การติดตามจับกุมผู้ต้องหาลักลอบขายข้อมูลส่วนบุคคล และสืบสวนขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
ตำรวจไซเบอร์ ประสานข้อมูลการสืบสวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) โดย พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผอ.สำนักตรวจสอบและกำกับดูแล, PDPC Eagle Eye และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย PDPA เพื่อดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ให้ครบถ้วนทั้งตัวผู้กระทำผิดและมีมาตรการทางปกครองต่อหน่วยหรือสถาบันที่แหล่งข้อมูลมีการรั่วไหลเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน
จนสืบทราบเพิ่มเติมอีกว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินเอกชนแห่งหนึ่ง คือ นายสุวรรณ อายุ 42 ปี ชาว จ.นนทบุรี มีพฤติกรรมลักลอบนำข้อมูลลูกค้าของสถาบันการเงินตนเอง มาดัดแปลง แก้ไข และนำไปจำหน่ายต่อให้กลุ่มที่สนใจ เช่น ตัวแทนสินเชื่อ ตัวแทนประกัน และยังพบข้อมูลว่า มีบางกรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว ตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.สอท.5 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขออนุมัติศาลอาญา ออกหมายจับนายสุวรรณ ในความผิดฐาน “ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น เนื่องจาก การปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้นำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่น, ทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 และ พรบ.ว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
ต่อมาวันที่ 7 ก.พ.67 ชุดสืบสวน กก.3 บก.สอท.5 จึงได้นำหมายค้นศาลจังหวัดนนทบุรี เข้าดำเนินการตรวจค้นบ้านพักแห่งหนึ่งในพื้นที่ ซอย 11 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี พบนายสุวรรณ พักอาศัยอยู่ในบ้าน ผลการตรวจค้น พบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์พกพา และโทรศัพท์มือถือที่เก็บไฟล์ภาพข้อมูลของลูกค้าและประชาชน ที่ตนเองซื้อขายข้อมูลมาจากบุคคลอื่น และข้อมูลของลูกค้าที่ตนเองถือเก็บไว้
นายสุวรรณ ยอมรับว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อในการประสานงานกับลูกค้า จึงมีการเก็บข้อมูลลูกค้าไว้ส่วนหนึ่ง โดยทำการจดบันทึกและจัดทำเป็นไฟล์เอกสารแล้วจึงนำไปจำหน่ายต่อให้แก่กลุ่มนายหน้าประกัน หรือ นายหน้าสินเชื่อของสถาบันการเงินอื่นๆ โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งนายสุวรรณ จะทยอยนำรายชื่อลูกค้าประมาณ ครั้งละ 3,000-5,000 รายชื่อ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเครดิตดี ไปจำหน่ายต่อในราคารายชื่อละ 1 บาท ทำให้นายสุวรรณมีรายได้เพิ่มเติมในแต่ละเดือนหลายหมื่นบาท โดยกระทำมาแล้วกว่า 1-2 ปี
เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้นำตัวนายสุวรรณ พร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท.5 ดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส) เพื่อตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่รั่วไหล เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน และสืบสวนขยายผลผู้ร่วมกระทำผิดต่อไป
พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 กล่าวว่า การหลอกลวงของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ โดยจะใช้วิธีซื้อข้อมูลเหยื่อจากกลุ่มตลาดมืดที่เป็นข้อมูลพรีเมียม คือ เป็นข้อมูลเหยื่อที่มีเครดิตชั้นดี ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพสามารถตีสนิทเหยื่อได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีข้อมูลจำเพาะเจาะจง ทำให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ภาคเอกชนต่างๆ ติดต่อมาจริง ส่งผลให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก จึงต้องเร่งปราบปรามผู้กระทำผิดในลักษณะนี้ตามนโยบายของรัฐบาล
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ ตำรวจไซเบอร์-บช.สอท.
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : จส.100 / วันที่เผยแพร่ 16 ก.พ.67
Link : https://www.js100.com/en/site/news/view/137571