อิหร่านกับปากีสถาน สองประเทศเพื่อนบ้าน ยิงมิสไซล์โจมตีเข้าใส่กันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้ต่างฝ่ายต่างมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
การโจมตีที่ล่าสุด เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดเป็นวงกว้างในตะวันออกกลาง และความเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้งของกลุ่มติดอาวุธบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการโจมตีครั้งนี้
หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่า สถานการณ์ระหว่างปากีสถานกับอิหร่านจะบานปลายหรือไม่ แต่เชื่อกันว่า เหตุการณ์ไม่น่าจะรุนแรงไปมากกว่านี้แล้ว
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปากีสถานกับอิหร่านต่างฝ่ายต่างยิงมิสไซล์ข้ามชายแดนเข้าสู่ดินแดนของอีกฝ่าย ทำให้ความเป็นศัตรูกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทั้งสอง เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง
ชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ เชื่อมติดกันเป็นระยะทางกว่า 900 กม. ระหว่างจังหวัดบาลูจิสถานของปากีสถาน กับจังหวัดซิสถานและบาลูเชสถาน ของอิหร่าน ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า ภูมิภาคบาลูช (Baloch) และทั้งคู่ก็ต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นแถบนี้มาอย่างยาวนาน
แต่ในขณะที่ปากีสถานกับอิหร่านมีศัตรูเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหมือนกัน การโจมตีกลุ่มติดอาวุธที่อยู่ในดินแดนของอีกฝ่ายนั้น เป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วทำไมมันจึงเกิดขึ้นในตอนนี้ และสถานการณ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายจะบานปลายต่อไป หรือยุติลงเพียงเท่านี้กันแน่
อิหร่านโจมตีข้ามพรมแดน ปากีสถานตอบโต้
อิหร่านเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตียิงมิสไซล์และส่งโดรนเข้าสู่จังหวัดบาลูจิสถานของปากีสถานก่อน เมื่อวันอังคารที่ 16 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีเด็กเสียชีวิต 2 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายปากีสถานออกมาประณามทันทีว่า เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่าง
ประเทศ และเจตนารมณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอย่างร้ายแรง
ฝ่ายอิหร่านอ้างว่า พวกเขามีเป้าหมายที่กลุ่มติดอาวุธมุสลิมนิกายสุหนี่ชื่อว่า ‘จาอิช อัล-อัดล์’ (Jaish al-Adl) ที่เคลื่อนไหวอยู่ในปากีสถาน ไม่ได้มุ่งเป้าโจมตีชาวปากีสถาน
จาอิช อัล-อัดล์ เป็นกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่บริเวณชายแดนของทั้งปากีสถานและอิหร่าน และเคยออกมาอ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีในอิหร่านมาก่อน โดยพวกเขามีเป้าหมายสูงสุดในการแบ่งแยกจังหวัดซิสถานและบาลูเชสถาน ให้เป็นรัฐอิสระ
ในวันพฤหัสบดีที่ 18 ม.ค. หรือ 2 วันต่อมา ปากีสถานเปิดฉากตอบโต้ในปฏิบัติการที่พวกเขาบอกว่า เป็นการโจมตีทางอากาศที่แม่นยำเจาะจงเป้าหมาย และสอดประสานกันอย่างสูง เข้าใส่ที่ซ่อนตัวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายจุดในจังหวัดซิสถานและบาลูเชสถาน
