เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศการให้มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการรัราชการทหารของประชาชน ฉบับปี 2010 (2010 People’s Military Service Law) เพื่อให้มีการเกณฑ์ทหารครั้งใหม่ทั่วประเทศ
รายงานของ กเวน โรบินสัน กับ อ่อง นายโซ แห่งนิกเกอิเอเชีย ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ สะท้อนปฏิกิริยาที่น่าสนใจอย่างยิ่งของผู้ที่ตกอยู่ในข่ายถูกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพในครั้งนี้
ตามกฎหมายดังกล่าว ผู้ชายอายุระหว่าง 18-35 ปี และผู้หญิงอายุระหว่าง 18-27 ปี จะต้องเข้ารับการเกณฑ์เพื่อเป็นทหารเป็นเวลา 2 ปี โดยสามารถยืดระยะเวลาประจำการไปได้ถึง 5 ปี ในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นในชาติ
สำหรับผู้ที่มีความชำนาญเชิงเทคนิควิชาชีพ อาทิ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เกณฑ์อายุสูงสุดจะมีการปรับขยายเพิ่มเป็นอายุไม่เกิน 45 ปีสำหรับผู้ชาย และ 35 ปีสำหรับผู้หญิง
ในข้อกฎหมายมีระบุกลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นเอาไว้เป็น 2 รูปแบบ หนึ่งคือการเลื่อนการเข้ารับราชการทหารเป็นการชั่วคราว สำหรับข้าราชการ, นักเรียนนักศึกษา, ผู้ที่ต้องดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุ, ผู้ติดยาเสพติดที่กำลังเข้ารับการบำบัด, ผู้ที่อยู่ระหว่างการบำบัดรักษาโรคและผู้ที่กำลังติดคุก แต่การยกเว้นในกรณีนี้ จำต้องเข้ารับการเกณฑ์ในเวลาต่อไปในที่สุด ไม่ว่าอายุจะเกินเกณฑ์แล้วหรือไม่ก็ตาม
อีกกรณีเป็นกรณียกเว้นโดยถาวร สำหรับผู้ที่เป็นนักบวชในศาสนาต่าง ๆ, สตรีที่แต่งงานแล้ว, บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย, ผู้ซึ่งคณะกรรมการการเกณฑ์ทหารประเมินแล้วว่า ไม่เหมาะสมกับการรับราชการทหาร และผู้ที่คณะกรรมการการเกณฑ์ทหารเห็นควรให้ได้รับยกเว้น
นิกเกอิเอเชีย ใช้วิธีการทั้งสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในข่ายถูกเกณฑ์มากกว่า 30 ราย และตรวจสอบ วิเคราะห์โพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้บนโซเชียลมีเดียต่างๆ มากกว่า 100 โพสต์ พบว่า ปฏิกิริยาต่อประกาศการเกณฑ์ทหารครั้งนี้เป็นไปในทางลบมากมายมหาศาล แม้แต่คนที่คิดว่าจะเข้ารับการเกณฑ์ก็ยังไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้เข้าเป็นทหารในครั้งนี้
นิกเกอิระบุว่า มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่าจะยอมรับการเกณฑ์ทหารนี้โดยดุษณี
ส่วนที่เหลือกำลังใคร่ครวญอย่างหนักว่า จะทำอย่างไร ด้วยวิธีใด จึงจะสามารถเลี่ยงการเกณฑ์ครั้งนี้ได้ ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ปน ๆ กันไประหว่างความกังวล กลัวและโกรธ เมื่อต้องเลือกระหว่างสิ่งที่ไม่อยากทำ กับการถูกลงโทษ ทั้งปรับและจำคุก 5 ปี สำหรับผู้ที่หนีการเกณฑ์ทหาร
ทางเลือกของหนุ่มสาวในเมียนมา มีไม่มากนัก สำหรับผู้หญิง นิกเกอิระบุว่า มีหลายคนใคร่ครวญอย่างหนักว่าจะหาวิธีไหน แต่งงานให้เร็วที่สุดเพื่อให้เข้าข่ายยกเว้น
