JUNGMIN CHOI / BBC
ฮวัง จี-ซอง อดีตผู้แปรพักตร์มายังเกาหลีใต้เมื่อปี 2009 ผันตัวมาเป็นนายหน้าส่งเงินเข้าไปในเกาหลีเหนือ
“มันเหมือนกับภาพยนตร์สายลับและคนก็เอาชีวิตไปแขวนไว้บนเส้นด้าย” ฮวัง จี-ซอง นายหน้าชาวเกาหลีใต้ซึ่งช่วยผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือส่งเงินกลับไปให้ทางบ้านมากกว่า 10 ปี กล่าว
ฮวัง เล่าว่า เมื่อหลายปีที่แล้ว ชาวเกาหลีเหนือ บัญญัติคำศัพท์ขึ้นมาคำหนึ่งว่า “กิ่งก้านฮัลลาซาน” เพื่อเรียกกลุ่มคนที่รับความช่วยเหลือจากผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือในเกาหลีใต้ คำนี้ตั้งขึ้นจากชื่อภูเขาฮัลลาซาน ภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงบนเกาะเจจู
“คนที่มาจากครอบครัวของกิ่งก้านสาขาฮัลลาซานเป็นคู่สมรสที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด และดีกว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ”
ผลสำรวจจากฐานข้อมูลสิทธิมนุษยชนของชาวเกาหลีเหนือเมื่อปี 2023 ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้แปรพักตร์ราว 400 คน พบว่า ผู้แปรพักตร์จำนวน 63% โอนเงินกลับไปให้ครอบครัวในเกาหลีเหนือ แต่ด้วยการปราบปรามของทางการที่เพิ่มขึ้นทั้งในเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ การส่งเงินข้ามประเทศยิ่งเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น
ตอนนี้การส่งเงินกลับไปยังเกาหลีเหนือกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากมากกว่าเดิม เพราะต้องใช้เครือข่ายนายหน้าและคนส่งเงินที่ซ่อนตัวอย่างลับ ๆ ทั่วทั้งเกาหลีใต้ จีน และเกาหลีเหนือ การติดต่อสื่อสารในทางลับต้องใช้โทรศัพท์ที่ลักลอบโทรจากชายแดนจีนเข้าไปยังพื้นที่ชนบทห่างไกล โดยใช้ชื่อเข้ารหัสหรือชื่อโค้ดในการติดต่อ
ผลประโยชน์จากการเป็นนายหน้าส่งเงินนั้นสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะการส่งเงินผิดกฎหมายทั้งในเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ได้เพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามนายหน้าเพื่อหยุดการไหลเข้ามาของเงิน รวมทั้ง “วัฒนธรรมและอุดมการณ์ของฝ่ายปฏิกิริยา (reactionary) ” จากเกาหลีใต้
หากถูกจับได้ พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกส่งตัวไปที่ค่ายกักกันนักโทษการเมืองที่น่ากลัวที่สุดในประเทศที่ชื่อว่า ควัน-ลี-โซ ซึ่งเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตหลายแสนคนที่นั่น
JUNGMIN CHOI / BBC
คู่รักที่ทำธุรกิจโอนเงินไปยังเกาหลีใต้มากกว่าทศวรรษ
“จำนวนนายหน้าเกาหลีเหนือลดลงมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา” จู ซู-ยอน ภรรยาของฮวัง ซึ่งทำงานเป็นนายหน้าเช่นกัน กล่าว
เกาหลีใต้ห้ามการโอนเงินในรูปแบบนี้เช่นกัน ในอดีต เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แต่ปัจจุบันสถานการณ์นี้เปลี่ยนไปแล้ว
เมื่อเดือน เม.ย. ปี 2023 ตำรวจ 4 นาย บุกเข้าตรวจค้นบ้านของฮวังและจูในจังหวัดคยองกี ใกล้กับกรุงโซล กล่าวหาสองสามีภรรยาว่ากระทำการละเมิดกฎหมายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในช่วงดังกล่าวมีนายหน้าอีก 7 คน ถูกสอบสวนดำเนินคดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตำรวจเกาหลีใต้ ไม่ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับคดีของสามีภรรยาคู่นี้
ทางการเกาหลีใต้แจ้งกับฮวังว่า ธุรกรรมทางการเงินใด ๆ ที่ส่งไปยังเกาหลีเหนือต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ถูกต้องตามกฎหมาย
