ปีใหม่แล้ว ชวนคนไทยมาตั้ง Password ใหม่ ให้ชีวิตบนโลกออนไลน์ของเรา ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นและป้องกันการถูกแฮ็กโดยไม่รู้ตัว
ปกติแล้วปีใหม่เรามักจะตั้งปณิธานปีใหม่ว่า ปีหน้าเราจะทำอะไร (New Year Resolution) ปีใหม่ปีนี้ Spring Tech เลยอยากชวนทุกคนมาตั้งปณิธานเพิ่มความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ด้วยกันเพียงแค่ตั้งรหัสผ่านทุกบัญชีของเราใหม่
ในปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของตำรวจไซเบอร์ พบว่า ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 ถึง 20 ธ.ค. 2566 พบ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์รวมมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท และมีข้อมูลรั่วไหล ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นข้อมูลผ่านของเรา โดยเฉพาะคนที่ใช้รหัสผ่านเป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เบอร์โทรศัพท์ รหัสบัตรประชาชน เบอร์แฟน หรือเบอร์บ้าน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นข้อมูลที่คนร้ายอาจรวบรวมและนำมาแฮ็กข้อมูลเราได้ และคนที่ใช้รหัสผ่านเดียว เที่ยวทั่วโลก
ซึ่งสำหรับวิธีการเช็คว่ารหัสผ่านหรือข้อมูลของอีเมลที่เราใช้หลุดไปแล้วหรือยังเราสามารถเช็คได้ผ่านทางเว็บไซต์ haveibeenpwned.com
สำหรับใครที่ใช้อีเมลมาเป็นระยะเวลานานและใช้อีเมลเหล่านั้นสมัครในเว็บบอร์ดหรือสมัครใช้บริการอื่น ๆ จะพบว่า ข้อมูลของเรารั่วไหลไปมากแค่ไหน ดังนั้นการเปลี่ยนรหัสผ่านจึงเป็นหนึ่งในการแก้ไขสำคัญที่จะทำให้เราลดความเสี่ยงในการถูกแฮ็กข้อมูลได้
วิธีตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย
โดยวิธีการตั้งรหัสผ่านที่แข็งแรงและปลอดภัย คือ การมีอักขระพิเศษ พยัญชนะภาษาอังกฤษตัวใหญ่และตัวเล็กผสมกัน มีตัวเลข และไม่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น รหัสบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ที่เรามักใช้กรอก
นอกจากรหัสผ่านที่แข็งแรง แฮ็กยากแล้ว เราต้องเลิกพฤติกรรม รหัสเดียว เที่ยวทั่วโลก หรือ ใช้รหัสผ่านแบบเดียวกันทุกเว็บไซต์ แต่แบ่งลำดับชั้นความสำคัญ เช่น อีเมลหลัก ใช้รหัสเดียวที่ไม่ได้ใช้กับเว็บอื่น และแบ่งลำดับความสำคัญเป็นขั้น ๆ เช่น อีเมลสำคัญที่สุดมีรหัสผ่านเพียงชุดเดียว แล้วสื่อสังคมออนไลน์ก็ใช้รหัสผ่านอีกชุดหนึ่ง
สำหรับใครที่อยากรู้ว่ารหัสผ่านที่เราตั้ง โดนแฮ็กง่ายแค่ไหน สามารถทดลองได้ที่เว็บนี้ passwordmonster.com
ส่วนใครที่กลัวว่าตัวเองจะลืม ปัจจุบันมีแอปฯ ช่วยจำรหัสผ่านที่จะตั้งรหัสผ่านแบบเดายากมาก ๆ ประหนึ่งเป็นภาษาเอเลี่ยน โดยเราสามารถใช้บริการขององค์กรที่น่าเชื่อถืออย่าง Google Password Manager ได้เลย
อย่างไรก็ตาม แม้รหัสผ่านเราจะปลอดภัยก็ควรตั้งการล็อกอินแบบ 2 ชั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย และหยุดพฤติกรรมการคลิ๊กลิงก์มั่วลง จะทำให้เราลดโอกาสการถูกแฮ็กลงได้
บทความโดย NOPPARIT KAMOLSUWAN
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : สปริงนิวส์ / วันที่เผยแพร่ 28 ธ.ค.66
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/846460