ย้อนไปกว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เกิดเหตุรถยนต์ส่วนตัวที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ โดยสาร บีบแตรและโต้ตอบทางวาจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดกั้นถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับขบวนเสด็จฯ จนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม รวมถึงทำให้เกิดปฏิกิริยาจากผู้ไม่เห็นด้วย เช่น กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
นอกจากนี้ ยังร้อนไปถึงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ต้องออกมาประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า จะดำเนินคดีในกรณีนี้โดยไม่ละเว้น
เหตุการณ์ดังกล่าว ยังทำให้เกิดความเคลื่อนไหวจากฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ สส. จากพรรคที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยม อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ออกมาประกาศจะนำวาระการแก้ไข พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) ด้วย
บีบีซีไทยชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัยแก่สมาชิกราชวงศ์ฉบับนี้ ว่ามีรายละเอียดและความเป็นมาอย่างไร
พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย คืออะไร
พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 คือ กฎหมายฉบับปัจจุบันที่ใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และผู้แทนพระองค์ รวมถึงพระราชอาคันตุกะ
พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2560 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ
พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ในมาตราที่ 3 กำหนดให้ยกเลิก พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2557 แต่กำหนดในมาตราที่ 8 ว่า บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 “ยังคงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้” หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
มาตราที่ 4 กำหนดบทนิยามความหมาย ระบุถึงคำ 4 คำ ได้แก่ “การถวายความปลอดภัย” “ความปลอดภัย” “ส่วนราชการในพระองค์” และ “หน่วยงานของรัฐ”
มาตราที่ 5 กำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์มีหน้าที่วางแผนถวายความปลอดภัย ตลอดจนอำนวยการ ประสานงาน ควบคุม และปฏิบัติงานในการถวายความปลอดภัย โดยมีราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชา
มาตราที่ 6 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัยตามที่ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์กำหนด
มาตราที่ 7 กำหนดให้ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์มีอำนาจกำหนดระเบียบหรือออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย
การถวายความปลอดภัยและส่วนราชการในพระองค์
บันทึกท้ายพระราชบัญญัติระบุว่า เจตนารมณ์การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัย เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดหน้าที่ส่วนราชการในพระองค์และกำหนดหลักเกณฑ์ในการถวายความปลอดภัย ให้สามารถดำเนินการถวายพระเกียรติในการปฏิบัติภารกิจได้ตามพระราชประสงค์
ดังที่มีการเพิ่มเติมนิยาม “ส่วนราชการในพระองค์” ในมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 7 ที่กำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์มีหน้าที่วางแผนถวายความปลอดภัย และให้ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชาและมีอำนาจกำหนดระเบียบหรือประกาศที่จำเป็น
เดิมใน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 มาตราที่ 9 กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งที่เรียกว่า “คณะกรรมการการถวายความปลอดภัย” โดยมีหน้าที่ในการกำหนดแนวทาง มาตรการ และอำนวยการถวายความปลอดภัย
ประวัติความเป็นมาของ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย
ในปี พ.ศ. 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 36 เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งโดยเนื้อหาเป็นการยกสถานะ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2546″ ให้เป็น “พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2549″ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 2549
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2546 การถวายความปลอดภัยให้สมาชิกของราชวงศ์ ใช้ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2521 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ ในยุคที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการตรา พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2557 ขึ้นมาแทน พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2549 ด้วยเหตุผลว่า “พระราชบัญญัติดังกล่าวยังคงมีรูปแบบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี” จึงทำให้กฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นเอกภาพ
เกิดอะไรขึ้นในกรณีนี้
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 เวลาราว 18.30 น. บัญชีเฟซบุ๊ก Tawan Tantawan ของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้เผยแพร่วิดีโอที่แสดงให้เห็นช่วงเวลาที่รถยนต์ที่เธอโดยสาร จอดอยู่บริเวณทางลงทางด่วนใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและมีการบีบแตร โดยมีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดการจราจรเพื่อถวายความปลอดภัยต่อขบวนเสด็จฯ ที่ใช้ทางร่วมต่างระดับมักกะสัน
วิดีโอดังกล่าวบันทึกช่วงเวลาที่ น.ส.ทานตะวัน พร้อมกับบุคลที่สามที่นั่งมาในรถยนต์คันดังกล่าวมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถยนต์ที่ปิดถนนออก ฝั่งรถยนต์ของ น.ส.ทานตะวัน จึงขับไปอีกทาง และวิดีโอจบลงด้วยความยาวราว 2.55 นาที
ต่อมาในวันที่ 7 ก.พ. บัญชีเฟซบุ๊กของ น.ส.ทานตะวัน ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอเพิ่มเติม ซึ่งเป็นวิดีโอจากกล้องหน้ารถที่ น.ส.ทานตะวันโดยสาร โดยแสดงให้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการปิดถนน ก่อนที่รถยนต์ที่ น.ส.ทานตะวันนั่งจะเดินทางผ่านจุดดังกล่าวและขับรถยนต์ต่อด้วยความเร็วบนทางด่วน จนไปถึงจุดทางลงทางด่วนใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเกิดการปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดังที่ปรากฏในคลิปที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.
ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. น.ส.ทานตะวัน ได้จัดกิจกรรมทำโพลตั้งคำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ในเวลาราว 12.30 น. โดยในขณะที่เธอกำลังจัดกิจกรรมอยู่นั้น ได้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนขึ้น เมื่อสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้ปะทะกับกลุ่มนักกิจกรรมที่มาพร้อมกับ น.ส.ทานตะวัน จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพาตัว น.ส.ทานตะวัน ออกไปที่สถานีตำรวจปทุมวัน เพื่อควบคุมสถานการณ์
ทั้งนี้ น.ส.ทานตะวัน ได้กล่าวขอโทษที่ขับรถเร็วในเหตุการณ์ดังกล่าวจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ด้วย
ตำรวจเดินหน้าเก็บหลักฐาน ดำเนินคดี
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ทางตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐานและเตรียมแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการบีบแตรใส่รถยนต์เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดถนนสำหรับขบวนเสด็จฯ
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้เข้าพบกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และย้ำถึงการวางระบบการรักษาความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์ พระราชชินี และพระบรมวงศานุวงศ์
ในวันเดียวกันนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกประกาศ “ด่วนที่สุด” ในวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งให้มีการดำเนินคดีกับ น.ส.ทานตะวัน ในทุกข้อหาความผิด รวมทั้งให้พิจารณาพฤติการณ์ทั้งก่อน ขณะ และหลังทำความผิด ว่ามีการยุยงปลุกปั่นที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ด้วยหรือไม่
ล่าสุด วันนี้ (13 ก.พ.) พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า หลังจากก่อนหน้านี้มีทนายความของ น.ส.ทานตะวัน ติดต่อเพื่อขอเลื่อนการพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นวันที่ 20 ก.พ. เนื่องจากติดภารกิจเรื่องการเรียน แต่ทางพนักงานสอบสวนได้พิจารณาแล้วว่าไม่มีเหตุอันควร จึงเดินหน้ารวบรวมหลักฐานเพื่อออกหมายจับ
พล.ต.ต.อัฏธพร ชี้ว่า พนักงานสอบสวนเสนอให้ศาลพิจารณา 3 ข้อหา คือ ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่ง กระทำตามหน้าที่, ก่อความเดือดร้อนรำคาญ และข้อหาความผิดตามมาตรา 116
ล่าสุดในเวลาประมาณ 17.00 น. วันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนนครบาล 9 ได้อ่านหมายจับที่บริเวณหน้าศาลอาญารัชดา โดยแจ้งความผิด น.ส.ทานตะวัน ใน 2 ข้อหา คือความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไปที่ สน.ดินแดง ส่วนนายณัฐชนน ไพโรจน์ ถูกออกหมายจับเช่นกันใน 4 ข้อหา ได้แก่ ความผิดตาม ม.116, ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร และความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
สส. บางส่วนเตรียมผลักดัน แก้ไข พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย
หลังเกิดเหตุดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของขบวนเสด็จฯ ได้เริ่มมีนักวิชาการ อาทิ นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่พูดถึงการปฏิรูป พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 โดยชี้ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติที่พูดถึงการลงโทษผู้ที่คุกคามขบวนเสด็จ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าพรรค รทสช. โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นผู้เสนอญัตติ เรื่องการทบทวนมาตรการการถวายความปลอดภัย รวมถึงแนวทางป้องกันและปราบปรามการข่มขู่ ท้าท้าย ให้ร้าย สถาบันฯ
นายอัครเดช กล่าวว่า ในการประชุมวิปรัฐบาลจะได้หารือกับพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตามเบื้องต้นวิปรัฐบาลมีมติว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 14 ก.พ. นี้
ในวันเดียวกันนี้ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้ให้สัมภาษณ์โดยระบุว่า การกระทำของ น.ส.ทานตะวัน เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และเห็นด้วยว่าต้องมีการทบทวนเพิ่มเติมบทลงโทษใน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัยฯ ดังกล่าว
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : BBC News Thai / วันที่เผยแพร่ 13 ก.พ.67
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cx7ly0gj4l7o