็คือ นอกจากเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังมีผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องพิการ หรือทุพพลภาพจากสถานการณ์ความไม่สงบ และรัฐต้องช่วยเหลือเยียวยาจำนวนมากถึง 895 คน แยกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 430 คน และประชาชน 465 คน
รวมงบประมาณการช่วยเหลือทั้งหมด 4,330,023,615.85 บาท แยกเป็น
– งบประมาณการช่วยเหลือความสูญเสียทางด้านร่างกาย จำนวน 3,372,727,743 บาท
– งบประมาณการช่วยเหลือด้านทรัพย์สิน จำนวน 957,295,872.85 บาท
แยกย่อยเป็น การช่วยเหลือเกี่ยวกับบ้านเรือน อาคาร ยานพาหนะ และพืชผลทางการเกษตร จำนวน 5,682 ราย
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 3 ม.ค.67
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/125205-lossstatistics.html