วันนี้ (28 ก.พ.) นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวว่า ตามที่ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้เร่งรัดให้มีการผลักดันกฎหมายเพื่อพัฒนามาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงให้มีประสิทธิภาพ ยกระดับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 รวมทั้ง เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจ รวมทั้งเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา นั้น
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 67 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวม 2 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงการดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน พ.ศ. …. และ กฎกระทรวงการยื่นคำร้องขอดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงาน ปปง. เสนอ ซึ่งหลังจากนี้ คณะรัฐมนตรีจะได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัตติดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีหน้าที่ดำเนินการให้บุคคลที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (บุคคลที่ถูกกำหนด) หรือผู้เป็นเจ้าหนี้ในค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐาน สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานได้ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นพื้นฐานของคู่สมรส บิดา มารดา และบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลที่ถูกกำหนดด้วย เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
2. กำหนดห้ามบุคคลช่วยเหลือทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด โดยการจัดหา รวบรวม หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สิน หรือดำเนินการด้วยประการใด ๆ แก่บุคคลที่ถูกกำหนดเพื่อตัดช่องทางการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนบุคคลที่ถูกกำหนดในการนำเงินหรือทรัพย์สินไปใช้ในการกระทำความผิด
3. กำหนดให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอ ได้รับยกเว้นไม่ต้องกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
4. กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ของบุคคลที่ถูกกำหนดสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงาน ปปง. เพื่อขอนำเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการมาชำระหนี้ของบุคคลที่ถูกกำหนดซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหนี้ของบุคคลที่ถูกกำหนดในการได้รับชำระหนี้ และอำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลที่ถูกกำหนดที่จะไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดชาระหนี้
5. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีอำนาจหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด หรือการยึด อายัดหรือริบทรัพย์สิน รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่สอบถามหรือเรียกผู้มีหน้าที่รายงานซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพส่งเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารต่างๆ มาใช้ในการกำหนด และเพิกถอนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด โดยอาจร้องขอข้อมูลที่อยู่ในความครอบครอง หรือควบคุมดูแลของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐก็ได้
6. กำหนดเพิ่มเติมความผิดในฐานต่าง ๆ เช่น ฝ่าฝืนไม่กำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติ หรือมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อป้องกันการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ฝ่าฝืนให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเงินแก่บุคคลที่ถูกกำหนด ฝ่าฝืนไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่ส่งคำชี้แจง หรือไม่ส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานและแก้ไขเพิ่มเติมความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และความผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้มีอัตราโทษที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดให้ความผิดบางประการที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 28 ก.พ.67
Link : https://mgronline.com/crime/detail/9670000018066