ในการประกาศข่าวการโจมตีเมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงต่างประเทศปากีสถานอ้างว่า ปฏิบัติการดังกล่าวสังหารนักรบติดอาวุธได้หลายราย แต่ฝ่ายอิหร่านระบุว่า การโจมตีนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ เป็นผู้ชาย 2 ศพ ผู้หญิง 3 ศพ และเด็กที่ไม่ใช่ชาวอิหร่านอีก 4 ศพ พร้อมเรียกอุปทูตปากีสถานเข้าพบ เพื่อขอคำชี้แจงและออกแถลงการณ์ประณาม
ฝ่ายปากีสถานระบุว่า พวกเขาร้องเรียนไปยังอิหร่านมานานหลายปีแล้ว เรื่องที่นักรบกลุ่มแบ่งแยกดินแดนใช้พื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้เป็นฐานและสถานที่หลบภัย ทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจลงมือด้วยตัวเองด้วยการโจมตีเมื่อวันพฤหัสบดี
ปากีสถาน-อิหร่าน ความสัมพันธ์สุดซับซ้อน
ปากีสถานกับอิหร่านเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ซับซ้อนอย่างมาก เบื้องหน้าพวกเขาพยายามรักษาความสัมพันธ์ในการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดี แต่อิหร่านไม่ไว้วางใจรัฐบาลปากีสถาน ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับซาอุดีอาระเบีย คู่แข่งชิงความเป็นผู้นำโลกมุสลิมของอิหร่าน
อิหร่านยังไม่พอใจอิสลามาบัดที่สนับสนุนกลุ่มตาลีบัน ซึ่งสำเร็จโทษชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมชีอะห์ในอัฟกานิสถาน ตอนที่พวกเขาขึ้นมาครองอำนาจ อิหร่านเคยถึงขั้นเกือบทำสงครามกับอัฟกานิสถานในปี 2541 หลังตาลีบันสังหารทูตอิหร่านจำนวนหนึ่งที่เมืองมาซารีชาริฟ โดยในตอนนั้น ปากีสถานกลับเคลื่อนทัพของตัวเองออกมาเพื่อสนับสนุนตาลีบัน
ฝ่ายปากีสถานก็ไม่ได้พอใจที่อิหร่านมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศคู่อาฆาตของพวกเขาอย่างอินเดีย อิสลามาบัดยังโกรธอิหร่านที่พยายามดึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมชีอะห์ในปากีสถานเข้าสู่การเมืองที่เปราะบางอยู่แล้วของพวกเขา ซึ่งอาจทำให้ประเทศไร้เสถียรภาพมากยิ่งกว่าเดิม
การก่อการร้ายข้ามพรมแดนยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของอิหร่านกับปากีสถานซับซ้อน กลุ่มจาอิช อัล-อัดล์ เคลื่อนไหวในจังหวัดบาลูจิสถาน ของปากีสถาน คอยโจมตีอิหร่านมานานหลายสิบปี ขณะที่กองทัพปลดปล่อยบาลูช มีฐานในอิหร่าน คอยต่อสู้กับทหารปากีสถานมานานนับทศวรรษ และทั้งสองฝ่ายแทบไม่ทำอะไรเพื่อหยุดยิงกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้
ทำไมยิงกันตอนนี้?
ทั้งปากีสถานและอิหร่าน ต่างประสบปัญหาในการรับมือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบริเวณชายแดนมานานหลายปีแล้ว การปะทะกันบริเวณชายแดนจนถึงมีผู้เสียชีวิต เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ล่าสุดก็เมื่อเดือนธันวาคม อิหร่านกล่าวหากลุ่ม จาอิช อัล-อัดล์ ว่าบุกโจมตีสถานีตำรวจในจังหวัดซิสถานและบาลูเชสถาน จนมีเจ้าหน้าที่ตาย 11 นาย
แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายดีขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนสามารถจัดการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันได้ จึงนับเป็นเรื่องไม่ปกติอย่างมากที่ปากีสถานหรืออิหร่าน จะโจมตีกลุ่มติดอาวุธข้ามดินแดนของอีกฝ่ายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้ากันก่อน
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางกำลังคุกรุ่นแทบจะลุกเป็นไฟ ด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซา ซึ่งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วภูมิภาค
