REUTERS
ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือ ปกติแล้ว จะเป็นกลุ่มคนที่ระมัดระวัง ไม่สร้างความแตกตื่นใด ๆ ระหว่างสองเกาหลี แต่ตอนนี้ พวกเขากำลังตื่นตัวจากความเคลื่อนไหวของผู้เชี่ยวชาญ 2 คน
ย้อนไปสัปดาห์ก่อน นักวิเคราะห์สถานการณ์เกาหลีเหนือที่ทรงอิทธิพล 2 คน ได้ทำสิ่งที่เรียกว่าเหมือน “ทิ้งระเบิด” ด้วยการแสดงความเห็นว่า ผู้นำเกาหลีเหนือกำลังเตรียมทำสงคราม
ต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ คิม จอง-อึน ได้ยกเลิกเป้าหมายแห่งการปรองดองและรวมชาติกับเกาหลีใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาประกาศว่า เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่แยกกัน และกำลังทำสงครามกัน
“เราเชื่อว่า คิม จอง-อึน ได้ตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์แล้วว่าจะทำสงคราม เหมือนสมัยปู่ของเขาเมื่อปี 1950” โรเบิร์ต แอล คาร์ลิน อดีตนักวิเคราะห์สำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ พร้อมกับ ซีกไพรด์ เอส เฮกเกอร์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ที่เดินทางไปเกาหลีเหนือมาหลายครั้ง ได้กล่าวในบทความบนเว็บไซต์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือ ชื่อ “38 North”
การประกาศเช่นนี้ ของผู้เชี่ยวชาญด้านโสมแดง 2 คนสำคัญ ส่งสัญญาณเตือนภัยดังไปถึงสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รวมถึงก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างหนักในกลุ่มผู้สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ
ทว่า นักวิเคราะห์ด้านเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีสงครามนี้ โดยจากที่บีบีซีได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอื่นอีก 7 คนทั่วเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ไม่มีใครเลยที่สนับสนุนแนวคิดนี้
“การเอาระบอบเกาหลีเหนือไปเสี่ยงกับความขัดแย้งที่รุนแรงเข้าขั้นหายนะ ไม่ใช่วิสัยที่เกาหลีเหนือจะทำ เกาหลีเหนือมีแนวคิดแบบแมกคิเวลเลียนมากกว่านั้น” คริสโตเปอร์ กรีน ผู้สังเกตการณ์เกาหลีเหนือจาก “ไครซิส กรุ๊ป” (Crisis Group) ในเนเธอร์แลนด์ กล่าว
กรีน และผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ชี้ว่า เกาหลีเหนือมุ่งยั่วยุเพื่อให้มหาอำนาจตะวันตกมาร่วมโต๊ะเจรจา มากกว่าทำสงคราม ไม่เพียงเท่านั้น มันยังมีแรงกดดันทางการเมืองจากภายในด้วย
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทุกคนเห็นตรงกัน คือ การยั่วยุของคิม จอง-อึน ไม่สามารถเพิกเฉยได้ และระบอบคิมเองก็เติบโตจนมีอันตรายมากขึ้น
และแม้ประเด็นว่าเกาหลีเหนือจะทำสงครามหรือไม่ยังเป็นข้อถกเถียง แต่การโจมตีเกาหลีใต้แบบจำกัด ก็ยังมีความเป็นไปได้เสมอ
มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ผู้ที่สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของคิม จอง-อึน อย่างใกล้ชิด คุ้นชินกับการขู่ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์มานานแล้ว แต่บางคน ยอมรับว่า น้ำเสียงจากกรุงเปียงยางในระยะหลังนี้ มีท่าทีที่ต่างออกไป
คิมประกาศเส้นทางใหม่ของประเทศ เมื่อ 15 ม.ค.
