เมื่อเวลา 11.15 น.วันที่ 10 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ศาสตราจารย์ พลเอกตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวก กระบวนการพูดคุยสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากประเทศมาเลเซีย ได้เข้าพบและหารือกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ที่ตึกนารีสโมสร โดยมีนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมหารือด้วย ซึ่งใช้เวลาเข้าพบประมาณ 45 นาที
จากนั้น นายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการมาพบปะทำความเข้าใจ หลังจากทางฝ่ายมาเลเซีย ได้แต่งตั้งให้พลเอกตันศรี ซุลกิฟลี เป็นผอ.อำนวยความสะดวกฯคนใหม่ ขณะที่ฝ่ายไทย ได้แต่ตั้งนายฉัตรชัย เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯคนใหม่ด้วยเช่นกัน อีกทั้งนายกรัฐมนตรีของไทยและมาเลเซีย ได้มีการพบปะกันหลายครั้งแล้วเช่นกัน อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนติดตามงานด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
โดยการหารือในวันนี้ได้พูดคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงการเน้นย้ำเรื่องความร่วมมือในการสร้างการพัฒนาและการสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะถ้าประชาชนมีรายได้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งในฝ่ายไทยอยากดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เร็วขึ้น เพราะตอนนี้รัฐบาลมีเวลาทำงานเหลืออยู่ประมาณสามปีกว่า อีกทั้งในการหารือครั้งนี้ ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานราชการระหว่างฝ่ายไทยและมาเลเซีย ว่าเราจะทำให้การดำเนินการต่างๆลงตัวได้อย่างไร และสามารภดำเนินงานได้รวดเร็ว
ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีที่ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ขอให้ตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการฟ้องร้องปิดปากนักกิจกรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมกว่า40คดี และเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเรื่องการดำเนินคดีดังกล่าวด้วย นายสมศักดิ์กล่าวว่า กรณีที่มีการบังคับใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถาณการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วมีพื้นที่บางส่วนปรับเปลี่ยนมาบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ก็เหมือนเป็นการเปิดทางให้หลายเรื่องทำได้ง่ายขึ้น เรื่องใดที่เป็นรายละเอียดเราก็ต้องลงไปแก้ในรายละเอียด แต่ในส่วนของการแก้ปัญหาจังหวัดชานแดนภาคใต้ เพียงแค่ฝ่ายไทยและมาเลเซียทำหลักการให้ชัดเจนและดำเนินการตามแนวทางของพรบ.การรักษาความมั่นคงฯ ตามมาตรา 21 แห่งพรบ.ความมั่นคงฯ ก็จะทำให้ทุกอย่างมีความชัดเจน และจะทำให้เดินไปสู่จุดจบได้ง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบใหม่จะเกิดขึ้นได้เมื่อใด นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ โดยตอนนี้แต่ละฝ่าย กำลังต้องเตรียมตัวเตรียมใจดำเนินการงานต่าง ๆ ให้รวดเร็วซึ่งไทยและมาเลเซียต้องจับมือกัน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนระหว่างกัน
ด้านนายฉัตรชัย กล่าวว่า การพบปะหารือในวันนี้ สืบเนื่องมาจากทางผู้อำนวยความสะดวกฯ จากมาเลเซียเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8-10ม.ค. 2567 เพื่อมาพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐของไทย เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการทำงาน สำหรับการจะดำเนินกาาพูดคุยเพื่อสันติสุขที่จะจัดขึ้นในประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ฝ่ายไทยยืนยันว่าจะสานต่อแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ที่พลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าพูดคุยฯคนที่แล้วได้ดำเนินการไว้ ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2566 ซึ่งขณะนี้ฝ่ายไทยจะพิจารณาดำเนินแผนดังกล่าวในเดือนม.ค.นี้ ขณะที่พลเอกตันศรี จะต้องไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องของฝ่ายมาเลเซีย ว่าเขามีความพร้อมหรือไม่อย่างไรนอกจากที้ทางพลเอกตันศรีระบุว่า กรณีที่คณะพูดคุยฯของฝ่ายไทย จะเดินทางไปประเทศมาเลเซียนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นเดือนก.พ.นี้ สำหรับฝ่ายไทยได้กำหนดแนวทางการทำงานที่อยากให้มีการรับรองแผนดังกล่าวให้ได้ภายในเดือนเม.ย. 2567 ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าได้เร็วขึ้น