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งที่ใหญ่กว่านั้นอาจทำให้อิหร่านกล้าที่จะลงมือเชิงรุกมากขึ้น ในการโจมตีเป้าหมายข้ามพรมแดน รวมถึงในปากีสถาน โดยเฉพาะในตอนนี้ ที่สหรัฐฯ กำลังตกที่นั่งลำบากระหว่างการพยายามลดความเป็นศัตรูระหว่างอิสราเอลกับกาซา และการแสดงแสนยานุภาพทางทหารเพื่อปรามอิหร่านไม่ให้เคลื่อนไหวไปมากกว่านี้
เพียงวันเดียวก่อนที่การโจมตีเข้าสู่ปากีสถานจะเกิดขึ้น อิหร่านก็เพิ่งยิงขีปนาวุธเข้าใส่อิรักและซีเรีย อ้างว่าโจมตีฐานที่มั่นของสายลับของกองทัพอิสราเอล และกลุ่มก่อการร้ายต่อต้านอิหร่าน
ขณะเดียวกัน การยิงต่อสู้ข้ามพรมแดนระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากอิหร่าน ก็ยังคงดำเนินต่อไปไม่หยุด ส่วนสหรัฐฯ ก็กำลังโจมตีกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่านเช่นกัน ไม่หยุดกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้จากการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง
นายคาริม ซาดจาดปูร์ จากสถาบันสนับสนุนความสงบสุขระหว่างประเทศ ‘คาร์เนกี’ (Carnegie) ระบุว่า หากไม่มีการแสดงความต่อต้านอิหร่านและกลุ่มตัวแทนของพวกเขาอย่างรุนแรง อิหร่านก็จะเดินหน้าเคลื่อนไหวของตัวเองต่อไปอย่างไม่ต้องเสียอะไรเลย
และจุดยืนของอิหร่านในตะวันออกกลาง พวกเขาจะได้ประโยชน์จากความไม่มีเสถียรภาพในประเทศ และเข้าไปเติมเต็มช่องว่างของอำนาจที่ขาดหายไป ซึ่งความเคลื่อนไหวของอิหร่านในตอนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายหลายๆ อย่างของพวกเขา รวมถึงการเสริมอำนาจให้ชาวปาเลสไตน์ และตอบโต้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง
ทะเลาะกันต่อหรือพอแค่นี้?
ฝ่ายปากีสถานไม่พอใจมากที่การโจมตีของอิหร่าน เกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังจากนายอันวารุล ฮัก คาการ์ นายกรัฐมนตรีรักษาการของปากีสถาน พบปะกับนายฮอสเซน อาเมียร์-อับดอลเลาะห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน นอกรอบการประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์
การโจมตีของอิหร่านทำให้ปากีสถานเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ รวมทั้งสั่งระงับการเยือนระดับสูงจากประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ทั้งหมด และการโจมตีเข้าสู่แผ่นดินอิหร่าน ก็แสดงให้เห็นว่า อิสลามาบัดตั้งใจทำมากกว่าการตอบโต้ทางการทูต
อย่างไรก็ตาม จริงอยู่ว่ามีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์จะบานปลาย แต่แถลงการณ์หลังการโจมตีของทั้งอิหร่านและปากีสถาน ต่างบอกเป็นนัยว่า พวกเขาไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น กระทรวงต่างประเทศของปากีสถานยังคงเรียกอิหร่านว่าเป็นประเทศพี่น้อง และเน้นย้ำเรื่องความจำเป็นในการหาทางออกร่วมกัน
ส่วนฝ่ายอิหร่าน ซึ่งเพิ่งเรียกปากีสถานว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ก็ย้ำว่า การโจมตีของพวกเขาถูกปรับให้เหมาะสมและมุ่งไปที่กลุ่มติดอาวุธเท่านั้น
นอกจากนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถานกับอิหร่านได้เข้าพบปะพูดคุยกันแล้วหลังเกิดเหตุ จึงเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายอาจจะใช้โอกาสนี้ ที่ต่างฝ่ายต่างเสมอกันแล้ว ถอยคนละก้าว และยุติความขัดแย้งระหว่างกันไว้เพียงเท่านี้
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 ม.ค.67
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2756389?gallery_id=4