เพราะหลังคำประกาศของคิม จอง-อึน ช่วงวันขึ้นปีใหม่ว่า “การทำสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว” เพียง 6 วัน กองทัพเกาหลีเหนือก็ได้ยิงอาวุธหนักข้ามพรมแดนไปยังเกาหลีใต้
เกาหลีเหนือยังอ้างว่า ได้ทดสอบขีปนาวุธแบบเชื้อเพลิงเหลวสำเร็จ รวมถึงโดรนโจมตีใต้น้ำ ที่สามารถบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์ได้ นับแต่เริ่มเดือน ม.ค. 2024 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ คำประกาศของ คิม จอง-อึน ช่วงวันขึ้นปีใหม่ ดูเหมือนจะละทิ้งเป้าหมายรวมชาติ ทั้งที่ การรวมชาติกับเกาหลีใต้เป็นอุดมคติของเกาหลีเหนือ นับแต่สถาปนาประเทศ แม้ว่ามันจะเป็นเป้าหมายที่เกินจะเป็นไปได้ก็ตาม
“นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมันเปลี่ยนแก่นกลางทางอุดมคติของระบอบคิมในระดับฐานราก” ปีเตอร์ วอร์ด นักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยกุกมิน ในกรุงโซล กล่าว
หากทำสงครามจริง หมายความว่า คิม จอง-อึน กำลังล้มล้างอุดมคติที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งตอนนี้ เกาหลีเหนือได้ปิดช่องทางทางการทูต การเผยแพร่สัญญาณวิทยุข้ามพรมแดน และเขายังประกาศจะรื้อถอน “ซุ่มประตูการรวมชาติ” ซึ่งเป็นอนุสรณ์สูง 9 ชั้น ที่ตั้งอยู่ชานกรุงเปียงยางอีกด้วย
GETTY IMAGES
คิม จอง-อึน มีแผนจะทำลายสัญลักษณ์แห่งการรวมชาตินี้ เพื่อตอกย้ำว่า เกาหลีใต้เป็นศัตรู
ซุ้มประตูแห่งนี้ เป็นรูปปั้นผู้หญิงในชุดตามประเพณีเกาหลี 2 คน ยื่นมือเข้าหากัน โดยสร้างขึ้นในปี 2010 เพื่อยกย่องความพยายามของบิดาและปู่ของคิม จอง-อึน ที่พยายามรวมชาติสองเกาหลีมาอย่างต่อเนื่อง
แต่คิมรุ่นหลานได้เลือกจะทำสงครามกับเกาหลีใต้ในฐานคนอีกชาติ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการโจมตีพลเรือนในฐานะเป้าหมายทางทหารหรือไม่
การโจมตีในวงจำกัด
คาร์ลิน และเฮคเกอร์ นักวิเคราะห์ที่ทำนายถึงสงครามที่กำลังจะมาถึง ได้ตีความถ้อยคำ ท่าที และความเคลื่อนไหวของผู้นำเกาหลีเหนือข้างตนว่า เป็นสัญญาณว่า คิม จอง-อึน ได้ตัดสินใจแล้วว่า จะมุ่งไปในทางสู้รบ
แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คนอื่น ๆ ไม่คิดเช่นนั้น เช่นเดียวกับ ซอง-ฮยุน ลี จากมูลนิธิ “จอร์จ เอชดับเบิลยู บุช เพื่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน” เขาชี้ว่า เกาหลีเหนือกำลังจะอ้าแขนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัปดาห์หน้า อีกทั้ง เกาหลีเหนือได้ขายยุทโธปกรณ์ของตนเองให้รัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากเกาหลีเหนือเตรียมสู้รบจริง ๆ
เครื่องป้องปรามที่สำคัญสุด คือ หากเกาหลีเหนือตั้งใจโจมตีจริง ๆ ก็ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ที่มีความล้ำหน้ามากกว่า
“การรบทั่วไปอาจสังหารประชาชนในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก แต่นั่นก็จะเป็นจุดจบของคิม จอง-อึน และระบอบของเขา” วอร์ด จากมหาวิทยาลัยกุกมิน กล่าว
แทนที่จะทำเช่นนั้น วอร์ด และผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนชี้ว่า สถานการณ์ในตอนนี้ มีแนวโน้มจะเกิดการโจมตีขนาดเล็ก มากกว่าการทำสงครามใหญ่