แต่สำหรับผู้ชายอาจจำเป็นต้องพึ่งพาทางออกที่รุนแรงและสุดโต่งยิ่งกว่า
ทางหนึ่งคือบวชเป็นพระ แต่ถ้าทำไม่ได้ด้วยเหตุผลด้านครอบครัวหรืออื่นใด หลายคนก็บอกว่า กำลังเตรียม “ทำตัวเองให้บาดเจ็บ” หรือพิการ เพื่อให้เข้าข่ายยกเว้น ไม่เช่นนั้นก็อาจต้องหลบหนีออกนอกประเทศ (หรือไปเข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล)
หลายคนบอกกับนิกเกอิเอเชียว่า ยินดีตัดนิ้วสักหลายนิ้วทิ้ง ยังดีเสียกว่าการยอมรับการเกณฑ์ครั้งนี้
สำหรับชนชั้นกลางในเมียนมาที่พอมีเงินมีทองใช้สอย หนทางที่ดีที่สุดก็คือ เสาะหา “คนที่ถูกต้อง” แล้วติดสินบนเพื่อให้ได้รับการยกเว้นจากคณะกรรมการการเกณฑ์ทหาร
นิกเกอิเอเชียระบุว่า บรรดานักสังเกตการณ์เห็นตรงกันว่า การเกณฑ์ทหารครั้งนี้ มีผลโดยตรงมาจากการสู้รบระหว่างกองทัพกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “ปฏิบัติการ 1027” ที่ทำให้กองทัพสูญเสียอย่างหนัก
เอเดรียน โรเวล นักวิเคราะห์การเมืองอิสระ ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้รัฐบาลทหารจะเกณฑ์ทหารเข้ามาใหม่ได้ ก็ไม่น่าจะช่วยในแง่ของการพลิกสถานการณ์สู้รบให้ดีขึ้นแต่อย่างใด
เพราะสิ่งที่กองทัพเมียนมาต้องการในเวลานี้ คือ ทหารมืออาชีพ ที่มีแรงจูงใจ มีขวัญกำลังใจเต็มเปี่ยมที่จะสู้รบ
ไม่ใช่ทหารเกณฑ์ที่ผ่านการฝึกเพียง 2-3 สัปดาห์แล้วถูกส่งออกไปทำหน้าที่เป็นลูกหาบ หรือคนป้อนกระสุนปืนใหญ่ ที่ไม่มีแม้แต่การบัญชาการและการสนับสนุนที่ถูกต้อง
แลททิเชีย แวน เดน อัสสัม นักวิเคราะห์อิสระในแวดวงการทูตซึ่งเคยเป็นอดีตเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ เชื่อว่า การบังคับเกณฑ์ทหารครั้งนี้กลับจะส่งผลเสียต่อกองทัพมากยิ่งขึ้นไปอีก
เขาเชื่อว่า การเกณฑ์ทหารครั้งนี้อาจทำให้กองกำลังฝ่ายต่อต้านได้รับกำลังเสริมเพิ่มมากขึ้นจากคนหนุ่มสาวที่หนีออกไปสมทบ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามแทรกซึมเข้าสู่กองทัพ และส่งผลให้เกิดการหลบหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นผู้อพยพในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น
ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมา ให้สัมภาษณ์บีบีซีไว้เมื่อ 13 กุมภาพันธ์นี้ว่า การเกณฑ์ทหารครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายนนี้ โดยเชื่อว่าจะได้ทหารชุดแรกเริ่ม 5,000 นาย
โดยย้ำด้วยว่า เรื่องนี้นอกจากจะเป็น “ความรับผิดชอบ” ของชาวเมียนมาทุกคนแล้ว ทางกองทัพยังมีความต้องการ “ผู้ชำนาญในสาขาอาชีพ” มาเข้าร่วม อาทิ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์, และผู้สื่อข่าว อีกด้วย
อีกไม่ช้าไม่นานก็จะได้เห็นกันว่า จะเกิดอะไรขึ้นในเมียนมาในเวลานั้น
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนรายสัปดาห์ / วันที่เผยแพร่ 16 ก.พ.67
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_747691