ชวนสำรวจการพัฒนาโครงการอวกาศ ของ 5 ชาติยักษ์ใหญ่ สหรัฐฯ สหภาพโซเวียตหรือรัสเซียในปัจจุบัน จีน อินเดีย และ ญี่ปุ่น ณ เวลานี้ เดินทางไปถึงจุดไหนกันแล้ว
หลังจากญี่ปุ่นสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติที่ 5 ของโลกใบนี้ที่ ส่งยานอวกาศไปลงจอดดวงจันทร์ ได้สำเร็จ ตามหลังสหรัฐฯ สหภาพโซเวียตหรือรัสเซียในปัจจุบัน จีน และอินเดีย เราก็ต้องมาคอยลุ้นกันว่า ยานสำรวจดวงจันทร์ของญี่ปุ่นจะกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้งหรือไม่ หลังชัทดาวน์ตนเองไป และแผงโซลาร์เซลล์ไม่ทำงาน
ตลอด 2023 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเดินหน้าโครงการด้านอวกาศอย่างเต็มกำลัง แต่อีกสี่ชาติที่เหลืออย่างสหรัฐฯ รัสเซีย จีนและอินเดียก็ไม่ได้หยุดยั้งการพัฒนาโครงการด้านอวกาศ เพราะนี่คือการแสดงออกถึงความเป็นมหาอำนาจของโลกใบนี้ อย่างไรก็ตาม ทั้งห้าประเทศก็มีทั้งภารกิจที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวเช่นกัน
JAXA องค์การอวกาศแห่งญี่ปุ่น – น้องใหม่ด้านอวกาศ แต่ผลงานดีเยี่ยม REUTERS
นาซา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ – ตั้งเป้าภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และดาวอังคาร
หากพูดถึงงานด้านอวกาศ นาซา NASA เป็นชื่อที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักและคุ้นเคยดีที่สุด เพราะที่นี่คือองค์การด้านอวกาศที่มีอิทธิพลมากที่สุดของโลกใบนี้ก็ว่าได้ นาซาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1958 โดยรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากในเวลานั้น สหภาพโซเวียตเริ่มเดินเครื่องงานด้านอวกาศ และนาซาก็ทำสำเร็จด้วยการส่งยานพร้อมนักบินอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก
นับจากนั้นนาซาก็ไม่หยุดยั้งในการสำรวจอวกาศ ส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ ส่งยานหุ่นยนต์ไปยังดาวต่างๆ พัฒนากระสวยอวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส สนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ และการส่งเสริมภาคเอกชน
ในปี 2023 นาซาประสบความสำเร็จกับภารกิจอาร์เทมิส 1 ซึ่งเป็นการทดสอบการส่งจรวดและยานอวกาศ ปูทางสำหรับภารกิจส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร นอกจากนี้ นาซายังเปิดตัวกล้องโทรทรรศน์เจมส์เว็บบ์สเปซ ซึ่งเป็นกล้องอันทรงพลังในการสำรวจอวกาศ
ความน่าสนใจของสหรัฐฯคือ ในเวลานี้สหรัฐฯจะมุ่งเน้นภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และดาวอังคาร ขณะที่รัฐบาลก็เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานด้านอวกาศ โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง Space X และ Blue Origin ที่ตั้งเป้าเปิดทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์
นาซา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ – ตั้งเป้าภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์และดาวอังคาร REUTERS
รอสคอสมอส สำนักงานด้านอวกาศรัสเซีย – ความพยายามหวนกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งของรัสเซีย
รอสคอสมอส คือหน่วยงานด้านอวกาศของรัสเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่รอสคอสมอสก็สืบทอดมรดกต่างๆของโซเวียตในยุครุ่งเรือง ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นชาติแรกของโลกในการปล่อยดาวเทียม “สปุตนิค 1” ขึ้นสู่วงโคจรในปี 1957 และส่งมนุษย์คนแรก ยูริ กาการิน ขึ้นสู่อวกาศได้ในปี 1961 หลังจากนั้น รอสคอสมอสมีภารกิจมากมายทั้ง ภารกิจดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวศุกร์
ในปี 2021 รัสเซียส่งโมดูล “นอกา” ซึ่งเป็นโมดูลอเนกประสงค์ เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติไอเอสเอส ถัดมาในปี 2022 รอสคอสมอสเริ่มภารกิจลูนา 25 เพื่อจะกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง แต่ในช่วงปลายปี 2023 ยานลูนาของรัสเซียตกกระแทกดวงจันทร์ไม่สามารถลงจอดได้ ทำให้ภารกิจที่รัสเซียต้องการส่งยานไปลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ล้มเหลว และเป็นอินเดียที่ประสบความสำเร็จ เป็นชาติแรกของโลกที่ส่งยานไปลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้ก่อน
เป็นที่สังเกตว่าโครงการด้านอวกาศของรัสเซียไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนเช่นเมื่อก่อน อาจจะเป็นเพราะในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา รัสเซียทุ่มสรรพกำลังจำนวนมากลงไปที่การทำสงครามในยูเครน