“ผมกังวลถึงการโจมตีแบบจำกัดวงไปยังเกาหลีใต้มากกว่า… การโจมตีลักษณะนั้น จะโจมตีดินแดนของเกาหลีใต้หรือกองทัพ แต่จำกัดวงแคบลงมา” อังกิต ปันดา กองทุนคาร์เนจีเพื่อสันติภาพสากล ระบุ
การโจมตีลักษณะนี้ของเกาหลีเหนือ อาจรวมถึงการโจมตีด้วยอาวุธหนัก หรือความพยายามเข้ายึดหมู่เกาะพิพาท ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของคาบสมุทรเกาหลี
ย้อนไปเมื่อปี 2010 เกาหลีเหนือโจมตีเกาะยอนพยอง สังหารทหารเกาหลีใต้ไป 4 นาย สร้างความโกรธเคืองอย่างมากต่อเกาหลีใต้ ดังนั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่า เกาหลีเหนืออาจใช้การยั่วยุลักษณะนี้อีก เพื่อทดสอบความอดทนของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะความอดทนของประธานาธิบดี ยุน ซ็อค-ยอล ที่ปฎิญาณจะตอบโต้การโจมตีของเกาหลีเหนือ “ด้วยความรุนแรงกว่าหลายเท่าตัว”
ปันดา จากกองทุนคาร์เนจีเพื่อสันติภาพสากล ชี้ว่า “เกาหลีเหนืออาจหวังจะยั่วยุให้เกาหลีใต้โจมตีตอบโต้ก็เป็นได้” ซึ่งอาจจุดชนวนการต่อสู้ที่รุนแรงมากขึ้นระหว่างสองฝ่าย
คานอำนาจ ?
ผู้เชี่ยวชาญอื่นอีกหลายคน มองว่า ควรจะพิจารณาถึงความหวาดกลัวสงคราม หากต้องการคาดการณ์สิ่งที่คิม จอง-อึน จะทำต่อจากนี้
“หากมองประวัติศาสตร์ของเกาหลีเหนือให้ดี จะเห็นว่า เกาหลีเหนือใช้การยั่วยุ เพื่อเรียกความสนใจจากประเทศอื่น ๆ เวลาที่ต้องการเจรจาอะไรก็ตาม” ซอง-ฮยอน ลี กล่าว
รัฐบาลเกาหลีเหนือเผชิญการคว่ำบาตรมาอย่างต่อเนื่อง แล้วปี 2024 ยังเป็นปีเลือกตั้งของศัตรูอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้
“นี่จึงเป็นโอกาสดีที่คิม จอง-อึน จะยั่วยุ” ดร.ลี อธิบาย
รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตอนนี้ กำลังง่วนกับสถานการณ์ในยูเครนและฉนวนกาซา และไม่ได้ให้ความสนใจกับเกาหลีเหนือมากนัก หากมองย้อนไป รัฐบาลเกาหลีเหนือมีปฏิสัมพันธ์มากที่สุดกับรัฐบาลรีพับลิกัน มากกว่าเดโมแครต
ยกตัวอย่างเมื่อปี 2019 ที่คิม จอง-อึน ได้หารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ แต่การหารือถึงการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือก็เงียบหายไป หรือไม่ผู้นำเกาหลีเหนืออาจจะรอให้ทรัมป์กลับคืนสู่ทำเนียบขาว ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ลดทอนลง ก่อนที่เกาหลีเหนือจะเจรจากับสหรัฐฯ อีกครั้ง
นักวิเคราะห์ยังชี้ว่า ความเป็นมิตรใกล้ชิดระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย รวมถึงการสนับสนุนทางเศรษฐกิจด้วยดีของจีน ในช่วงปีที่แล้ว อาจช่วยเพิ่มความกล้าให้เกาหลีเหนือก็เป็นได้ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ รัสเซียให้การสนับสนุนทางเทคนิค เพื่อช่วยเกาหลีเหนือส่งดาวเทียมจารกรรมขึ้นสู่อวกาศ อีกทั้งเมื่อปีก่อน ผู้นำเกาหลีเหนือและรัสเซีย ก็ได้ประชุมสุดยอดร่วมกันด้วย
REUTERS
คิม เดินทางไปยังศูนย์อวกาศชั้นนำของรัสเซีย เมื่อ พ.ย. 2023 หลังปล่อยดาวเทียมจารกรรมสำเร็จ
“สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้ ส่วนมาก เป็นผลจากความมั่นใจที่มากขึ้นของเกาหลีเหนือ ทั้งต่อศักยภาพของตนเอง และจุดยืนด้านภูมิรัฐศาสตร์จากอิทธิพลของรัสเซีย รองลงมาก็คือการสนับสนุนจากจีน” ปันดา กล่าว