“ถ้ามีธนาคารไหนทำได้ บอกให้ผมรู้ด้วย” ฮวังกล่าว พร้อมกับบอกว่า ไม่มีสถาบันการเงินแห่งไหนรับเงินจากเกาหลีเหนืออย่างถูกกฎหมาย ตั้งแต่ทั้งสองเกาหลีตกอยู่ในภาวะสงครามในทางปฏิบัติ
ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เลวร้ายลง หลังจากเกาหลีเหนือยุติการติดต่อสื่อสารผ่านสำนักงานประสานงานร่วมสองเกาหลี เมื่อปี 2020 และเมื่อต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา คิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือยังพูดด้วยว่า ไม่มีความเป็นไปได้อีกต่อไปที่จะบรรลุการรวมชาติกับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ได้รับการปกป้องไว้ในรัฐธรรมนูญ
สายโทรศัพท์ลับ ๆ
การโอนเงินเข้าไปในเกาหลีเหนือ เริ่มต้นจากสายโทรศัพท์ระหว่างผู้แปรพักตร์ที่อยู่ในเกาหลีใต้และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเกาหลีเหนือ โดยใช้โทรศัพท์ลักลอบของจีนโทรจากบริเวณชายแดน ซึ่งสามารถใช้เครือข่ายสัญญาณโทรคมนาคมจากจีนได้
นายหน้าในเกาหลีเหนือจะเป็นผู้จัดแจงการโทรให้ ซึ่งจะต้องเดินทางไปที่ ๆ ไกลมาก หรือกระทั่งต้องปีนขึ้นไปบนเขาเพื่อให้ผู้แปรพักตร์และครอบครัวในเกาหลีเหนือพูดคุยติดต่อกัน การต่อสายโทรศัพท์ใช้เวลารอคอยเป็นเวลาหลายชั่วโมง เมื่อโทรติดแล้วผู้แปรพักตร์จะตกลงจำนวนเงินกับครอบครัว แต่บทสนทนาของทั้งสองทางจะต้องกระชับมาก เพื่อเลี่ยงการสอดส่องดักฟังจากกระทรวงความมั่นคงของรัฐ
หลังจากตกลงเงินผ่านทางโทรศัพท์ได้แล้ว ขั้นต่อไปผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือจะฝากเงินเข้าไปในบัญชีที่อยู่ในจีนผ่านนายหน้าเกาหลีใต้ การทำเช่นนี้ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงเช่นกัน เพราะจีนเองก็ตรวจสอบการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศอย่างเข้มงวด
ส่วนขั้นตอนที่จะนำเงินเข้าไปยังเกาหลีเหนือ นายหน้าชาวจีนจะเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะใช้วิธีไหน
บริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างจีนและเกาหลีเหนือมีช่องทางติดต่อระหว่างกันหลายจุด เพราะจีนถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของเกาหลีเหนือ การส่งเงินจากผู้แปรพักตร์ไปยังเกาหลีเหนือ นายหน้าจะใช้วิธีตบตาด้วยการทำธุรกรรมผ่านบริษัทที่ค้าขายระหว่างจีนและเกาหลีเหนือ โดยว่าจ้างคนส่งเงินหลายคนในเกาหลีเหนือ เป็นผู้ส่งเงินให้กับครอบครัวของผู้แปรพักตร์
JUNGMIN CHOI / BBC
คิม จิน-ซอก เคยเป็นคนส่งเงินในเกาหลีเหนือ ก่อนหนีออกจากประเทศ เมื่อปี 2013
คิม จิน-ซอก ชาวเกาหลีเหนือที่เคยทำงานเป็นคนส่งเงิน ก่อนหนีออกจากประเทศเมื่อปี 2013 เล่าว่า คนที่ทำหน้าที่ส่งเงินจะไม่รู้จักกัน และควรจะไม่รู้จักกันด้วย เพราะชีวิตของพวกเขาอยู่ในความเสี่ยง
นายหน้าเหล่านี้จะใช้ชื่อแฝงและรหัสที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งสัญญาณว่าเวลาใดปลอดภัยสำหรับครอบครัวของผู้แปรพักตร์ในการมารับเงิน
ฮวัง ซึ่งมีลูกค้าถึงราว ๆ 800 คน บอกว่าเขาเคยเจอแม้กระทั่งครอบครัวที่ปฏิเสธรับเงิน
“พวกเขาหวาดกลัวว่ามันจะเป็นกับดักที่จัดฉากขึ้นมาโดยตำรวจ ดังนั้นพวกเขาจะพูดทำนองว่า เราไม่รับเงินจากผู้ทรยศ”
เมื่อการรับส่งเงินสำเร็จแล้ว นายหน้าจะได้ส่วนแบ่งราว 50% ของเงินก้อนนั้น
“นายหน้าเกาหลีเหนือเสี่ยงชีวิตพวกเขาเพื่อได้เงิน 5-6 แสนวอน (หรือราว 13,000-16,000 บาท) ต่อการทำธุรกรรมหนึ่งครั้ง” ฮวัง กล่าว
“ในปัจจุบันถ้าคุณถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับดำเนินคดี คุณจะถูกจำคุกถึง 15 ปี และถ้าคุณโดนข้อหาจารกรรม คุณจะถูกส่งไปที่คุกควัน-ลี-โซ” ฮวังกล่าว พร้อมแสดงหลักฐานยืนยันการรับเงินของชาวเกาหลีเหนือ ที่ได้รับเงินผ่านนายหน้าของเขา