CNSA สำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน – เตรียมส่งมนุษย์และสร้างฐานประจำการบนดวงจันทร์
CNSA คือหน่วยงานของรัฐบาลจีน รับผิดชอบงานด้านอวกาศ ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 แต่จริงๆแล้ว หน่วยงานแห่งนี้เริ่มมีตัวตนตั้งแต่ช่วงยุคคริสตทศวรรษที่ 1950 ที่จีนเริ่มพัฒนาขีปนาวุธและจรวด แม้จะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ยาวนานเท่าหน่วยงานอื่น แต่จีนก็ประสบความสำเร็จทั้งการส่งนักบินอวกาศคนแรกของจีนไปสู่อวกาศในปี 2003 ส่งยานสำรวจวงโคจรรอบดวงจันทร์และลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ในปี 2021 CNSA ประสบความสำเร็จในการส่งยาน “จูร่ง” ลงบนดาวอังคาร และกลายมาเป็นชาติที่สองของโลก รองจากสหรัฐฯที่ทำสำเร็จ ถัดมาในปี 2022 จีนก็สร้างสถานีอวอากาศ “เทียนกง” ได้สำเร็จ โดยมีโมดูลสองตัวสุดท้ายอย่าง “เหวินเทียน” และ “เมิ้งเทียน” ขณะที่ในปี 2023 ที่ผ่านมา จีนก็เปิดตัวภารกิจฉางเอ๋อ 6 เพื่อไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง
รัฐบาลปักกิ่งยังตั้งเป้าว่า จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ภายในปี 2030 และมีแผนจะสร้างฐานประจำการบนพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วย ซึ่งถึงแม้ว่า จีนจะเป็นประเทศที่เพิ่งก่อตั้งหน่วยงานด้านอวกาศได้ไม่นาน แต่ในระยะหลังนี้มีการเร่งเครื่องอย่างหนัก และพยายามสร้างบุคลากรด้วยการส่งเสริมเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ISRO องค์การอวกาศอินเดีย – ตั้งเป้าส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ในอนาคต เน้นช้าแต่เน้นชัวร์
ISRO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1969 โดยรัฐบาลอินเดีย มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติและพัฒนาชาติให้เจริญ โดยมีภารกิจสำรวจอวกาศ อย่างการปล่อยดาวเทียมอินเดียดวงแรกที่มีชื่อว่า “อารยะภาตา” ในปี 1975 ส่งนักบินอวกาศอินเดียคนแรกขึ้นสู่อวกาศในปี 1984 และส่งยานจันทรายาน 1 ไปดวงจันทร์ ส่งยานมังคลยานไปดาวอังคาร
ในปี 2021 ISRO ประสบความสำเร็จในการทำภารกิจ “คคันยาน” ยานที่พาลูกเรือขึ้นสู่วงโคจรของโลกเป็นเวลา 7 วัน ถัดมาในปี 2022 อินเดียปล่อยยาน “อทิตยา แอล 1” ไปทำภารกิจศึกษาดวงอาทิตย์ ขณะที่ปี 2023 อินเดียประสบความสำเร็จในการส่งยานจันทรายาน 3 ไปลงจอดบนดวงจันทร์ โดยเป็นชาติแรกของโลกที่สามารถส่งยานไปส่งจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ในปี 2023 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียยังประกาศเป้าหมายที่จะสร้างสถานีอวกาศของตนเองภายในปี 2035 และจะส่งชาวอินเดียคนแรกไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2040
ISRO องค์การอวกาศอินเดีย – ตั้งเป้าส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ในอนาคต เน้นช้าแต่เน้นชัวร์ CREDIT ภาพ REUTERS
JAXA องค์การอวกาศแห่งญี่ปุ่น – น้องใหม่ด้านอวกาศ แต่ผลงานดีเยี่ยม
JAXA ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 โดยเป็นการรวม 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอวกาศเข้าไว้ด้วยกัน โดยภารกิจคือการพัฒนาสังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงสันติสุขและความมั่งคั่งของมวลมนุษยชาติ ผ่านการสำรวจและการใช้ประโยชน์อวกาศ
ญี่ปุ่นมีภารกิจที่น่าจดจำมากมาย ทั้งจรวด และภารกิจฮายาบุสะ และฮายาบุสะ 2 นอกจากนี้ ยังมีภารกิจอะคัตสุกิที่ไปสำรวจวงโคจรของดาวศุกร์ และยังมีโมดูลคิโบะที่เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติไอเอสเอสด้วย
ในปี 2022 ญี่ปุ่นเปิดตัวภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของดาวอังคาร ซึ่งส่งยานเข้าไปวงโคจร และลงจอดบนโฟบอส หนึ่งในสองดวงจันทร์ของดาวอังคาร และจะนำตัวอย่างกลับมายังพื้นโลกในปี 2029 และความสำเร็จล่าสุดคือการปล่อยยาน SLIM หรือสลิม ลงจอดบนดวงจันทร์ด้วยเทคโนโลยีตัวใหม่ สร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติที่ 5 ของโลกที่สามารถส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นชาติน้องใหม่ที่หันมาให้ความสนใจกับงานด้านอวกาศ และผลงานหลายๆอย่างก็เป็นการเดินตามรอยชาติอื่นๆที่ประสบความสำเร็จไปก่อนแล้ว แต่ญี่ปุ่นพยายามจะพัฒนาเทคโนโลยีตัวใหม่ เช่น เทคโนโลยีการลงจอดของยาน SLIM แบบใหม่ที่มีความแม่นยำมากขึ้น มีน้ำหนักเบาและราคาถูก ซึ่งจะช่วยให้การนำยานลงจอดบนพื้นที่ยากๆเป็นไปได้ในอนาคต
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : สปริงนิวส์ / วันที่เผยแพร่ 25 ม.ค.67
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/847227