โดยร่างแผนดังกล่าวมีสามส่วนสำคัญ คือ 1. การลดความรุนแรงและลดการเผชิญหน้า 2.การเปิดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ และ 3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง อีกทั้งแผนดังกล่าวได้กำหนดรายละเอียดกิจกรรมและขั้นตอนต่างๆไง้จำนวนมาก รวมถึงได้คาดหวังเป้าหมายว่า จะต้องทำให้ทุกส่วนกลับคืนสู่สภาวะปกติ ที่จะนำไปสู่การสร้างสันติสุข ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะเดียวกันในเบื้องต้นคณะของเราคาดหวังว่าจะมีข้อตกลงสันติสุข อแกมาให้ได้ภายในเดือน ธ.ค. 2567 หรืออย่างน้อยในต้นปี 2568 แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระบวนการ สภาพแวดล้อม และปัจจัยต่างๆ ซึ่งถ้าฝ่ายมาเลเซียมีความพร้อมและให้ความร่วมมือ เราก็เชื่อว่า ทุกอย่างจะดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อถามว่า แสดงว่าฝ่ายไทยยังเดินหน้าตามแผน JCPP ที่ได้ทำไว้กับกลุ่ม BRN ใช่หรือไม่ นายฉัตรชัยกล่าวว่า เราจะดำเนินการแผนดังกล่าวต่อไป โดยกลุ่ม BRN เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ที่จริงเราต้องเน้นไปที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ฃถือเป็นส่วนสำคัญ จึงนำไปสู่การเปิดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม เพราะเป็นเรื่องที่คนไทยด้วยกัน ต้องมาร่วมาข้อสรุปในการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว เพียงแต่ระหว่างนี้มีประเด็นเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงทำให้ต้องมีฝ่ายมาเลเซียเข้ามาเป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างเวทีการผู้คุยขึ้นมาเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเราใช้เวลามานานหลายปีในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้ฝ่ายผู้ที่เห็นต่างทุกส่วนไม่ใช่แค่กลุ่ม BRN ได้มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยมีความจริงใจที่อยากแก้ปัญหา ไม่ใช่ให้มีการพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ ตนขอย้ำว่าเราพร้อมพูดคุยกับผู้เห็นต่างทุกกลุ่มและประชาชนในพื้อนที่ทั้งในเวทีเปิดทั่วไป หรือเวทีเฉพาะที่อาจจะมีการพูดคุยในประเด็นที่ละเอียดอ่อน
เมื่อถามว่า จากกรณีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมในการจัดงานแต่งกายชุดมลายู คณะพูดคุยฯจะมีข้อเสนอแนะอะไรต่อรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ เพราะการดำเยินคดีกังกล่าวอาจมีผลกับการพูดคุยสันติสุข นายฉัตรชัยกล่าวว่า ข่าวที่ออกมาอาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะที่จริงไม่มีการห้ามห้ามแต่งกายชุดมลายู เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ซึ่งทุกส่วนสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ส่วนกรณีที่มีการกระทำผิดบางส่วน ก็เป็นเรื่อง กอ.รมณ. ภาค4 ส่วนหน้า เป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ แต่ตแนเชื่อว่า กระบวนการทั้งหมดคงต้องมีการพูดคุยเป็นการภายในด้วยเพื่อหาจุดที่ลงจังและเหมาะสม ส่วนเรื่องกระบวนการทางกฎหมายก็ต้องว่ากันไป ส่วนเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯในภาพใหญ่ก็ยังดำเนินการต่อไป เพราะยังมีประชาชนในพื้นที่อีกหลายส่วนที่ต้องการให้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว รวมถึงพี่น้องในหลายภาคส่วนและขบวนการผู้เห็นต่าง
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 10 ม.ค. 2567
Link : https://www.matichon.co.th/politics/news_4368417