วง “พูดคุยสันติสุข” จบลงด้วยดี ทั้ง 3 ฝ่าย เห็นชอบ 3 หลักกการร่วมสร้างสันติสุขแบบองค์รวม เตรียมพูดคุยระดับเทคนิคในพื้นที่ก.พ.-มี.ค.นี้ พร้อมแนะลดปิดล้อมตรวจค้น ตั้งด่านตรวจ และยกเลิกจับกุมแกนนำก่อความไม่สงบ ขณะที่บีอาร์เอ็นห่วงกรณีดำเนินคดีแกนนำภาคใต้
วันนี้ (7 ก.พ.2567) ภายหลังการพูดคุยสันติสุข 2 วันของหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย และบีอาร์เอ็น ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็เห็นชอบใน 3 หลักการ ตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชน และการแสวงหาทางออกทางการเมือง
โดยสองฝ่ายตกลงกันว่า จะมีการหารือในรายละเอียด ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคร่วมกันอีก 2 ครั้ง ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และต้นเดือนมีนาคม ก่อนที่จะรับรองอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงสันติเพื่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นด้วยในการสร้างบรรยากาศ ให้เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุขให้มากขึ้น โดยฝ่ายไทยได้เสนอแนวทาง เช่น การลดระดับการปิดล้อมตรวจค้นที่ จะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
การปรับลดปริมาณด่านตรวจลง โดยเฉพาะบริเวณหน้าฐานปฏิบัติการ แต่ในพื้นที่อื่น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วย และพิจารณายกเลิกเป้าหมายจับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ ตามสี่แยกต่าง ๆ รวมถึง การพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ที่บีอาร์เอ็นสามารถลดความรุนแรงได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน ถึงช่วงสงกรานต์
ด้านนายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย พอใจกับความก้าวหน้าในการพูดคุยครั้งนี้ โดยทั้งสองฝ่ายจะกลับมาหารือในรายละเอียดปลีกย่อยอีกครั้ง นอกจากนี้ ในที่ประชุม ยังได้มีการหยิบยกเรื่องของการกระจายอำนาจ ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ขึ้นมาพูดคุยด้วย
ด้าน พล.อ.ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซีย ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะดึงกลุ่มอื่น ๆ มาเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งต้องหารือร่วมกับทางบีอาร์เอ็นที่เป็นกลุ่มหลักอีกครั้ง ขณะที่ฝ่ายไทยก็ไม่ขัดข้องในเรื่องนี้ โดยที่ประชุมยังเน้นย้ำ ที่ควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสันติสุข
ขณะที่นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ แถลงข่าวกับสื่อมวลชน และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม ของกองทัพภาค 4 โดยได้แสดงความห่วงใยในประเด็นนี้ กับทางการไทย เพราะอาจจะกลายเป็นเงื่อนไข ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ทางบีอาร์เอ็นสนับสนุน แต่ไม่อยากให้กลายเป็นเงื่อนไขใหม่
ซึ่งในเรื่องนี้หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ยืนยันว่า ไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องเป็นการแสดงออกในเวทีที่เหมาะสม โดยเฉพาะการแสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย แต่หลังจากนี้ เวทีของการพูดคุยสันติสุข ที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ก็จะเป็นโอกาสหรือเปิดช่องให้ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Thai PBS / วันที่เผยแพร่ 7 ก.พ.67
Link : https://www.thaipbs.or.th/news/content/336787