HANDOUT
ชาวเกาหลีเหนือนับธนบัตรเงินหลังจากได้รับจัดส่งจากนายหน้า
“ฉันหิวโหยทุกวันและได้แต่กินหญ้า” หญิงชรารายหนึ่งร่ำไห้กล่าว พร้อมกับมือที่พองบวมจากการคุ้ยขยะจากกองไม้
ในวิดีโอเดียวกันนี้ หญิงอีกรายบอกว่า “ชีวิตที่นี่ลำบากมากและฉันอยากจะขอบคุณสัก 100 ครั้ง”
เสียงจากผู้หญิงชาวเกาหลีเหนือเหล่านี้ ทำให้จู นายหน้าส่งเงิน รู้สึกใจสลายทุกครั้งที่ได้เห็น
“ผู้แปรพักตร์บางคนทิ้งพ่อแม่และลูกไว้ข้างหลัง พวกเขาแค่ต้องการแน่ใจว่าครอบครัวที่อยู่ในเกาหลีเหนือจะรอดชีวิตจนถึงวันที่ได้กลับไปเจอกันอีกครั้ง” จูกล่าว
จูบอกด้วยว่า เงิน 1 ล้านวอน (หรือราว 26,000 บาท) สามารถเลี้ยงดูครอบครัวในเกาหลีเหนือได้ถึง 3 ปี
ตัดวงจรช่วยชีวิต
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เหตุใดเกาหลีใต้จึงปราบปรามนายหน้าส่งเงินเหล่านี้ แต่ พัค วอน-ยอน ทนายความซึ่งให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้แปรพักตร์ เชื่อว่า การส่งเงินรูปแบบนี้อย่างแพร่หลายเกินไปอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ขณะที่อำนาจในการสอบสวนคดีความมั่นคงของชาติ อย่างคดีจารกรรม ได้ถูกโอนย้ายไปอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจหน่วยข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ในปีนี้
“หากตำรวจพิสูจน์ข้อกล่าวหาจารกรรมไม่ได้ พวกเขาจะฟ้องคดีละเมิดกฎหมายการประกอบธุรกรรมเงินตราต่างประเทศแทน” ทนายพัค ระบุ
การกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการปราบปรามจากรัฐบาลเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ สายช่วยชีวิตของครอบครัวผู้แปรพักตร์ในเกาหลีเหนือเหล่านี้อาจได้รับความเสียหายรุนแรง สำหรับฮวัง เขาพร้อมจะช่วยภรรยาต่อสู้คดีนี้ไปจนถึงชั้นศาลฎีกา และเขายังเชื่อด้วยว่า การส่งเงินจากผู้แปรพักตร์ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเงินเท่านั้น
“นี่เป็นวิธีเดียวในการทำให้เกาหลีเหนือหมอบลงโดยไม่ต้องต่อสู้” เขากล่าว “การส่งเงินไป มันไปพร้อมกับข่าวสารว่า เกาหลีใต้เจริญและร่ำรวยแค่ไหน และนี่คือสิ่งที่คิม จอง-อึน หวาดกลัว”
ด้านคิม จิน-ซอก เชื่อว่าผู้แปรพักตร์เช่นเดียวกับเขาจะไม่หยุดส่งเงินกลับบ้านให้คนที่พวกเขารัก แม้ว่าทางการของทั้งสองประเทศต้องการหยุดเส้นทางการส่งเงินดังกล่าว เขาบอกว่าหากจำเป็นเขาจะเดินทางเข้าไปที่ประเทศจีนด้วยตัวเองเพื่อจะส่งเงินไปให้ที่บ้าน
“ผมเสี่ยงที่จะไม่ได้เจอหน้าลูกอีกครั้ง แต่อย่างน้อยลูกผมก็จะได้มีชีวิตที่ดี” คิมกล่าว “เราจะส่งเงินไปให้พวกเขาไม่ว่าด้วยวิธีไหน หรือไม่ว่าอย่างไรก็ตาม”
ปัจจุบัน คิมทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกในเกาหลีใต้และกินนอนบนรถสัปดาห์ละ 5 วัน เขาจะประหยัดเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเก็บเงินส่งไปให้ภรรยาและลูกชาย 2 คน ในเกาหลีเหนือ ครั้งละ 4 ล้านวอน ทุก ๆ ปี และเขามักจะกดฟังคลิปเสียงของลูกชายที่ส่งมาจากทางบ้านซ้ำ ๆ
“พ่อสบายดีไหม พ่อทรมานมากไหม ความยากลำบากของพวกเราเทียบไม่ได้กับที่พ่อเจอ” เสียงจากลูกชายคนหนึ่งของผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือ
คิม จิน-ซอก เป็นนามแฝงเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้แปรพักตร์ที่ให้ข้อมูล
บทความโดย จุงมิน ชอย , บีบีซีแผนกภาษาเกาหลี
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 30 ม.ค.2567
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c9e8yje9gmko