เป้าหมายในประเทศ
นักวิเคราะห์หลายคนยังมองว่า พฤติกรรมของคิม จอง-อึน ที่แล้วมา มีเป้าหมายแท้จริงคือการสร้างความมั่นคงให้ระบอบคิม
“มันดูเหมือนการปรับเป้าหมายทางอุดมคติเพื่อความอยู่รอด” ลีฟ เอริก อีสลีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการต่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยอิวฮาในกรุงโซล วิเคราะห์
“เพราะชาวเกาหลีเหนือตระหนักรู้ถึงความล้มเหลวของชาติคอมมิวนิสต์ของตนเอง เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้”
เขายังชี้ว่า นโยบายที่กำหนดศัตรูที่ชัดเจนขึ้น จะช่วยสร้างความชอบธรรมในการทุ่มงบประมาณไปกับการพัฒนาขีปนาวุธ ในห้วงเวลาที่มีรายงานถึงวิกฤตความหิวโหยในประเทศ
ด้าน วอร์ด มองว่า การกำหนดให้เกาหลีใต้เป็นศัตรูเพื่อกระตุ้น “ความรู้สึกไม่ลงรอยกันในจิตใจ” ของชาวเกาหลีเหนือที่มีต่อเกาหลีใต้
“ก่อนนี้ เกาหลีใต้คือรัฐชั่วร้ายที่ควรจะเป็นเป้าหมายของการรวมชาติ เป็นชาติที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมอันเสื่อมโทรมไม่ควรปล่อยให้มีอยู่ต่อไป และเป็นประเทศที่เกาหลีเหนือรู้สึกว่าต้องปลดปล่อยประชาชนจากรัฐบาลที่ชั่วร้าย” วอร์ด กล่าว
“มาวันนี้ เกาหลีใต้และวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ถูกตีตราง่ายว่า ชั่วร้าย ซึ่งมันช่วยสร้างความชอบธรรมในการกวาดล้างวัฒนธรรมเกาหลีใต้ให้หมดไป”
เมื่อสัปดาห์ก่อน บีบีซีเผยแพร่ภาพหายาก แสดงให้เห็นวัยรุ่นเกาหลีเหนือ 2 คน ถูกลงโทษให้ใช้แรงงานหนัก 12 ปี ฐานชมซีรีส์เกาหลี
“คิม จอง-อึน ไม่ได้ต้องการสงคราม เพราะนั่นจะเป็นการเดิมพันใหญ่ที่ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไร ทั้งที่เกาหลีเหนือมีแต่เสียกับเสีย” ซุคีล พัค จากองค์กรเสรีภาพเพื่อเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ กล่าว
เขามองว่า ภัยคุกคามและการยั่วยุต่าง ๆ ของคิม จอง-อึน ทำเพื่อกระชับนโยบายเกาหลีเหนือ-เกาหลีเหนือ ซึ่งท้ายสุด ก็เป็นการเสริมฐานอำนาจของเขาในประเทศ
แล้วเขายังชี้ว่า แม้เกาหลีใต้ รวมถึงสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ควรให้ความสำคัญกับสถานการณ์เลวร้ายสุดที่อาจเกิดขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในของเกาหลีเหนือ และภูมิรัฐศาสตร์โลกในภาพกว้างด้วย
ดร.ลี้ ทิ้งท้ายว่า วิธีการที่จะคาดการณ์ความคิดของผู้นำเกาหลีเหนือได้แม่นยำที่สุด คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับเขา
“ประชาคมโลกไม่ได้มองว่า การที่สหรัฐฯ หันหน้าคุยกับคิม จอง-อึน ถือเป็นการยอมปราชัยให้การยั่วยุของคิม จอง-อึน แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย” เขากล่าว
“หากจำเป็น ฝ่ายหนึ่งก็ควรพิจารณาการไปพบกับผู้นำชาติศัตรู เพื่อลดความเข้าใจผิดและหลีกเลี่ยงสงคราม”
บทความโดย ฟรานเชส เหมา | ผู้สื่อข่าวบีบีซี
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : BBC Thai / วันที่เผยแพร่ 24 ม.ค.67
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cx0vkqlzlnpo